สิงคโปร์หาวิธีต้านการแพร่กระจาย'กัญชาไทย'

สิงคโปร์หาวิธีต้านการแพร่กระจาย'กัญชาไทย'

การเปิดเสรีกัญชาของไทยที่แม้จะบอกว่าเป็นการปลดล็อกเพื่อการแพทย์ แต่ก็สร้างความไม่สบายให้เพื่อนบ้านในภูมิภาคไม่น้อย ล่าสุดรัฐมนตรีสิงคโปร์ถึงกับบอกว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายจุดยืนต่อต้านยาเสพติดของสิงคโปร์

นายเค.ชานมูกัม รัฐมนตรีมหาดไทยและกฎหมายของสิงคโปร์ ให้ความเห็นผ่านช่องข่าวของมาเลเซีย "Astro Awani" เมื่อวันพฤหัสบดี (1 กันยายน) ว่า การเข้าถึงกัญชาได้ง่ายขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน จะเป็นความท้าทายความพยายามของสิงคโปร์ในการทำให้ประเทศปลอดยาเสพติด

โดยไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ให้กัญชาถูกกฎหมายทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน แต่ในเวลาแค่สัปดาห์เดียวกัญชาก็กระจายไปอยู่ทุกที่ ในเครื่องดื่ม อาหาร ยาสีฟัน และคุกกี้ 

นายชานมูกัม บอกว่า การเข้าถึงกัญชาได้อย่างเสรีและง่ายขึ้นในประเทศไทย ทำให้ชาวสิงคโปร์จำนวนมากพากันไปหลั่งไหลไปที่นั่น และก็มีนักท่องเที่ยวจากที่นั่นอีกเป็นจำนวนมากเช่นกันที่ไปสิงคโปร์ ทำให้เป็นเรื่องที่ท้าทายมากขึ้น เขายังตั้งข้อสังเกตด้วยว่าทางการไทยพยายามควบคุมผลกระทบกัญชาถูกกฎหมาย แต่ก็ยากที่จะควบคุมดูแลในการใช้

เมื่อถูกพิธีกรในรายการถามว่าถ้ามาเลเซียจะเอาอย่างไทย ด้วยการทำให้กัญชาถูกกฎหมายบ้าง จะส่งผลกระทบต่อสิงคโปร์อย่างไร นายชานมูกัมบอกว่า ถ้ามาเลเซียให้กัญชาหรือยาเสพติดชนิดอื่นถูกกฎหมาย ก็จะเกิดการไปมาหาสู่กันระหว่างมาเลเซียกับสิงคโปร์มากกว่า เมื่อเที่ยบระหว่างไทยกับสิงคโปร์ ซึ่งจะยิ่งท้าทายในการบังคับใช้กฎหมาย และความพยายามทำให้สิงคโปร์ปลอดยาเสพติด 

รัฐมนตรีมหาดไทยสิงคโปร์อ้างผลวิจัยด้วยว่ากัญชาทำให้เสพติดได้ อาจทำให้สมองหดตัวและเสียหายถาวร ทำให้เกิดการเจ็บป่วยด้านจิตใจและจิตเวชร้ายแรง ตามรายงานของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นโอดีซี) ชี้ว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้กำลังเวียนว่ายอยู่ในวังวนของยาบ้า (methamphetamine) โดยมีการยึดได้ 1 พันล้านเม็ด เมื่อปีที่แล้ว และองค์กรอาชญากรรมก็ทำราวกับภูมิภาคนี้เป็นสนามเด็กเล่น ด้วยการส่งเข้ามาล็อตใหญ่ในราคาที่ถูกและหาซื้อได้ง่ายกว่าเดิม แต่สิงคโปร์ก็มีกฎหมายที่เข้มงวดที่จะทำให้ประเทศรอดพ้นจากยานรกเหล่านี้ได้ 

ส่วนประเด็นที่สิงคโปร์ถูกนานาชาติวิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่ยังใช้โทษประหารนั้น นายชานมูกัมได้แย้งว่า กฎหมายยาเสพติดที่เข้มงวดได้ช่วยชีวิตผู้คนหลายแสนคน เขายังอ้างรายงานของ ไฟแนนเชียล ไทม์ส เมื่อวันที่ 25 ส.ค.ด้วยว่า มีอยู่ 18 ประเทศในละตินอเมริกา ที่กลายเป็นแหล่งหรือจุดผ่านโคเคน ทั้งยังเผชิญปัญหาร้ายแรงที่ยังแก้ไม่ตก ทั้งอาชญากรรมและการลักพาตัว และรายงานขององค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) เมื่อเดือนส.ค.ปีที่แล้ว ระบุว่าแต่ละปีมีคนเสียชีวิตเพราะยาเสพติด 500,000 คน 

ข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ  (ซีดีซี) ระบุว่า เมื่อปีที่แล้วมีผู้เสียชีวิต 100,000 คน จากการเสพยาเกินขนาด ส่วนเมื่อปี 2560 มีรายงานว่า ในแต่ละวันมีทารก 80 คน เกิดมาพร้อมกับภาวะ "ติดยาตั้งแต่กำเนิด" (Neonatal Abstinence Syndrome) หรือ NAS 

นายชานมูกัมบอกด้วยว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว ในการออกกฎหมายที่เข้มงวดขึ้นเพื่อควบคุมการใช้กัญชา เขายังย้อนกลับไปถึงโทษประหารชีวิตของสิงคโปร์ด้วยว่า แม้จะถูกนานาชาติต่อว่าต่อขานแต่ชื่อเสียงของสิงคโปร์ก็ไม่ได้รับผลกะทบในแง่ของผู้คนที่ต้องการเข้าไปลงทุน หรือย้ายไปพำนักที่สิงคโปร์ และเป็นหน้าที่ของเขาที่จะเกลี้ยกล่อมชาวสิงคโปร์ว่า โทษประหารชีวิตเป็นเครื่องมือยับยั้งที่ร้ายแรงและช่วยให้สิงคโปร์ปลอดภัย