จับตา'อีซีบี'ขึ้นดอกเบี้ยใครได้ใครเสีย

จับตา'อีซีบี'ขึ้นดอกเบี้ยใครได้ใครเสีย

อีซีบีเตรียมขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันพฤหัสบดี (21 ก.ค.) เพื่อรับมือเงินเฟ้อสูงขึ้นทุกขณะ งานนี้มีทั้งคนได้ประโยชน์และเสียประโยชน์เมื่อต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้น

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานวานนี้ (18 ก.ค.) ว่า เบื้องต้นสินเชื่อจะมีราคาแพงขึ้น เมื่อธนาคารพาณิชย์กู้ยืมเงินจากธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) แล้วนำมาปล่อยกู้ให้กับครัวเรือนและภาคธุรกิจ หลายปีมาแล้วที่ผู้กู้ได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยต่ำมากซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

เมื่ออีซีบีเริ่มขึ้นดอกเบี้ย ธนาคารจะส่งต่อต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นไปให้ลูกค้า ดังนั้นทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่การซื้อบ้านไปจนถึงการรีไฟแนนซ์หนี้หรือการขอสินค้าของบริษัทจะแพงขึ้น นอกจากนี้ผู้ให้กู้จะพิจารณาคำขอสินเชื่อละเอียดยิ่งขึ้นเพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีความเสี่ยงมากเกินไป ซึ่งตลาดอสังหาริมทรัพย์รับรู้ถึงผลกระทบนี้แล้ว เมื่ออัตราดอกเบี้ยจดจำนองเพิ่มขึ้นช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
 

แต่อนาคตของเจ้าของบ้านในอนาคตใช่ว่าเลวร้ายไปเสียทั้งหมด

“ต้นทุนการเงินเพื่ออสังหาริมทรัพย์ขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของอีซีบีเพียงบางส่วน โดยต้องขึ้นกับดีมานด์และซัพพลาย หรือความน่าเชื่อถือของผู้ขอกู้ด้วย” แอนเดรียส์ ลิปโกว์ นักวิเคราะห์จากบริษัทคอมไดเรคท์ให้ความเห็น

ผู้ฝากเงินได้ประโยชน์

ยุคที่อีซีบีใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นประวัติการณ์หมายความว่า ผู้ฝากเงินได้ผลตอบแทนเพียงเล็กน้อยหรือแทบไม่ได้อะไรเลยจากการเก็บเงิน อีซีบียังเก็บค่าธรรมเนียม 0.5% จากเงินสดส่วนเกินที่ธนาคารมาฝากไว้เสียด้วยซ้ำเพื่อกระตุ้นให้ปล่อยกู้

ธนาคารสำหรับลูกค้ารายย่อยหลายแห่งผลักต้นทุนไปให้เจ้าของบัญชีผู้มั่งคั่งที่ฝากเงินเกินปริมาณที่กำหนด ลูกค้าเหล่านี้อาจตั้งตารอการยกเลิกค่าธรรมเนียมเมื่ออีซีบียกเลิกอัตราดอกเบี้ยติดลบ

เมื่อธนาคารพาณิชย์ตอบรับผลตอบแทนกำไรที่สูงขึ้นเนื่องจากรายได้จากการปล่อยกู้เพิ่มขึ้น สุดท้ายแล้วอัตราดอกเบี้ยจากผลิตภัณฑ์เงินฝากย่อมสูงตามไปด้วย แต่เมื่อเงินเฟ้อสูงเสียดฟ้าหมายความว่า เร็วๆ นี้เงินออมในความเป็นจริงจะลดลง

“การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (และดอกเบี้ยเงินฝาก) ไม่มากพอชดเชยกับอัตราเงินเฟ้อสูงในปัจจุบันได้” นายเอลมาร์ โวลเกอร์ นักวิเคราะห์จากธนาคารแอลบีบีดับเบิลยูให้ความเห็น

ข่าวร้ายสำหรับรัฐบาลหนี้ท่วม

รัฐบาลในยูโรโซนก็ต้องหยุดใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายที่ใช้มานับสิบปีเช่นกัน เมื่อพันธบัตรรัฐบาลราคาแพงขึ้น และผลกระทบจากสมาชิกยูโรโซนหนี้ท่วมบางประเทศเป็นเหตุให้ชวนกังวลไปเรียบร้อยแล้ว

อีซีบีให้คำมั่นว่าจะออกเครื่องมือแก้ไขวิกฤติป้องกันผลตอบแทนที่แตกต่างกันในตลาดพันธบัตร หรือต้นทุนการกู้ยืมแตกต่างกันอย่างมากในประเทศสมาชิกยูโรโซน ทุกสายตาจับจ้องไปที่ประเทศหนี้ท่วมอย่างอิตาลีที่ผลตอบแทนพันธบัตรสูงขึ้นเมื่อเทียบกับพันธบัตรเยอรมนีที่ใช้อ้างอิง

นโยบายการเงินตึงตัวของอีซีบีที่ดูเหมือนจำเป็นต้องทำเพื่อควบคุมเงินฟ้อ เกิดขึ้นในช่วงเวลาเปราะบางสำหรับรัฐบาลหลายประเทศที่กำลังมองว่า อำนาจการกู้ยืมของตนลดลงในช่วงที่กำลังจ่ายเงินมหาศาลช่วยเหลือประชาชนรับมือกับราคาพลังงานพุ่งสูง

นักลงทุนระวังตัว

ตลาดหุ้นได้ประโยชน์จากนโยบายการเงินผ่อนคลายสุดๆ ของอีซีบีมานานหลายปี ผลักดันให้นักลงทุนเข้าหาสินทรัพย์เสี่ยงเพื่อผลตอบแทนสูงขึ้นแต่เมื่ออีซีบีร่วมวงขึ้นดอกเบี้ยสู้เงินเฟ้อเช่นเดียวกับธนาคารกลางประเทศใหญ่อื่นๆ ประกอบกับความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอยทวีขึ้นทุกขณะ ตลาดหุ้นโลกก็ร่วงลง

ตั้งแต่ปลายปี 2564 ดัชนีแนสแดค ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก ที่เน้นบริษัทเทคโนโลยีร่วงลงมาแล้ว 30% เนื่องจากบริษัทเทคโนโลยีขาดแคลนเงินสดหาเงินทุนก้อนใหม่ได้ยากขึ้น คริปโทเคอร์เรนซีที่เคยเฟื่องฟูก็ตกต่ำเช่นกันเมื่อนักลงทุนไม่อยากเสี่ยงมากอีกแล้ว เห็นได้จากเฉพาะมิ.ย.เดือนเดียวมูลค่าบิตคอยน์หายไปกว่า 40%

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่อีซีบีบอกเป็นนัยล่วงหน้าเรื่องขึ้นดอกเบี้ย 0.25% “ผู้เล่นด้านการเงินมีเวลาเตรียมตัวนานทีเดียว ซึ่งนั่นจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความปั่นป่วนครั้งใหญ่ในตลาดหุ้นได้” โวลเกอร์ จากธนาคารแอลบีบีดับเบิลยูกล่าวโดยสรุป