เจพีมอร์แกนเตือนเศรษฐกิจสหรัฐเสี่ยงถดถอยปีนี้

เจพีมอร์แกนเตือนเศรษฐกิจสหรัฐเสี่ยงถดถอยปีนี้

ทีมนักวิเคราะห์ของเจพีมอร์แกน คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีนี้ เมื่อพิจารณาจากการหดตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) และการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) วางแผนปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระดับที่รุนแรงมากขึ้น

การคาดการณ์ดังกล่าวของเจพีมอร์แกนมีขึ้น หลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งสุดท้ายของจีดีพีไตรมาส 1/2565 ในวันพุธ (29 มิ.ย.) โดยระบุว่าจีดีพีหดตัว 1.6% จากเดิมที่รายงานว่าหดตัวเพียง 1.4% และ 1.5% ในตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 และ 2 ตามลำดับ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจีดีพีสหรัฐอาจหดตัว 1.5% ในไตรมาส 1

ทั้งนี้ หากจีดีพีสหรัฐหดตัวต่อไปในไตรมาส 2/2565 ก็จะบ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอย เนื่องจากมีการหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน

"เรามีเหตุผลเพียงพอที่จะคาดการณ์ได้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐ หรืออาจรวมถึงเศรษฐกิจโลก มีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีนี้ โดยเราพิจารณาถึงความวิตกกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับวิกฤตเงินเฟ้อ ประกอบกับการที่เฟดส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยแรงขึ้น และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ทรุดตัวลงอย่างรุนแรง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ได้เปลี่ยนแปลงมุมมองของเราที่มีต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2565" ทีมนักวิเคราะห์ของเจพีมอร์แกน กล่าว

ในช่วงต้นเดือนมิ.ย. นายเจมี ไดมอน ซีอีโอของบริษัทเจพีมอร์แกนกล่าวว่า เจพีมอร์แกนเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้ ซึ่งเป็นผลกระทบจากการที่เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และจากสงครามในยูเครน พร้อมกับแนะนำให้บรรดานักลงทุนเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตการณ์ดังกล่าวเช่นกัน

"ก่อนหน้านี้ผมเคยเตือนว่าเมฆหมอกของพายุกำลังก่อตัวขึ้น แต่ตอนนี้ผมเปลี่ยนเป็นการเตือนให้ระวังพายุเฮอริเคน ในขณะที่สถานการณ์ดูเหมือนจะราบเรียบนั้น ไม่มีใครรู้ว่าขณะนี้พายุเฮอริเคนเริ่มก่อตัวขึ้นแล้ว ซึ่งอาจมีความรุนแรงเหมือนกับพายุเฮอริเคนแซนดี" นายไดมอน กล่าว

โดยพายุเฮอริเคนแซนดีเป็นพายุที่มีความรุนแรงมากที่สุดในฤดูพายุเฮอริเคนในมหาสมุทรแอตแลนติกปี 2555 ซึ่งสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงและมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

นายไดมอน กล่าวว่า มีสองปัจจัยหลักที่เขารู้สึกกังวล หนึ่งคือ เฟดยุติโครงการซื้อพันธบัตรฉุกเฉินและลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening หรือ QT) และสองคือสงครามในยูเครนที่ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ "ธนาคารกลางไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงิน เนื่องจากสภาพคล่องในระบบมีมากเกินไป การดำเนินการดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะขจัดสภาพคล่องบางส่วนออกจากระบบเพื่อหยุดการเก็งกำไร ฉุดราคาบ้านและสินค้าอื่น ๆ ให้ลดลง

ส่วนสงครามในยูเครนนั้น กำลังส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งรวมถึงราคาอาหารและเชื้อเพลิง พุ่งขึ้นอย่างรุนแรง เราคาดว่าผลกระทบจากความขัดแย้งครั้งนี้อาจจะทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นไปถึง 150 ดอลลาร์ หรือ 175 ดอลลาร์/บาร์เรล" นายไดมอน กล่าว