หนังเล่าโลก: Rock the Casbah เรื่องวุ่นวายเมื่อชายเป็นใหญ่

หนังเล่าโลก: Rock the Casbah   เรื่องวุ่นวายเมื่อชายเป็นใหญ่

โมร็อกโกเป็นประเทศในฝันของใครหลายคน การได้ชมภาพยนตร์โมร็อกโกที่มีเนื้อหาบอกเล่าวิถีชีวิตผู้คนและทัศนียภาพอันงดงาม อย่างภาพยนตร์เรื่อง Rock the Kasbah ทำให้ประเทศในฝันแม้ห่างไกลด้วยระยะทางแต่ก็ไม่ไกลเกินเอื้อม

Rock the Kasbah ภาพยนตร์ปี 2013 ผลงานของผู้กำกับหญิงไลลา มารัคชี  (Laila Marrakchi) บอกเล่าเรื่องราวของครอบครัว Al-Hassan ชนชั้นสูงในเมืองแทงเจียร์ (Tangier) ของโมร็อกโก ที่จู่ๆ หัวหน้าครอบครัวหัวใจวายกะทันหัน งานศพจัดขึ้นเป็นเวลาสามวัน ลูกเมียต้องมารวมตัวกันเพื่อไว้อาลัยให้กับเขา  โซเฟีย  นักแสดงฮอลลีวูดนำลูกชายตัวน้อยกลับมารวมญาติเพื่อไว้อาลัยให้บิดา ช่วงที่ครอบครัวอยู่ระหว่างความทุกข์โศก ความคับข้องใจในหมู่พี่น้องกับชะตาชีวิตที่พ่อเป็นผู้กำหนดตามประสาครอบครัวชายเป็นใหญ่ถูกระเบิดออกมา ไม่ว่าจะเป็นมิเรียม พี่สาวโซเฟียที่ถูกบังคับให้แต่งงานกับชายที่ตนไม่ได้รักแต่พ่อเห็นชอบ สุดท้ายชีวิตแต่งงานจบลงอย่างไม่มีความสุข เคนซาน้องสาวต้องเป็นครูตามความประสงค์ของพ่อ มีแต่โซเฟียที่ทำตามใจตนเองย้ายไปเป็นนักแสดงฮอลลีวูดเมื่อหลายปีก่อนจนห่างเหินกับครอบครัว  ส่วนพี่น้องที่ห้าวหาญที่สุดคือไลลา ผู้ตัดสินใจปลิดชีพตนเองก่อนหน้านั้นหลายปีเพราะพ่อไม่ให้แต่งงานกับซาการียา ลูกคนรับใช้ในบ้าน 

นอกจากความคับข้องใจแล้วความลับของครอบครัวที่แม่เก็บงำมานานก็ถูกเปิดเผยออกมา  หญิงคนใช้กับซาการียา ลูกชายติดยาของเธอ และการฆ่าตัวตายของไลลา พี่สาวผู้หน้าเหมือนกันมากกับโซเฟียล้วนเกี่ยวข้องกันอย่างไม่น่าเชื่อ และนำไปสู่โศกนาฏกรรมของตระกูลที่ยากจะรับได้ แต่สุดท้ายแล้วสายใยความเป็นครอบครัวก็ช่วยผสานรอยร้าวทั้งหมด 

อับเดอร์ราฮิม ราห์ฮาลี่ เอกอัครราชทูตโมร็อกโกประจำประเทศไทย กล่าวถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า แม้เป็นโศกนาฏกรรมแต่ Rock the Kasbah ก็นำเสนออย่างมีอารมณ์ขันตามสไตล์การแก้ปัญหาของชาวโมร็อกโก ทั้งยังชี้ให้เห็นการปะทะกันระหว่างขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมกับความทันสมัย การแสดงออกถึงตัวตน เช่น น้องสาวโซเฟียทำตามที่พ่อต้องการ แต่โซเฟียกลับเป็นตัวของตัวเอง ทั้งหมดนี้เป็นการปะทะกันระหว่างคนใน คนนอก ระหว่างธรรมเนียมของโมร็อกโกกับภายนอก 

"โมร็อกโกมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม เรามีขนบธรรมเนียมของเรา ขณะเดียวกันก็เปิดกว้างรับโลกอื่นโดยเฉพาะเมืองแทงเจียร์ อันเป็นที่โปรดปรานของศิลปินชื่อดัง นักสร้างภาพยนตร์ นักเขียน และคนอื่นๆ อีกมากมาย ภาพยนตร์จึงสะท้อนวัฒนธรรมอันหลากหลาย" 

เมื่อถามถึงปัญหาของตัวละครในเรื่องที่มาจากพ่อผู้มีอำนาจสูงสุดในครอบครัว ท่านทูตเห็นพ้อง เรื่องวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ พร้อมยกตัวอย่างฉากหนึ่งที่พี่น้องหญิงในตระกูลคุยกันเรื่องกฎหมายมรดกที่แบ่งให้ทายาทชายมากกว่าหญิง ซึ่งท่านทูตให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า  สมเด็จพระราชาธิบดีมุฮัมมัดที่ 6 ทรงมีรับสั่งให้ปฏิรูปกฎหมายครอบครัวในหลากมิติ เช่น  ผู้หญิงมีสิทธิแต่งงานกับคนที่เธอเลือก ความรับผิดชอบต่อครอบครัวเป็นของทั้งหญิงและชาย ไม่ใช่เฉพาะผู้ชายเท่านั้นที่จะมีสิทธิตัดสินใจ เพิ่มอายุชายหญิงที่จะสมรสกันได้ต้องมีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ “เรียกได้ว่ามีการปฏิวัติในหลายๆ เรื่อง” 

