‘รัสเซีย-กาตาร์’ที่พึ่งด้านพลังงานของศรีลังกา

‘รัสเซีย-กาตาร์’ที่พึ่งด้านพลังงานของศรีลังกา

ศรีลังกาที่กำลังเผชิญวิกฤติด้านพลังงาน เตรียมส่งรัฐมนตรีพลังงานไปรัสเซียและกาตาร์ เพื่อเจรจาซื้อน้ำมันราคาถูก ขณะที่น้ำมันสำรองในประเทศใกล้หมดเข้าไปทุกที ทำให้รัฐบาลตัดสินใจสั่งขยายเวลาปิดหน่วยราชการอย่างไม่มีกำหนดเพื่อประหยัดการใช้พลังงาน

“กาญจนา วิเชษเกรา” รัฐมนตรีพลังงานของศรีลังกา เปิดเผยเมื่อวันอาทิตย์(26มิ.ย.)ว่า รัฐมนตรีสองคนได้เดินทางไปรัสเซียในวันจันทร์(27มิ.ย.)เพื่อหารือเรื่องการจัดซื้อน้ำมัน และเขาจะเดินทางไปกาตาร์ในวันเดียวกันเพื่อเจรจาซื้อน้ำมันเช่นกัน

ศรีลังกาจัดซื้อน้ำมัน 90,000 ตันจากไซบีเรียของรัสเซียผ่านบริษัทตัวกลางในนครดูไบของสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์เมื่อเดือนที่แล้ว แต่นักการเมืองเรียกร้องให้รัฐบาลเจรจาจัดซื้อโดยตรงกับรัฐบาลของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินแห่งรัสเซีย

นอกจากนี้ รัฐบาลศรีลังกายังประกาศขยายเวลาปิดหน่วยราชการที่เดิมมีกำหนดเพียงสองสัปดาห์ออกไปจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อประหยัดการใช้เชื้อเพลิง
 

เมื่อวันเสาร์(25มิ.ย.)วิเชษเกรา ยอมรับว่า น้ำมันสำรองมีเหลือพอใช้แค่ 2 วัน ขณะที่น้ำมันนำเข้าล็อตที่เดิมจะส่งถึงศรีลังกาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และอีกล็อตในสัปดาห์หน้าถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนดเนื่องจากสถานการณ์ด้านการเงินของศรีลังกา

เขาจึงเรียกร้องให้ผู้ขับขี่เลิกไปเข้าแถวรอเติมน้ำมัน หลังจากจอดรถทิ้งไว้เป็นแถวยาวล้นออกไปนอกสถานีบริการน้ำมัน โดยขอให้รอมีการจัดระบบบัตรคิวเพื่อจำกัดจำนวนรถที่รอเติมน้ำมันในแต่ละวัน

ด้าน ซีลอน ปิโตรเลียม คอร์ปอเรชัน(ซีพีซี) บริษัทน้ำมันของศรีลังกา ประกาศเมื่อวันอาทิตย์ปรับขึ้นราคาน้ำมันเบนซิน 22% เป็นลิตรละ 1.52 ดอลลาร์และขึ้นราคาน้ำมันดีเซล 15% เป็น 1.27 ดอลลาร์

นับตั้งแต่ต้นปีนี้มานี้ ราคาน้ำมันดีเซลในศรีลังกาปรับตัวสูงขึ้นเกือบ 4 เท่า และราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวขึ้นเกือบ 3 เท่า
 

การส่งรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องไปเจรจาเพื่อซื้อน้ำมันราคาถูกจากรัสเซียและกาตาร์ มีขึ้นหลังจาก นายกรัฐมนตรีรานิล วิกรมสิงเห ของศรีลังกา ยอมรับต่อสมาชิกรัฐสภาว่า เศรษฐกิจของประเทศที่กำลังเผชิญวิกฤติอยู่นี้พังพินาศลงแล้ว

การออกมายอมรับของนายกฯ ศรีลังกาครั้งนี้ ไม่ได้มีการระบุถึงความคืบหน้าใหม่ใดๆ แต่น่าจะมีจุดประสงค์เพื่อเน้นย้ำให้นักการเมืองฝ่ายค้านเห็นว่า เขาแบกรับหน้าที่อันยากลำบากที่ไม่สามารถแก้ไขได้ในเร็ววัน เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศเต็มไปด้วยภาระหนี้ รายได้จากการท่องเที่ยวหดหาย และผลกระทบอื่นๆ จากการระบาดของโควิด-19 รวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น

ในส่วนของสมาชิกสภาจากพรรคฝ่ายค้านหลักสองพรรคไม่เข้าร่วมการประชุมสภาเพื่อประท้วงนายกฯ วิกรมสิงเห ที่ไม่สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ โดยนายกฯ เข้ารับตำแหน่งได้เพียงหนึ่งเดือนควบคู่กับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

นายกฯ วิกรมสิงเห บอกว่า ศรีลังกาไม่สามารถสั่งนำเข้าพลังงานในขณะนี้ได้ เนื่องจากบริษัทพลังงานของรัฐบาลคือซีพีซีเป็นหนี้ 700 ล้านดอลลาร์ ทำให้ไม่มีประเทศหรือองค์กรใดต้องการขายน้ำมันให้ศรีลังกา

นายกฯ ศรีลังกาเข้ารับตำแหน่งหลังเกิดเหตุประท้วงรุนแรงต่อวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศ ทำให้นายกรัฐมนตรีคนก่อนต้องลงจากตำแหน่ง โดยนายกฯ วิกรมสิงเห กล่าวหารัฐบาลชุดก่อนว่า ดำเนินการล่าช้า ขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศของศรีลังการ่อยหรอลง

ศรีลังกา ซึ่งมีประชากร 22 ล้านคน กำลังประสบปัญหาไม่มีเงินตราต่างประเทศเพียงพอ ในการนำเข้าเชื้อเพลิงทำให้ขาดแคลนเชื้อเพลิงและก๊าซหุงต้ม จนที่ผ่านมาทางการต้องตัดไฟนานถึงวันละ 13 ชม. เพื่อประหยัดไฟ

นอกจากนี้ สภาพอากาศแห้งแล้งยังเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อศักยภาพการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การตัดไฟยิ่งซ้ำเติมความเดือนร้อนของประชาชน ที่ต้องประสบปัญหาขาดแคลนสินค้าจำเป็นและราคาสินค้าพุ่งสูง 

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติ ระบุว่า ราคาอาหารในเดือน มี.ค. เพิ่มสูงขึ้นถึง 30.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

วิกฤตเหล่านี้เป็นผลพวงมาจากมาตรการปรับลดภาษีในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมของรัฐบาล และผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ประกอบกับเงินคลังของรัฐบาลอ่อนแอ ทำให้สำรองเงินตราต่างประเทศร่อยหรอลงถึง 70% ภายในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จนเหลืออยู่เพียง 2,310 ล้านดอลลาร์ เมื่อเดือน ก.พ. ทำให้รัฐบาลต้องขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) และอีกหลายประเทศรวมถึงอินเดียและจีน ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของศรีลังกา