‘ชิปประชาธิปไตย’ความร่วมสหรัฐ-ไต้หวันเหนือมิติการเมือง

‘ชิปประชาธิปไตย’ความร่วมสหรัฐ-ไต้หวันเหนือมิติการเมือง

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและไต้หวันที่ย่ำแย่ลงเรื่อยๆ ต่างฝ่ายต่างไม่มีใครยอมใคร ทำให้ช่องแคบไต้หวันร้อนระอุเป็นระยะ ล่าสุด ผู้นำไต้หวันประกาศเจตนารมณ์ร่วมมือกับสหรัฐผลิตเซมิคอนดักเตอร์เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เท่ากับประกาศเจตนารมณ์ไม่พึ่งพาชิปจากจีนอีกแล้ว

ไช่ อิงเหวิน’ ประธานาธิบดีไต้หวันกล่าวกับ‘ดั๊ก ดูซี’ ผู้ว่าการรัฐแอริโซนาระหว่างเดินทางเยือนกรุงไทเปในวันพฤหัสบดี (1 ก.ย.) ว่า ไต้หวันตั้งตารอที่จะได้ผลิตชิปประชาธิปไตยร่วมกับสหรัฐ

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ปัจจุบัน บริษัทไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟกเจอริง โค จำกัด (TSMC) ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ของแอ๊ปเปิ้ล อิงค์ และผู้ผลิตชิปสัญญาจ้างรายใหญ่ที่สุดของโลก อยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงานมูลค่า 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ในรัฐแอริโซนา

ท่ามกลางการแผ่อิทธิพลของเผด็จการ และความท้าทายหลังยุคโรคระบาด ไต้หวันประสงค์ที่จะส่งเสริมความร่วมมือกับสหรัฐในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และเทคโนโลยีชนิดอื่น ๆ การผนึกกำลังกันครั้งนี้จะช่วยสร้างห่วงโซ่อุปทานที่มีความมั่นคงและยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น โดยเราตั้งตารอที่จะร่วมมือกันผลิตชิปแบบเป็นประชาธิปไตย เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของหุ้นส่วนประชาธิปไตยของเรา และสร้างความเจริญรุ่งโรจน์ยิ่ง ๆ ขึ้นไป” ปธน.ไช่ กล่าวในการประชุมที่ทำเนียบประธานาธิบดี

ดูซี นักการเมืองสังกัดพรรคริพับลิกัน เป็นเจ้าหน้าที่คนล่าสุดจากสหรัฐที่เดินทางเยือนไต้หวัน โดยเจ้าหน้าที่สหรัฐเดินทางเยือนไต้หวันอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่แนนซี เพโลซี ประธานผู้แทนราษฎรสหรัฐเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนแรกของสหรัฐในรอบ 25 ปีที่ประเดิมเดินทางเยือนไต้หวันเมื่อช่วงต้นเดือนส.ค.ที่ผ่านมา

ที่ผ่านมา “มาร์ค หลิว”ประธานใหญ่บริษัททีเอสเอ็มซี ผู้ผลิตชิปเซตชั้นนำของโลก ให้สัมภาษณ์สื่อใหญ่อย่างซีเอ็นเอ็น พร้อมทั้งเตือนว่า ความขัดแย้งระหว่างไต้หวันและจีนที่พัฒนาไปสู่การบุกรุกไต้หวันจะเกิดปัญหาใหญ่ในอุตสาหกรรมชิปเซต และสงครามไม่มีใครเป็นผู้ชนะ แต่เป็นความพ่ายแพ้ของทุกฝ่าย ตามด้วยความวุ่นวายทางเศรษฐกิจโลก

ทีเอสเอ็มซี เป็นผู้ผลิตชิปเซต ซึ่งก่อตั้งในไต้หวัน ถือเป็นบริษัทผู้ผลิตชิปเซตที่มีเทคโนโลยีการผลิตล้ำหน้าที่สุดของโลก รับหน้าที่ผลิตชิปเซตให้กับบริษัทใหญ่ของโลก ทั้งแอ๊ปเปิ้ล และ ควอลคอมม์ รวมถึงบริษัทขนาดรองลงไปอีกมากมาย จนกล่าวได้ว่า เป็นผู้ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมชิปเซตของโลกได้เลย

ประธานทีเอสเอ็มซี กล่าวด้วยว่า การใช้กำลังทางการทหารจะส่งผลให้โรงงานทีเอสเอ็มซี ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ เป็นเพราะว่า การผลิตชิปเซตถือเป็นการผลิตที่มีความสลับซับซ้อน ต้องอาศัยการเชื่อมต่อแบบเรียลไทม์กับประเทศอื่นพร้อมกันทั่วโลก ทั้งฝั่งยุโรปญี่ปุ่น และสหรัฐในด้านวัสดุ, สารเคมี, อะไหล่, วิศวกรรมซอฟต์แวร์ และการวิเคราะห์ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น

ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันและสหรัฐนั้น ที่ผ่านมา  ไต้หวันแสดงออกชัดเจนว่าสหรัฐคือผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการแถมยังเป็นผู้จัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ไต้หวันด้วยแม้ทั้งสหรัฐและไต้หวันไม่ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันอย่างเป็นทางการ แต่ความสัมพันธ์ทวิภาคีนี้ก็สะท้อนถึงมิตรภาพที่เชื่อถือและไว้วางใจได้ในช่วงที่ปัญหาการขาดแคลนชิปกำลังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่างๆทั้งยานยนต์และอุปกรณ์ไฟฟ้าเพื่อผู้บริโภค 

อย่างไรก็ตาม กระทรวงกลาโหมไต้หวัน แถลงว่า ไต้หวันกำลังเผชิญกับความท้าทายทางทหารที่รุนแรง เนื่องจากกองทัพจีนทำการซ้อรบใกล้เกาะไต้หวันมากขึ้น และจีนมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนสถานะที่เป็นอยู่ของไต้หวัน

กระทรวงกลาโหมไต้หวันระบุในรายงานประจำปีที่ยื่นต่อฝ่ายนิติบัญญัติว่า ไต้หวันคาดว่า กองทัพปลดแอกประชาชนจีนจะยังคงส่งเรือรบและเครื่องบินเจ็ตข้ามเส้นแบ่งเขตแดน ซึ่งเป็นเส้นที่แบ่งแยกระหว่างสองฝ่ายอย่างไม่เป็นทางการ

เอกสารดังกล่าวระบุว่า จีนดำเนินการซ้อมรบทางทหารหลังประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ เดินทางเยือนไต้หวันเมื่อช่วงต้นเดือนส.ค. ที่ผ่านมา โดยจีนใช้การเยือนดังกล่าวเป็นข้ออ้างในการสร้างความชอบธรรมต่อการฝึกซ้อม ที่ไม่เพียงแต่จำลองการปิดล้อมรอบเกาะเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการใช้เครื่องมือทางการทูตและเศรษฐกิจตอบโต้ไต้หวัน

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า เครื่องบินรบของจีนละเมิดเส้นแบ่งเขตแดนเกือบทุกวัน นับตั้งแต่การเดินทางของเพโลซี ซึ่งสั่นคลอนเขตกันชนที่รักษาความสงบไว้เป็นเวลาหลายสิบปี ที่ผ่านมา การฝ่าฝืนเส้นแบ่งเขตแดนเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยาก 

นอกจากนี้ ไต้หวันยังรายงานด้วยว่าพบเรือรบจีนเฉลี่ย 7 ลำใน “พื้นที่โดยรอบ” ทุกวัน นับตั้งแต่เพโลซีออกเดินทางจากไต้หวัน