ข้อน่าสังเกตอีกประการหนึ่งที่เห็นจากภาพยนตร์คือ สังคมโมร็อกโกค่อนข้างเปิด มีฉากผับ บาร์ และการดื่มเบียร์ 

“แทงเจียร์เป็นเมืองที่คนมาหาความสนุกสนาน เราเคารพกฎหมายครับ แต่ก็เป็นสังคมที่เปิดกว้าง เราห่างจากยุโรปเพียง 14 กิโลเมตร เปิดรับทั้งฝั่งแอตแลนติกและฝั่งอเมริกา แทงเจียร์เป็นที่เดียวที่มีอาคารสถาปัตยกรรมแบบอเมริกันนอกสหรัฐ เป็นเมืองนานาชาติ” 

ฟังข้อมูลจากปากท่านทูตยิ่งทำให้โมร็อกโกโดยเฉพาะเมืองแทงเจียร์ สถานที่ตามท้องเรื่องมีเสน่ห์ชวนให้ไปเยี่ยมเยือนมากขึ้น งานนี้ทูตราห์ฮาลี่ไม่ได้มาคนเดียวในฐานะมิตรประเทศ “ออร์นา ซากิฟ” เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทยมาร่วมชมภาพยนตร์ด้วย และนี่คือภาพยนตร์โมร็อกโกเรื่องแรกของเธอ 

"หนังสนุกมากค่ะ ดิฉันคิดว่าผู้หญิงทั่วโลกเจอความขัดแย้งเหมือนกัน คุณมีความขัดแย้งแบบเดียวกัน ความน่าสนใจของหนังบอกถึงการแก้ปัญหาหลายๆ เรื่องของผู้หญิงในประเทศหนึ่งซึ่งเป็นความขัดแย้งที่ผู้หญิงมีร่วมกัน"

มีฉากหนึ่งที่ตัวละครผู้เป็นยายกล่าวกับหลานสาวว่า “ไม่ควรไปแต่งงานกับคนยิว” อดถามไม่ได้ว่า ในฐานะทูตอิสราเอลคิดอย่างไรกับคำพูดนี้

“เป็นอคติค่ะ เป็นอคติที่มีทั่วโลก แต่ตอนนี้เราเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน” ทูตอิสราเอลย้ำถึงความสัมพันธ์ทางการทูตกับโมร็อกโกที่ดำเนินมาเกือบสองปี 

การจัดฉายภาพยนตร์เรื่อง Rock the Kasbah เป็นส่วนหนึ่งของ RCB Film Club กิจกรรมที่จัดขึ้นเป็นประจำ ณ ห้างสรรพสินค้าริเวอร์ซิตี้ มีการคัดสรรภาพยนตร์ดีๆ จากนานาประเทศด้วยการสนับสนุนจากสถานเอกอัครราชทูตมาให้คนไทยได้รับชม ความพิเศษอยู่ที่ทุกครั้งที่ฉายภาพยนตร์เอกอัครราชทูตประเทศนั้นๆ จะมาแนะนำภาพยนตร์ด้วยตนเองพร้อมพบปะคนดู ถือเป็น Soft Diplomacy ที่เข้าถึงประชาชนอย่างแท้จริง อย่างกรณีโมร็อกโก แค่ดูหนังเรื่องเดียวก็เหมือนได้เข้าไปเป็นสมาชิกในครอบครัว Al-Hassan ได้เรียนรู้วิธีคิดของคนท้องถิ่น ดูหนังจบแล้วสถานทูตยังจัดขนมโมร็อกโกที่ได้จดทะเบียนเป็นมรดกโลกของ UNESCO มาเลี้ยงดูปูเสื่อ ยิ่งทำให้อยากไปเที่ยวมากขึ้นไปอีก 

 แว่วๆ มาว่าคิวต่อไปของ RCB Film Club จะเป็นภาพยนตร์จากเคนยาและแอฟริกาใต้ ได้ยินอย่างนี้หลายคนต้องหูผึ่งก็ภาพยนตร์จากทวีปแอฟริกาใช่จะหาดูกันง่ายๆ แน่นอนว่า “หนังเล่าโลก” ต้องไม่พลาดชมแล้วนำมาเล่าสู่กันฟัง แต่ก็อยากให้ผู้อ่านได้มีโอกาสไปชมด้วยตนเองจะได้แลกเปลี่ยนทัศนะกับผู้ชมคนอื่นๆ และตัวเอกอัครราชทูต เพราะแม้เราเป็นแค่คนดูหนังแต่ก็ทำหน้าที่สานต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในรูปของการทูตภาคประชาชนได้