‘ปรามอิทธิพลรัสเซีย-จีน’ภารกิจหลักผู้นำจี7

‘ปรามอิทธิพลรัสเซีย-จีน’ภารกิจหลักผู้นำจี7

‘ปรามอิทธิพลรัสเซีย-จีน’ภารกิจหลักผู้นำจี7 โดยทั้ง 7 ชาติเตรียมสกัดอิทธิพลจีนด้วยการทุ่มงบ 600,000 ล้านดอลลาร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศกำลังพัฒนา

การประชุมสุดยอดประจำปีของกลุ่มชาติมหาอำนาจทางอุตสาหกรรม 7 ประเทศ หรือ จี-7 เปิดฉากขึ้นในช่วงบ่ายของวันอาทิตย์ (26 มิ.ย.)ที่โรงแรมชลอส เอลมาว บริเวณเทือกเขาบาวาเรีย ประเทศเยอรมนี ผู้นำทั้ง 7 ประเทศได้แก่

  1. ประธานาธิบดีโจ ไบเดนจากสหรัฐ
  2. ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส
  3. นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของอังกฤษ
  4. นายกรัฐมนตรีมาริโอ ดรากี ของอิตาลี
  5. นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด ของแคนาดา
  6. นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น
  7. นายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ เจ้าภาพ เยอรมนี

พร้อมกับแขกพิเศษได้แก่ เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป(อีซี) และชาร์ลส์ มิเชล ประธานคณะมนตรียุโรป หารือร่วมกันในประเด็นสำคัญ ๆ ระหว่างวันที่ 26-28 มิ.ย.

ปีนี้ มี 2 ประเด็น ที่เข้ามามีอิทธิพลบดบังวาระการประชุมคือ สงครามรัสเซีย-ยูเครน กับการขยายอิทธิพลของจีน
 

รัสเซียกำลังจะถูกลงโทษเพิ่มเติม หลังมติในที่ประชุมเห็นพ้องกันว่าจะออกคำสั่งห้ามนำเข้าทองคำจากรัสเซีย เพื่อเพิ่มแรงกดดันให้รัสเซียเลิกทำสงครามในยูเครน โดยจะออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการวันที่ 28 มิ.ย.นี้ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการประชุม เพราะทองคำเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของรัสเซีย เป็นสินค้าส่งออกอันดับ 2 รองจากพลังงาน 

เมื่อปี 2564  รัสเซียมีรายได้จากการส่งออกทองคำ 1.52 หมื่นล้านดอลลาร์ การห้ามนำเข้าทองคำจะทำลายความสามารถในการทำธุรกรรม ในระบบการเงินโลกของรัสเซีย แต่คำสั่งห้ามจะมีผลกับทองคำที่ขุดใหม่หรือสกัดใหม่ ไม่มีผลต่อทองคำที่ส่งออกมาจากรัสเซียก่อนหน้านี้

ในส่วนของจีนนั้น ผู้นำจี-7 มีแผนที่จะยับยั้งการขยายอิทธิพลของจีน ที่มีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ ในการเข้าไปสร้างสิ่งสาธารณูปโภคต่าง ๆ ในประเทศกำลังพัฒนา ตั้งแต่ ถนนหนทาง ตลอดจนสะพานและสนามบิน ภายใต้ยุทธศาสตร์ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road initiative) ที่จีนหวังเข้าไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงตลาดการค้าระหว่างจีนกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียและยุโรป

ทั้ง 7 ชาติ เตรียมสกัดด้วยการทุ่มงบ 600,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะมาจากโครงการริเริ่มของไบเดน 200,000 ล้านดอลลาร์ ที่รวมทั้งโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ในแองโกลา สร้างโรงงานผลิตวัคซีนในเซเนกัล, สร้างสายเคเบิลโทรคมนาคมสื่อสารใต้ทะเล ที่จะเชื่อมดินแดนตะวันออกไกล (Far East) กับฝรั่งเศสผ่านอิยิปต์, สร้างโรงงานนิวเคลียร์รูปแบบใหม่ให้แก่โรมาเนีย ที่เล็กกว่าและราคาถูกกว่าแบบเดิม โดยยืนยันว่าประเทศเหล่านี้ได้รับข้อเสนอที่ดีกว่าโครงการของจีน ที่พ่วงภาระหนี้มาด้วย

