ซัพพลายเชน 'ไทย' ข้อต่อสำคัญภาคการผลิตสหรัฐ

ซัพพลายเชน 'ไทย' ข้อต่อสำคัญภาคการผลิตสหรัฐ

สหรัฐ และไทยจะเฉลิมฉลองครบรอบความสัมพันธ์ทางการทูต 190 ปีในปี 2566 นับเป็นก้าวสำคัญสะท้อนในเอกสารการลงนามที่เป็นทั้งเป้าหมายการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ และความร่วมมือสองประเทศ ท่ามกลางสถานการณ์โลกผันผวน

ในการเยือนประเทศไทยของแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ เมื่อวันที่ 9 - 10 ก.ค. ได้พบปะหารือกับดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นเวลากว่า 45 นาที เน้นพูดคุยความร่วมมือทวิภาคีให้มีประสิทธิผลครอบคลุมประเด็นหลากหลาย รวมถึงสถานการณ์ในภูมิภาค และระหว่างประเทศด้วย

“ไทย” ประเทศหุ้นส่วนอินโดแปซิฟิก 

บลิงเคนกล่าวว่า ไทยเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนอินโดแปซิฟิกที่มีความสำคัญต่อสหรัฐ ซึ่งเรากำลังร่วมกำหนดวิถีแห่งศตวรรษที่ 21 โดยที่สหรัฐมีเป้าหมายต่ออินโดแปซิฟิกที่เสรี ยืดหยุ่น เปิดกว้าง เชื่อมโยงกันสู่ความมั่งคั่ง และมั่นคง

"ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจสหรัฐ-ไทยแข็งแกร่งอย่างไม่น่าเชื่อ แม้เราเพิ่งผ่านพ้นการระบาดโควิด-19 ซึ่งสหรัฐต้องขอบคุณไทยที่เข้าร่วมกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) กับสหรัฐ ซึ่งจะช่วยสร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ยุติธรรม และยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อช่วยเหลือแรงงาน ภาคธุรกิจต่างๆ ทั่วทั้งภูมิภาค" บลิงเคนกล่าวและเสริมว่า สองประเทศกำลังทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

ซัพพลายเชน \'ไทย\' ข้อต่อสำคัญภาคการผลิตสหรัฐ

ประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่เข้าร่วมโครงการริเริ่มความต้องการพลังงานสะอาด ซึ่งเชื่อมโยงประเทศต่างๆ ที่ต้องการขยายการใช้พลังงานหมุนเวียนกับบริษัทต่างๆ ที่สามารถช่วยให้พวกเขาทำเช่นนั้นได้ สหรัฐมีบริษัท 7 แห่งที่ส่งสัญญาณว่าสนใจลงทุน มูลค่าสูงถึง 2,700 ล้านดอลลาร์ในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานสะอาดของประเทศไทย เพื่อให้ไทยก้าวไปข้างหน้าและเป็นผู้นำด้านนี้

กระชับสัมพันธ์-ร่วมฟื้นศก.หลังโควิด

ดอนและบลิงเคนได้ลงนามเอกสาร 2 ฉบับคือ 1.แถลงการณ์ว่าด้วยความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยและสหรัฐ (Thailand - Us communique on strategy alliance and partnership) ซึ่งเป็นฉบับที่สอง โดยไทยและสหรัฐมีเอกสารว่าด้วยพันธมิตรและหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ฯ ฉบับแรกเมื่อ 60 ปีที่แล้ว 

เอกสารฉบับนี้สะท้อนความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์และพลวัตรขับเคลื่อนความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ ที่คำนึงถึงบริบทและความท้าทายในปัจจุบัน เน้นมองไปข้างหน้าและลำดับความสำคัญเชิงกลยุทธ์ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด-19 การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจดิจิทัล พลังงานทดแทนต่างๆ ไซเบอร์ซิคิวรีตี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความร่วมมือด้านสาธารณสุข และความร่วมมือประชาชนกับประชาชน

ดอน กล่าวเสริมว่า เอกสารว่าด้วยความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยและสหรัฐ จะเป็นอิงเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ไทย-สหรัฐร่วมกัน ในการวางรากฐานสำหรับ 190 ปีข้างหน้าด้วยกัน เพื่อส่งต่อความสัมพันธ์และประโยชน์ให้กับคนรุ่นต่อไป

ดึง 'ไทย' แก้ปัญหาซัพพลายเชนโลก

2.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการส่งเสริมความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน (ซัพพลายเชน) ระหว่างไทยและสหรัฐ ในการสนับสนุนไทยได้เป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชนให้กับกระบวนการผลิตของสหรัฐ และยังเป็นโอกาสทางธุรกิจทั้งสองประเทศ ในด้านการส่งออก นำเข้าและการลงทุน

“สหรัฐมองหาหนทางจะทำอย่างไร ที่จะพัฒนาขีดความสามารถให้เอกชนไทยได้ร่วมมือกับเอกชนสหรัฐมากยิ่งขึ้น ในการขับเคลื่อนห่วงโซ่อุปทาน ด้านการผลิตให้มีความโดดเด่นระดับภูมิภาค” บลิงเคนกล่าว ประชาชนสหรัฐและไทยจะได้รับประโยชน์จากความร่วมมือ เพื่อแก้ไขจุดอ่อนของห่วงโซ่อุปทานลดลง และหยุดชะงักทั้งภาคการผลิตและขนส่ง

 

ซัพพลายเชน \'ไทย\' ข้อต่อสำคัญภาคการผลิตสหรัฐ

ร่วมสร้างความแกร่งแก่ห่วงโซ่อุปทาน 

ที่สำคัญทำให้ประชาชนทั้งสองประเทศและตลาดทั่วโลกมั่นใจว่า สามารถเข้าถึงสินค้าที่สำคัญๆได้ ภายใต้บันทึกความเข้าใจนี้ ทำให้มั่นใจถึงความร่วมมือในห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่ง ยืดหยุ่น และหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมที่สำคัญ ในนวัตกรรมทางเทคโนโลยี

ด้วยข้อตกลงใหม่นี้ ประเทศของเราจะทำร่วมกันมากขึ้น นั่นคือเป้าหมายเพื่อทำให้ชีวิตของพวกเขาปลอดภัย มีสุขภาพ มีความเจริญรุ่งเรืองเพิ่มขึ้น และมีจิตวิญญาณของการแสวงหาความก้าวหน้าร่วมกัน

“สหรัฐ”หนุนไทยมุ่งสร้างธุรกิจลดโลกร้อน

 บลิงเคน มองว่า การเป็นหุ้นส่วนของสหรัฐและไทยนับตั้งแต่วันแรกไปจนถึงปีหน้าที่ทั้งสองจะฉลองความสัมพันธ์ทางการทูต 190 ปี เริ่มต้นจากที่มีสนธิสัญญาไมตรีและพาณิชย์ ค.ศ. 1833 และลงนามบนกระดาษที่มีความยาวไม่เกิน 90 นิ้ว ซึ่งแน่นอนว่าขณะนั้นไม่มีการพูดถึงพลังงานหมุนเวียนหรือห่วงโซ่อุปทาน แต่ตอนนี้โลกได้เปลี่ยนแปลง เพราะต่างเผชิญภาวะโลกร้อน

ดังนั้นความร่วมมือนี้จึงสะท้อนความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนของสหรัฐและไทยที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะการทำธุรกิจที่ต้องสอดรับกับลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย อเมริกันและคนทั่วโลกที่ดี

 

ซัพพลายเชน \'ไทย\' ข้อต่อสำคัญภาคการผลิตสหรัฐ