6เดือนสงครามยูเครนทุบศก.โลกบอบช้ำหนัก

6เดือนสงครามยูเครนทุบศก.โลกบอบช้ำหนัก

6เดือนสงครามยูเครนทุบศก.โลกบอบช้ำหนัก ขณะเกิดปรากฎการณ์“shrinkflation” หรือภาพสะท้อนภาวะเงินเฟ้ออีกรูปแบบหนึ่ง หรือเงินเฟ้อซ่อนรูป ที่ผู้ผลิตขายสินค้าในราคาเท่าเดิมแต่ลดปริมาณหรือขนาดของสินค้าลง

การสู้รบในยูเครนที่ยืดเยื้อมานาน 6 เดือนกำลังสร้างผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นภาวะเงินเฟ้อ ที่เห็นได้จากการที่ราคาสินค้าและพลังงานเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้หลายฝ่ายเกิดความวิตกกังวลว่ามีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยในเร็ววันนี้

การเปิดฉากโจมตียูเครนของกองทัพรัสเซียเมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา และการตอบโต้ของบรรดาชาติตะวันตกผ่านการบังคับใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงต่อรัสเซีย ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหาร ที่เกิดจากการปิดกั้นช่องทางการขนส่งปุ๋ยและข้าวสาลีออกจากยูเครนและรัสเซีย ทำให้ราคาอาหารพุ่งสูงขึ้นทั่วโลก 

แต่ถึงแม้ว่าจะมีการส่งออกปุ๋ยและข้าวสาลีอีกครั้งแล้วในตอนนี้ ก็ยังมีความกังวลว่า การที่ราคาอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้นจะนำไปสู่วิกฤติความหิวโหยและการก่อความวุ่นวายในประเทศกำลังพัฒนา ตลอดจนภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก
 

 อย่างกรณีของ"เรเชล กามิชา"เจ้าของร้านขายของชำจากยูกันดา ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอพีว่า ถึงแม้ยูเครนจะห่างไกลจากยูกันดามาก แต่เธอก็รับรู้ได้ถึงผลกระทบของสงครามที่มีต่อราคาสินค้าจำเป็นที่ขยับขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ ราคาน้ำมัน

กามิชา กล่าวว่า เธอยังได้เห็นปรากฎการณ์ที่เรียกว่า “shrinkflation” หรือภาพสะท้อนภาวะเงินเฟ้ออีกรูปแบบหนึ่ง หรือเงินเฟ้อซ่อนรูป ที่ผู้ผลิตขายสินค้าในราคาเท่าเดิมแต่ลดปริมาณหรือขนาดของสินค้าลง

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจโลกลงอีกครั้ง ถือเป็นการปรับลดครั้งที่สี่ในระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งปี โดยไอเอ็มเอฟ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวแค่ 3.2% ในปีนี้ ลดลงจากการคาดการณ์ 4.9% เมื่อเดือนก.ค.ปีที่ผ่านมา และลดลงจากอัตราการเติบโต 6.1% ในปีที่ผ่านมา

“ปิแอร์-โอลิวิเยร์ กูรินชาส์”  หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟ กล่าวว่า ทั่วโลกอาจจะกำลังเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในเร็ววันนี้่  ซึ่งจะเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เกิดขึ้นซ้ำอีกครั้ง ภายในระยะเวลาเพียง 2 ปี หลังการเกิดการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19

ด้านโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ(ยูเอ็นดีพี) บอกว่า ราคาอาหารและพลังงานที่เพิ่มขึ้นทำให้ผู้คน 71 ล้านคนทั่วโลกตกอยู่ในภาวะยากจนในช่วงเวลาสามเดือนแรกหลังจากรัสเซียบุกยูเครน โดยมีกลุ่มประเทศคาบสมุทรบอลข่านและประเทศในทวีปแอฟริกาที่อยู่ทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา เป็นผู้ที่ไดัรับผลกระทบมากที่สุด 

นอกจากนี้ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ยังคาดการณ์ว่าจะมีผู้คนมากถึง 181 ล้านคนใน 41 ประเทศที่ต้องเผชิญกับวิกฤติความหิวโหยในปีนี้

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกถูกกดดันตั้งแต่ก่อนที่รัสเซียจะเปิดฉากบุกโจมตียูเครนแล้ว  โดยเกิดภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูง หลังจากที่หลายประเทศฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยอันเกิดจากการระบาดของโควิด-19 เร็วกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ ทำให้โรงงาน ท่าเรือและท่าอากาศยานที่ทำหน้าที่ขนส่งสินค้าไม่สามารถรับมือกับความต้องการสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ความล่าช้าและการขาดแคลนสินค้าที่เกิดขึ้นทำให้ราคาสินค้าปรับตัวขึ้น ทำให้ธนาคารกลางในหลายประเทศพากันขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดความร้อนแรงของการเติบโตทางเศรษฐกิจ และรับมือราคาสินค้าที่แพงขึ้น

อย่างไรก็ตาม สงครามในยูเครน และการใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียของบรรดาชาติตะวันตกที่ตามมา ยิ่งส่งผลเสียต่อการซื้อขายอาหารและพลังงานของโลกมากขึ้น เพราะรัสเซีย เป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันปิโตรเลียมที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก และยังเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติ ปุ๋ย รวมทั้งข้าวสาลีในอันดับต้น ๆ ของโลกเช่นกัน ขณะที่ผลผลิตทางการเกษตรจากยูเครน ก็เป็นอาหารของผู้บริโภคหลายล้านคนทั่วโลก

ภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นทำให้ผู้บริโภคทั่วโลกต้องหันมาปรับตัวในการจับจ่ายซื้อของและดำเนินชีวิต บางคนบอกว่า ต้องเปรียบเทียบราคาสินค้าก่อนซื้อ เลี่ยงรับประทานอาหารนอกบ้าน หรือหางานพิเศษทำนอกเหนือจากงานประจำ เพื่อเพิ่มรายได้ให้สอดรับกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นมาก

ส่วนในแวดวงธุรกิจนำเข้าและส่งออกข้าวสาลี ที่ไม่สามารถนำเข้าข้าวสาลี ถั่วลูกไก่ และถั่วเหลืองจากยูเครนได้เพราะภาวะของสงคราม ก็จำเป็นต้องไปนำเข้าจากประเทศอื่น ๆ ที่มีราคาแพงกว่า 10-15%

ธนาคารกลาง ในหลายประเทศทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อชะลอการขึ้นราคาสินค้า แต่อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ก็ส่งผลกระทบต่อการกู้ยืมของครัวเรือน และกระทบต่อธุรกิจต่าง ๆด้วยเหมือนกัน

"อดัม โพเซน" ประธานสถาบันปีเตอร์สันเพื่อเศรษฐกิจระหว่างประเทศ( Peterson Institute for International Economics) และอดีตผู้กำหนดนโยบายของธนาคารกลางอังกฤษ  ให้ความเห็นว่า ยุโรปเผชิญความเสี่ยงและแรงกดดันที่จะทำให้เกิดเศรษฐกิจถดถอยมากกว่าประเทศรายได้สูงประเทศอื่น ๆ

เป็นเพราะทวีปยุโรปพึ่งพาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียมานานมาก โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม ทำให้ยุโรปได้รับผลกระทบหนัก หลังจากรัสเซียลดการปล่อยก๊าซธรรมชาติ ที่ใช้ในการสร้างความอบอุ่นในครัวเรือน การผลิตกระแสไฟฟ้า และในโรงงานต่าง ๆ  ทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติในยุโรปปรับตัวเพิ่มขึ้น 15 เท่าเมื่อเทียบกับก่อนที่รัสเซียบุกยูเครน

แต่ความเสียหายทางเศรษฐกิจก็เกิดขึ้นกับรัสเซียด้วยเหมือนกัน โดยไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจรัสเซียจะหดตัว 6% ในปีนี้