ไบเดน กล่าวว่า สหรัฐจะมอบเงินทุน 2 แสนล้านดอลลาร์ ให้กับกองทุนของรัฐบาลกลางและเอกชนในช่วง 5 ปีข้างหน้าเพื่อสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ในประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางที่ช่วยรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรวมถึงยกระดับสุขภาพ ความเท่าเทียมทางเพศ และโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลทั่วโลก

 “ผมขอพูดให้ชัดเจน สิ่งนี้ไม่ใช่การช่วยเหลือหรือการกุศล มันเป็นการลงทุนที่จะมอบผลตอบแทนให้กับทุกคน” ไบเดนกล่าวพร้อมเสริมว่า เงินทุนดังกล่าวจะช่วยให้ประเทศต่าง ๆ “เห็นผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมในการเป็นพันธมิตรกับกลุ่มประเทศประชาธิปไตย”

ไบเดน ระบุด้วยว่า เงินทุนเพิ่มเติมอีกหลายแสนล้านดอลลาร์จะมาจากธนาคารเพื่อการพัฒนาในระดับพหุภาคี สถาบันการเงินเพื่อการพัฒนา กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ และอื่น ๆ

ด้านฟอน เดอร์ เลเยน ประธานอีซี ก็รับปากว่า ยุโรปจะสนับสนุนเงินทุน 3 แสนล้านยูโรสำหรับโครงการนี้ในช่วง 5 ปีข้างหน้าเช่นกัน เพื่อสร้างทางเลือกที่ยั่งยืนแทนที่โครงการ BRI ของจีนที่ประธานาธิบดีสี เริ่มทำในปี 2556

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ผู้นำอิตาลี แคนาดา และญี่ปุ่น  ระบุเกี่ยวกับแผนการของประเทศตัวเองเช่นกัน โดยบางประเทศได้ประกาศแผนการแยกต่างหากไปแล้ว 

ส่วนประธานาธิบดีมาครง ของฝรั่งเศส และนายกรัฐมนตรีจอห์นสัน ของอังกฤษก็ยืนยันว่าจะเข้าร่วมโครงการนี้เช่นกัน

ขณะที่สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า สหรัฐ มีแนวโน้มที่จะประกาศเรื่องการซื้อระบบขีปนาวุธพิสัยกลางถึงไกลที่ยิงจากภาคพื้นสู่อากาศให้กับยูเครนในสัปดาห์นี้

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า สหรัฐมีแนวโน้มประกาศมาตรการช่วยเหลืออื่น ๆ ให้กับยูเครนด้วย ซึ่งรวมถึงการจัดสรรเครื่องกระสุนปืนใหญ่และเรดาร์ตรวจการณ์แบตเตอรี เพื่อตอบสนองความต้องการของกองทัพยูเครน โดยอาวุธชุดดังกล่าวเป็นความช่วยเหลือรอบล่าสุดที่สหรัฐเสนอให้กับยูเครน นับตั้งแต่รัสเซียยกพลบุกพื้นที่ภาคตะวันออกของยูเครนในเดือนก.พ.

ในเดือนนี้ ไบเดนได้จัดหาความช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครนไปแล้วคิดเป็นมูลค่า 700 ล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมถึงระบบจรวดขั้นสูงซึ่งสามารถโจมตีเป้าหมายระยะไกลได้อย่างแม่นยำ

ด้านเจ้าหน้าที่สหรัฐ เปิดเผยว่า อาวุธยุทธภัณฑ์ซึ่งรวมถึงกระสุน เรดาร์ตรวจจับการยิง เรดาร์สอดแนมทางอากาศ, ขีปนาวุธต่อต้านรถถังแจฟลิน (Javelin) และอาวุธต่อต้านยานเกราะเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการสนับสนุนทางการทหารยูเครนครั้งนี้เช่นกัน

แต่สหรัฐก็ระงับการขายโดรนติดอาวุธขนาดใหญ่ 4 ลำให้กับยูเครนเมื่อช่วงต้นเดือนนี้ เพราะวิตกกังวลว่า อุปกรณ์เรดาร์และสอดแนมอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านความมั่นคงต่อสหรัฐ หากตกไปอยู่ในมือของรัสเซีย