ถอดบทเรียนควบ "เทเลคอม" ต่างแดน ใต้ "เงื่อนไข" ผู้บริโภคได้ประโยชน์

ถอดบทเรียนควบ "เทเลคอม" ต่างแดน ใต้ "เงื่อนไข" ผู้บริโภคได้ประโยชน์

การควบรวมกิจการเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ทั่วไป กรณีกิจการภายในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีการควบรวมที่สำคัญคือ ระหว่าง Vodafone กับ Idea Cellular ในอินเดียเมื่อปี 2560, ระหว่าง Sprint กับ T-Mobile ในสหรัฐ เมื่อปี 2563 และระหว่าง Celcom Axiata กับ Digi.Com ในมาเลเซียเมื่อปี 2564

ดีลที่เกิดขึ้นทั้งหมด ล้วนต้อง “ใช้เวลาไม่น้อย” ในการพิจารณาอย่างเข้มข้นจากหน่วยงานที่กำกับดูแล บางดีลนำไปสู่การฟ้องร้อง บางดีลดำเนินการได้แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ผูู้บริโภคต้องได้ผลประโยชน์สูงสุด 

 Celcom Axiata กับ Digi.Com

Digi.Com บริษัทในเครือของเทเลนอร์กรุ๊ปในมาเลเซีย และกลุ่มเอเซียต้า ประกาศเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2565 ว่า ได้รับหนังสือแจ้งจากคณะกรรมการการสื่อสารและมัลติมีเดียแห่งมาเลเซีย (MCMC) ที่กำกับดูแลกิจการการสื่อสารระบุว่า ไม่คัดค้านการควบรวมกิจการระหว่างเซลคอมและดิจิ ให้ทั้งสองบริษัทดำเนินการตามขั้นตอนควบรวมต่อไปตามกระบวนการ โดยการทำธุรกรรมให้เสร็จสมบูรณ์จะต้องได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ ประเทศมาเลเซียและผู้ถือหุ้นทั้ง เอเซียต้า (Axiata)และ ดิจิ (Digi)

นายเยอเก้น โรสทริป รองกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าเทเลนอร์เอเชีย เทเลนอร์ กรุ๊ป กล่าวว่า “เราได้บรรลุขั้นตอนสำคัญในเชิงบวกด้านกฎระเบียบสำหรับการควบรวมกิจการในมาเลเซีย เรารู้สึกตื่นเต้นที่จะก้าวไปข้างหน้าโดยนำบริษัททั้งสองนี้มารวมกันเพื่อศักยภาพสูงสุด ซึ่งจะเป็นการสร้างผู้ให้บริการดิจิทัลที่แข็งแกร่งในเชิงพาณิชย์และมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ด้วยแผนการควบรวมกิจการทั้งในประเทศไทยและมาเลเซียนี้ ทำให้เทเลนอร์มั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าจะสร้างบริษัทที่พร้อมก้าวสู่อนาคตที่สามารถรองรับการใช้งานดิจิทัลระดับประเทศได้ดียิ่งขึ้น และสามารถนำเสนอบริการล้ำหน้าใหม่ๆ แก่ผู้บริโภคในภูมิภาคได้”

เพื่อให้มั่นใจว่าผู้บริโภคในมาเลเซียจะยังคงได้รับประโยชน์จากการแข่งขันที่มีประสิทธิภาพในภาคโทรคมนาคมเอเซียต้า (Axiata)และ ดิจิ (Digi)พร้อมที่จะดำเนินการตามข้อเสนอตามที่ระบุโดย MCMC อย่างครบถ้วน

ทั้งนี้ ทั้งสองบริษัทมั่นใจว่าการควบรวมกิจการจะทำให้เกิดการทำงานร่วมกัน และจะสร้างผู้ให้บริการดิจิทัลที่มีความแข็งแกร่งและยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งสามารถตอบสนองต่อสภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป

บริษัทที่ควบรวมนี้จะส่งมอบเครือข่ายและสัญญาณที่มีคุณภาพและครอบคลุมมากขึ้น นอกจากนี้ ยังพร้อมสำหรับการลงทุนในการขยายเครือข่าย ขับเคลื่อนโซลูชัน 5จี ใหม่ๆและสร้างการเติบโตสำหรับกลุ่มองค์กรขนาดใหญ่และ เอสเอ็มอี โดยบริษัทใหม่นี้จะสามารถรองรับผู้ใช้งานที่มีจำนวนมากขึ้นได้ ไปพร้อมๆ กับส่งมอบสิทธิประโยชน์มากมายผ่านช่องทางบริการต่างๆ ที่มีศักยภาพมากขึ้น มอบประสบการณ์เครือข่ายที่ดียิ่งขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ

ทั้งสองฝ่ายคาดการณ์ว่าการควบรวมกิจการจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในครึ่งหลังของปี 2565 ตามที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ เมื่อเสร็จสมบูรณ์ เอเซียต้า และ เทเลนอร์ จะถือหุ้นในสัดส่วนที่เท่าเทียมกันในบริษัทที่ควบรวมใหม่ฝ่ายละ 33.1%

กรณีนี้แหล่งข่าวจากวงการโทรคมนาคมไทยเปิดเผยเมื่อวันที่ 1 ก.ค.ว่า การที่ MCMCไฟเขียวไม่คัดค้านการควบรวมระหว่างเซลคอมและดิจิ เนื่องจากรัฐบาลมาเลเซียต้องการให้ประเทศมีบริษัทโทรคมนาคมที่แข็งแกร่งเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้ประเทศเป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนในด้านเทคโนโลยีและเศรษฐกิจดิจิทัล

 Sprint กับ T-Mobile

 วันที่ 1 เม.ย.2563 T-Mobile ประกาศควบรวมกิจการกับ Sprint Corporation เสร็จสมบูรณ์ ตั้งบริษัทใหม่ที่ยังใช้ชื่อ T-Mobile  (supercharged Un-carrier) ให้บริการเครือข่าย 5จี โดยเป็นผู้ให้บริการไร้สายรายใหญ่อันดับสามของสหรัฐ ภายใต้โครงสร้างของบริษัทใหม่ Deutsche Telekom บริษัทแม่ของ T-Mobile จะถือหุ้น 42% และซอฟท์แบงก์จะถือหุ้น 27% ส่วนที่เหลือเป็นของผู้ถือหุ้นทั่วไปในตลาดหลักทรัพย์

บริษัทใหม่รับผิดชอบสร้างเครือข่าย 5จี ครอบคลุมทั่วประเทศ พื้นที่เมืองและชนบทได้ใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน 

เมื่อมองภาพรวมโครงข่ายบริการโทรศัพท์มือถือในสหรัฐ พบว่า มีสองบริษัทใหญ่เป็นเจ้าตลาด คือ Verizon และ AT&T หากบริษัทเล็กๆ อย่าง T-Mobile และ Sprint อยากแข่งขันได้ในสมรภูมิ 5จี จำเป็นต้องควบรวมกิจการกันเท่านั้นซึ่งซอฟท์แบงก์บริษัทแม่ของ Sprint เคยพยายามเจรจากับ T-Mobile มาตั้งแต่ปี 2557 อุปสรรคอยู่ที่หลายรัฐฟ้องร้องและหน่วยงานกำกับดูแลไม่เห็นด้วย แต่ในเดือน ก.ค.2562 กระทรวงยุติธรรมสมัยรัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อนุญาตให้ควบรวมกันได้  ซึ่งผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์จากการปรับไปใช้เครือข่าย 5จี แบบเร่งด่วนของ T-Mobile

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2563 ข้อตกลงนี้แล้วเสร็จหลังจากต้องต่อสู้กับหลายรัฐที่อ้างว่า การควบรวมระหว่างสองบริษัทอาจทำให้เกิดการผูกขาด ดังนั้นการควบรวมกิจการต้องเป็นไปอย่างมีเงื่อนไข 1.ต้องขยายโครงข่าย 5จี ให้ชาวอเมริกันอย่างน้อย 97% เข้าถึงได้ภายในสามปี และเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วอย่างน้อย 100 เมกะบิต/วินาที หากทำไม่ได้ต้องจ่ายค่าปรับ 2,000 ล้านดอลลาร์ 2. บริษัทใหม่ต้องขายธุรกิจบางส่วนให้ Dish Network ทำให้ Dish Network กลายเป็นผู้บริการโทรศัพท์ไร้สายรายใหญ่อันดับสี่ของสหรัฐ

ด้านการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารจอห์น เลเจอร์  ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) T-Mobile มาอย่างยาวนานพ้นจากตำแหน่งทันทีตามข้อตกลง ไมค์ ซีเวิร์ต  ประธานT-Mobile มาเป็นซีอีโอแทนโดยเลเจอร์ที่ช่วยเปิดตัวยุทธศาสตร์“Un-carrier” อันโด่งดังของบริษัทไปนั่งเป็นกรรมการบริหาร

 ผู้บริโภครวมตัว“ฟ้องร้อง”

สำหรับผลกระทบต่อผู้บริโภค  เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ใช้บริการไร้สายของ AT&T และVerizon ยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่มต่อศาลรัฐบาลกลางในชิคาโกว่า การควบรวมกิจการของ T-Mobile / Sprint สร้างความเสียหายให้ผู้บริโภคควรยกเลิก แม้ว่าบริษัทให้คำมั่นว่าจะไม่ทำแบบนั้นก็ตาม 

ผู้บริโภคฟ้อง Deutsche Telekom AG, T-Mobile U.S., Inc. และ ซอฟท์แบงก์กรุ๊ปจากญี่ปุ่น อดีตเจ้าของ Sprint Corp กล่าวหาว่า การควบควมกิจการเปิดทางให้เกิดการปฏิบัติต่อต้านการแข่งขันฝ่าฝืนมาตรา 7 กฎหมายเคลย์ตัน และมาตรา 1 กฎหมายเชอร์มาน

ทั้งนี้ การควบรวมกิจการระหว่างT-Mobile กับ Sprint ในเดือน เม.ย. 2563 ลดจำนวนผู้ให้บริการโทรศัพท์ไร้สายรายย่อยระดับชาติจากสามเหลือสี่ราย ส่งผลให้ลูกค้าผู้ใช้บริการจากบริษัทเหล่านี้ รวมถึงลูกค้าAT&T และVerizon ต้องจ่ายค่าบริการเพิ่มอีกหลายพันล้าน การประมาณการชิ้นหนึ่งคาดว่า การควบรวมกิจการครั้งนี้ทำให้ผู้บริโภคเสียหายมากถึงปีละ 9 พันล้านดอลลาร์

โวดาโฟนและไอเดียเซลลูลาร์ 

เว็บไซต์ไฟแนนเชียลไทม์สรายงานเมื่อ 31 ส.ค. 2018 โวดาโฟน (Vodafone) บริษัทโทรคมนาคมข้ามชาติของอังกฤษ เสร็จสิ้นการควบรวมธุรกิจโทรศัพท์มือถือในอินเดียกับคู่แข่งในท้องถิ่น “ไอเดียเซลลูลาร์” (Idea Cellular) สร้างบริษัทให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่สุดของประเทศด้วยลูกค้ากว่า 400 ล้านคน ใหญ่กว่าภารตีแอร์เทล ที่มีผู้ใช้บริการ 345 ล้านคนเมื่อสิ้นเดือน มิ.ย.2561

ดีลนี้ตกลงกันได้ตั้งแต่เดือน มี.ค.2560 แต่ใช้เวลากว่าหนึ่งปีจึงผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับดูแล

โวดาโฟนแถลงว่า การควบรวมจะได้บริษัทใหม่ที่มีลูกค้า 408 ล้านคน ในรอบ 12 เดือนถึงเดือน มิ.ย.2561 ทั้งสองธุรกิจทำรายได้ 7.1 พันล้านยูโร รายได้ก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย 1.4 พันล้านยูโรและคาดด้วยว่าดีลนี้จะช่วยลดต้นทุนรายปีได้ราว 1.4 พันล้านยูโร

ธุรกิจที่ควบรวมกันในชื่อ โวดาโฟนไอเดีย ต้องแบกภาระหนี้สินก้อนโตสุทธิที่ 1.32 หมื่นล้านยูโร การกู้ยืมนี้จะหายไปจากงบดุลของบริษัทแม่

ทั้งนี้ การที่ Reliance Jio บริษัทลูกของ Reliance Industries โรงกลั่นน้ำมันรายใหญ่เข้ามาลงเล่นในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เปิดให้บริการ 4จีในปี 2559 เป็นตัวเร่งให้โวดาโฟนต้องควบรวมกับไอเดียเซลลูลาร์ โดย Reliance Jio เข้ามาทำสงครามราคาจากภาษีโทรศัพท์มือถือหั่นรายได้อุตสาหกรรมโทรคมนาคม

การควบรวมธุรกิจในอินเดียถือเป็นความเคลื่อนไหวระลอกล่าสุด ณ ขณะนั้นในการปรับโฉมอาณาจักรธุรกิจโลกของโวดาโฟน บริษัทยังหาทางรุกเข้าไปในตลาดใหญ่ของยุโรป เช่น เยอรมนีและสเปนด้วยการเข้าซื้อธุรกิจเคเบิลด้วย

กลางเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ newindianexpress รายงานว่า หลังจากลูกค้าหายมาตลอดสี่ปีหลังควบรวม โวดาโฟนไอเดียมีผู้ใช้รายใหม่ที่ใช้งานประจำเพิ่มขึ้น 200,000 คนในเดือน มี.ค.2565 ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ถ้าโวดาโฟนไอเดียจะอยู่รอดให้ได้ต้องเร่งระดมทุนให้ได้โดยเร็วที่สุด ควบคุมผู้ใช้ย้ายค่ายให้ได้ แก้ปัญหาการลงทุนที่ยังล้าหลังคู่แข่ง