ลุ้น'ไบเดน'เยือนซาอุ กดดันผลิตน้ำมันเพิ่ม

ลุ้น'ไบเดน'เยือนซาอุ กดดันผลิตน้ำมันเพิ่ม

'ไบเดน'เยือนซาอุดีอาระเบียเพื่อกดดันผลิตน้ำมันเพิ่มท่ามกลางภาวะราคาน้ำมันแพงและสถานการณ์เงินเฟ้อย่างรุนแรงในสหรัฐ

 ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐยืนยันว่า การเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียในวันศุกร์ (15 ก.ค.) เกี่ยวข้องกับทุกเรื่องตั้งแต่เสริมสร้างความมั่นคงในภูมิภาคไปจนถึงนโยบายหันกลับมาให้ความสำคัญกับซาอุฯ อีกครั้งหนึ่ง แต่ประเด็นที่ต้องจับตาคือจะทำให้ซาอุฯ ผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นได้หรือไม่

เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติทำเนียบขาว กล่าวเมื่อวันจันทร์ (11 ก.ค.) ว่า ในการเดินทางเยือนตะวันออกกลางครั้งแรกในฐานะประธานาธิบดี ไบเดนจะขอให้ชาติโอเปกผลิตน้ำมันเพิ่มเพื่อกดให้ราคาลดลง ทริปนี้เริ่มต้นตั้งแต่คืนวันอังคาร (12 ก.ค.) เริ่มที่อิสราเอล เขตยึดครองเวสต์แบงก์ จบลงที่ซาอุดีอาระเบีย เป็นการเยือนในช่วงที่ไบเดนกำลังแก้ปัญหาราคาน้ำมันในสหรัฐพุ่งสูง มีส่วนทำให้คะแนนนิยมของเขาตกต่ำ

ซัลลิแวนกล่าวว่า สมาชิกโอเปกมีความสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้อีก แม้ซาอุฯ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) กล่าวว่าไม่สามารถเพิ่มได้แล้ว

“เราจะแสดงมุมมองโดยทั่วไปที่เชื่อว่า ตลาดโลกต้องมีอุปทานที่เพียงพอเพื่อปกป้องเศรษฐกิจโลกและผู้บริโภคชาวอเมริกันที่เติมน้ำมันในปั๊ม” ซัลลิแวนกล่าว

ด้านเว็บไซต์วิเคราะห์การเมือง politico.com กล่าวว่า ความพยายามของไบเดนอาจล้มเหลว ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าซาอุฯ จะเพิ่มกำลังการผลิตได้เร็วพอสร้างการเปลี่ยนแปลงได้มาก แม้ซาอุฯ จะมีน้ำมันสำรองมากที่สุดในโลกก็ตาม และแม้แรงกดดันจากไบเดนได้ผล ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานกล่าวว่า การกระทำดังกล่าวอาจเขย่าตลาดที่เริ่มอ่อนตัวแล้วเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา และจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจให้กับชาวอเมริกันในระยะยาว ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงให้คำมั่นว่า จุดเน้นของไบเดนมีมากกว่าแค่เรื่องพลังงาน

“เราหวังจะเพิ่มผลประโยชน์ของเราให้กว้างหลากหลายประเด็นตั้งแต่การก่อการร้ายไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและอิหร่าน นั่นคือเหตุผลว่าทำไมประธานาธิบดีถึงต้องไป” เจ้าหน้าที่อาวุโสคนหนึ่งในรัฐบาลกล่าวและว่า น้ำมันเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องพูด ทั้งตอนที่ไบเดนหารือกับรัฐบาลซาอุฯ และในวันเสาร์ (16 ก.ค.) ตอนที่ไบเดนหารือกับเจ้าหน้าที่จากซาอุฯ และประเทศผู้ผลิตน้ำมันในอ่าวเปอร์เซียอีกห้าประเทศ โดยเฉพาะเมื่อตลาดพลังงานโลกผันผวนหนักนับตั้งแต่รัสเซียรุกรานยูเครน

