ผู้นำจี7 ถกเครียดสงครามยูเครนหลังเจอโควิด-19 ระบาดหนัก

ผู้นำจี7 ถกเครียดสงครามยูเครนหลังเจอโควิด-19 ระบาดหนัก

การประชุมผู้นำกลุ่มประเทศจี7 เปิดฉากขึ้นแล้ววานนี้ (26 มิ.ย.) ที่เยอรมนี การประชุมเป็นเวลาสามวันคาดว่าจะเต็มไปด้วยเรื่องสงครามในยูเครนและผลกระทบทุกอย่างนับตั้งแต่การขาดแคลนพลังงานไปจนถึงวิกฤติอาหาร

นายกรัฐมนตรีโอลาฟ โชลซ์ของเยอรมนีต้อนรับผู้นำจากอังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น และสหรัฐ ซึ่งการประชุมจี7 ปีนี้หนักหนาสาหัสกว่าปีก่อนตอนที่เหล่าผู้นำพบกันครั้งแรกหลังโควิด-19 ระบาด และต่างให้คำมั่นว่าจะฟื้นฟูประเทศให้ดีขึ้น แต่ปีนี้ราคาน้ำมันและอาหารกำลังสูงขึ้นทั่วโลก สร้างความเสียหายต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจผลจาก รัสเซียรุกรานยูเครน

เมื่อวันศุกร์ (24 มิ.ย.) สหประชาชาติเตือนถึงวิกฤติคนอดอยากทั่วโลกอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน การประชุมรอบนี้จึงเป็นโอกาสให้ผู้นำจี7 แสดงพลังสนับสนุนยูเครนตราบเท่าที่จำเป็น และเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาลเครมลิน แม้ไม่อยากคว่ำบาตรที่เป็นสาเหตุให้เงินเฟ้อสูงซ้ำเติมวิกฤติค่าครองชีพซึ่งส่งผลต่อประชาชนของตนเอง

“สารหลักจากจี7 คือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวและกระทำการร่วมกัน แม้ในช่วงเวลาอันยากลำบาก เราก็ยึดมั่นกับพันธมิตร” เจ้าหน้าที่สหภาพยุโรปรายหนึ่งเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์
 

แหล่งข่าววงในอีกรายเผยพันธมิตรจี7 เตรียมเห็นชอบห้ามนำเข้าทองคำจากรัสเซีย ต่อมาแหล่งข่าวรายหนึ่งจากรัฐบาลเยอรมนีกล่าวเสริมว่า เหล่าผู้นำหารือกันอย่างสร้างสรรค์ถึงความเป็นไปได้ในการควบคุมราคาน้ำมันนำเข้าจากรัสเซีย รวมถึงทางเลือกในการแก้ปัญหาราคาพลังงานสูงทุกขณะ การนำเข้าก๊าซและน้ำมันจากแหล่งอื่นทดแทนรัสเซีย

การประชุมผู้นำจี7 รอบนี้จัดขึ้นที่ปราสาท Schloss Elmau เชิงเขา Zugspitze ภูเขาที่สูงที่สุดในเยอรมนี ที่เดียวกับการประชุมในปี 2558 ตอนที่เยอรมนีเป็นเจ้าภาพครั้งล่าสุด ตอนนั้นประเด็นรัสเซียแข็งกร้าวกับยูเครนก็เป็นประเด็นหลักของการประชุม เนื่องจากจัดขึ้นหนึ่งปีหลังรัสเซียรุกรานไครเมีย

การประชุมครั้งนี้ยังเป็นโอกาสให้นายกรัฐมนตรีเยอรมนีในฐานะเจ้าภาพแสดงภาวะผู้นำมากขึ้นในวิกฤติยูเครน เขาให้คำมั่นปฏิวัตินโยบายต่างประเทศและกลาโหมหลังรัสเซียรุกรานยูเครนในเดือน ก.พ. รับปากว่าจะใช้กองทุน 1 แสนล้านยูโรเพิ่มขีดความสามารถของกองทัพและส่งอาวุธไปช่วยยูเครน

จี7 ก่อตั้งขึ้นในปี 1975 (พ.ศ.2518) เป็นเวทีให้ประเทศร่ำรวยที่สุดมาหารือกันเรื่องวิกฤติ เช่น โอเปกไม่ขายน้ำมัน ต่อมากลายเป็นจี8 เมื่อรัสเซียเข้าเป็นสมาชิกหลังสหภาพโซเวียตล่มสลายไปแล้วหกปี แต่ต่อมาถูกระงับสมาชิกภาพในปี 2014 (พ.ศ.2557) จากการผนวกไครเมียของยูเครนเป็นของตนเอง

แม้ความร่วมมือของผู้นำจี7 ถือว่าน่าพอใจในการเผชิญหน้าความแข็งกร้าวอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนของรัสเซีย ตรงกับคำมั่นที่ให้ไว้ในการประชุมปีก่อนว่าจี7 จะกระชับความเป็นพันธมิตรให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น แต่วิกฤติปีนี้หนักยิ่งกว่า

