จีนเซ็นเซอร์เว็บการแพทย์ตั้งคำถาม'ยาเหลียนฮัวชิงเวิน'รักษาโควิด

จีนเซ็นเซอร์เว็บการแพทย์ตั้งคำถาม'ยาเหลียนฮัวชิงเวิน'รักษาโควิด

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน เว็บไซต์ข้อมูลการแพทย์ชื่อดังของจีนถูกทางการเซ็นเซอร์ ฐาน “ละเมิดกฎหมายและข้อบังคับที่เกีี่ยวข้อง” หลังจากวิจารณ์ยาสมุนไพรรักษาโควิด-19 ที่รัฐบาลสนับสนุนมานานหลายเดือน ส่งผลหุ้นบริษัทยารายใหญ่ร่วง

ดีเอ็กซ์วาย ที่มีเทนเซ็นต์ บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่เป็นหนึ่งในนักลงทุน และให้บริการข่าวสารด้านสุขภาพ ตั้งคำถามมาโดยตลอดถึงสรรพคุณเหลียนฮัวชิงเวิน ยาสมุนไพรที่ขายในตลาดเพื่อลดไข้และแก้เจ็บคอสำหรับการรักษาโควิด-19

จีน อนุมัติยาตัวนี้ ซึ่งประกอบด้วยส่วนผสม เช่น สายน้ำผึ้งและเมล็ดแอปริคอท เป็นยารักษาโควิดในปี 2563 และแจกจ่ายให้ประชาชนในเซี่ยงไฮ้ระหว่างการระบาดในปีนี้

บทความที่ดีเอ็กซ์วายนำเสนอมาโดยตลอดเป็นเหตุให้หุ้นบริษัทผู้ผลิตยาเหลียนฮัวชิงเวิน ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทผลิตยาจีนแผนโบราณรายใหญ่สุดของจีนร่วงหนัก ขณะนี้บทความดังกล่าวถูกลบไปจากเว็บไซต์ดีเอ็กซ์วายแล้ว

นอกจากนี้เว็บไซต์ยังโดนแบนโพสต์ในเวยป๋ออย่างน้อย 5 บัญชี และมีข้อความติดประกาศไว้บนสุดของเพจทางการว่า “ละเมิดกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง บัญชีผู้ใช้จึงถูกระงับการโพสต์” ซึ่งเวยป๋อไม่ระบุข้อละเมิดและยังไม่ตอบความเห็นใด ๆ กับสำนักข่าวเอเอฟพี

ส่วนบัญชีดีเอ็กซ์วายในวีแชทที่ปกติจะเผยบทความทางการแพทย์หลายบทความต่อวัน ไม่มีการอัพเดทข้อมูลใด ๆ ตั้งแต่วันจันทร์ (8 ส.ค.) แล้ว

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมารัฐบาลจีนสนับสนุนยาแผนโบราณมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ บ่อยครั้งทำด้วยท่าทีชาตินิยม การรายงานข่าวของดีเอ็กซ์วายกระตุ้นให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า เว็บไซต์พุ่งเป้าวิจารณ์ยาแผนโบราณจีนเพื่อส่งเสริมยาตะวันตก

การตัดสินใจระงับบัญชีโซเชียลมีเดียของดีเอ็กซ์วายได้รับคำชมเชยจากผู้ใช้เว่ยป๋อบางคน ที่กล่าวหาว่า บริษัทกำลังทำงานกับ “กองกำลังต่อต้านจีน” ปั่นข้อมูลเท็จ แต่อีกหลายคนเสียดายที่ขาดข้อมูลการใช้ยาอันทรงคุณค่า และว่าพวกเขาไม่เห็นด้วยกับการเซ็นเซอร์

ทั้งนี้ สหรัฐและประเทศอื่นๆ เตือนว่าไม่มีหลักฐานยาเหลียนฮัวชิงเวินป้องกันหรือรักษาโควิด-19 ได้ กระนั้นก็ยังได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลทั้งในจีนและฮ่องกงมากขึ้นทุกขณะ

สำนักงานอาหารและยาสหรัฐ (เอฟดีเอ) ไม่อนุมัติยาเหลียนฮัวชิงเวิน และว่า ข้ออ้างเกี่ยวกับโควิด “ไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้เพียงพอ”