“เราคาดว่าต้องใช้เวลากับสภาความร่วมมือแห่งอ่าวเปอร์เซียและกับซาอุฯ เพื่อหารือเรื่องความมั่นคงด้านพลังงาน” เจ้าหน้าที่รายเดิมย้ำ

หลายสิบปีมาแล้วที่อุปทานน้ำมันเป็นประเด็นที่อดีตประธานาธิบดีสหรัฐต้องเจรจากับซาอุฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างโดนัลด์ ทรัมป์ เคยสวดโอเปกผ่านทวิตเตอร์ จอร์จ ดับเบิลยู บุช เคยร้องขอด้วยตนเองให้ซาอุฯ ผลิตน้ำมันเพิ่ม

นักวิเคราะห์และนักการทูตหลายคนกล่าวว่า ถ้าไบเดนเน้นกดดันซาอุฯ ให้เพิ่มเพดานการผลิตหรือผ่อนคลายนโยบายโอเปกลง ซาอุฯ อาจไม่อยากทำตามหรือทำไม่ได้ ดังนั้นสิ่งที่ดีท่ี่สุดที่จะได้จากการเจรจาคือข้อตกลงเล็กๆ จากซาอุฯ ว่าจะเข้าลงทุนผลิตหรือขยายขีดความสามารถในโรงกลั่นโมติวาเอ็นเตอร์ไพรส์ ที่ซาอุดีอารามโค รัฐวิสาหกิจน้ำมันบริหารในรัฐเท็กซัส

หากจะตั้งคำถามว่า สหรัฐควรคาดหวังอะไรเรื่องน้ำมันจากการเยือนตะวันออกกลางครั้งนี้ เดวิด โกลด์วิน หัวหน้าคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านพลังงาน ศูนย์พลังงานโลก สภาแอตแลนติก และอดีตที่ปรึกษาด้านพลังงานกระทรวงการต่างประเทศสมัยประธานาธิบดีบารัก โอบามา มองว่า คาดหวังไม่ได้มากนัก เขาไม่คิดว่าไบเดนจะเดินกลับออกมาพร้อมคำมั่นผลิตน้ำมันเพิ่มมากขึ้นจากซาอุฯ  “มันดูเถื่อนเกินไปสำหรับสหรัฐถ้าจะร้องขอ และโจ่งแจ้งเกินไปสำหรับซาอุฯ”

ในทางกลับกัน โกลด์วินและคนอื่นๆ มองว่า การมาเยือนของไบเดนเป็นการเติมเต็มข้อตกลงโดยพฤตินัยที่ทำเมื่อโอเปกพลัสเพิ่มการผลิตน้ำมันมากกว่าที่วางแผนไว้ทีแรก ตอบสนองข้อเรียกร้องของไบเดนในเดือน มิ.ย.

ตอนนั้นสมาชิกโอเปกพลัสประกาศว่า จะเพิ่มการผลิตรวมกัน 648,000 บาร์เรลต่อวันในเดือน ก.ค.และ ส.ค. จาก 400,000 บาร์เรลต่อวันที่วางแผนไว้ตอนแรก แต่ถึงขณะนี้โอเปกพลัสยังทำไม่ได้ตามโควตา ทำให้คาดการณ์กันมากว่า ซาอุฯและโอเปกในภาพรวมอาจไม่มีขีดความสามารถในการผลิตมากเท่าที่คิด

นอกจากนี้ราคาน้ำมันที่ลดลงต่อเนื่อง อาจทำให้ไม่จำเป็นต้องคุยกันเรื่องเพิ่มผลผลิตแล้วก็ได้ ราคาน้ำมันอ้างอิงของสหรัฐ ที่เคยทะลุ 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลหลายครั้งในปีนี้ กลับร่วงลงมาอยู่ที่ 96 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เมื่อวันอังคาร (12 ก.ค.) เพราะผลผลิตในประเทศเพิ่มขึ้น ตลาดรู้แล้วว่า น้ำมันรัสเซียปริมาณมากเข้าไปในจีนและอินเดีย และความกลัวว่าเศรษฐกิจถดถอยอาจบั่นทอนความต้องการในไม่กี่เดือนข้างหน้า