อย่งไรก็ตาม สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นระบุว่า ไม่อาจกล่าวโทษ ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียได้ทั้งหมด แต่การทำสงครามในยูเครนของเขาก็ไม่ชอบธรรม เกี่ยวข้องกับวิกฤติหลายประการที่กำลังก่อตัวอยู่ในขณะนี้ ถ้าไม่มีสงครามในยูเครนปัญหาต่างๆ ย่อมได้รับการแก้ไขง่ายขึ้นและเกิดผลกระทบน้อย

 การที่โลกขาดแคลนอาหารส่วนหนึ่งกล่าวได้ว่า เป็นผลจากปัญหาซัพพลายเชนทั่วโลกหลังโควิด-19 ระบาด แต่การที่รัสเซียขโมยข้าวสาลีไปจากยูเครน ปิดกั้นการขนส่งสินค้าของยูเครนในทะเลดำทำให้ข้าวสาลีและสินค้าเกษตรอื่นๆ ของยูเครนออกสู่ตลาดโลกไม่ได้ล้วนส่งผลกระทบสำคัญ

ข้อมูลจากหน่วยงานสหประชาชาติระบุ ปกติยูเครนส่งออกข้าวสาลี 40% ของโลก ส่งออกข้าวโพด 16% และน้ำมันดอกทานตะวันกว่า 40%

คณะกรรมาธิการกู้ภัยระหว่างประเทศ (ไออาร์ซี) องค์กรพัฒนาเอกชนระดับโลก กล่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ธัญพืชและข้าวสาลีส่งออกของยูเครน 98% ถูกปิดกั้น ขณะที่ราคาอาหารโลกพุ่งขึ้น 41% คาดว่าประชาชนจะอดอยากเฉียบพลันเพิ่มขึ้นอีก 47 ล้านคนในปีนี้

ที่ผ่านมาข้าวสาลีและธัญพืชยูเครนส่งออกไปยังประเทศที่ต้องการมากที่สุดในโลกจำนวนหนึ่ง เช่น ลิเบีย เลบานอน เยเมน โซมาเลีย เคนยา เอริเทรีย และเอธิโอเปีย เพื่อแก้ไขสถานการณ์จี7 จำเป็นต้องทำให้ประธานาธิบดีปูตินลดเป้าหมายสงครามลงมาบ้าง เช่น ยุติความขัดแย้ง ให้ยูเครนกลับมาคุมภูมิภาคดอนบาสให้ได้ทั้งหมด แต่ถึงขณะนี้ยังไม่มีข้อบ่งชี้ว่าเข้าใกล้สถานการณ์นั้นแล้ว

มาตรการหนึ่งที่ออกมาวานนี้ (26 มิ.ย.) เป็นมาตรการร่วมระหว่างอังกฤษ แคนาดา ญี่ปุ่น และสหรัฐ สี่มหาอำนาจจี7 เตรียมห้ามการนำเข้าทองคำรัสเซีย หวังหยุดยั้งไม่ให้คณะผู้ปกครองขายโลหะมีค่าชนิดนี้เพื่อหลบเลี่ยงผลกระทบจากการคว่ำบาตรรัฐบาลมอสโกได้

นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสันของอังกฤษ เผยว่า การกระทำร่วมกันนี้จะส่งผลต่อผู้ปกครองรัสเซียโดยตรง และโจมตีหัวใจกลไกการทำสงครามของประธานาธิบดีปูติน เนื่องจากลอนดอนมีบทบาทสำคัญในการค้าทองคำระหว่างประเทศ เมื่อควบคู่กับการดำเนินการของสหรัฐ ญี่ปุ่น และแคนาดา “มาตรการนี้ย่อมเข้าถึงทั้งโลก ปิดกั้นทองคำรัสเซียเข้าสู่ตลาดระหว่างประเทศอย่างเป็นทางการ”

ทองคำ สินค้าโภคภัณฑ์สำคัญในช่วงเวลาแห่งความผันผวน เป็นสินค้าส่งออกสำคัญของรัสเซีย ปี 2564 มีมูลค่าถึง 1.55 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่ตอนนี้เมื่อรัสเซียถูกคว่ำบาตรอย่างรุนแรง บรรดามหาเศรษฐีต่างเทขายทรัพย์สินอื่นหันมาซื้อทองคำเพื่อเลี่ยงผลกระทบจากข้อจำกัดทางการเงินเมื่อวันที่ 7 มี.ค. ตลาดทองคำแท่งลอนดอนประกาศไม่สังฆกรรมกับโรงหลอมทองคำรัสเซียแล้วหกแห่ง

ท่าทีล่าสุดจากสี่มหาอำนาจจี7 เกิดขึ้นหลังจากรัสเซียถล่มกรุงเคียฟครั้งแรกในรอบเกือบสามสัปดาห์ เล่นงานย่านที่พักอาศัยตั้งแต่เช้าตรู่  

วิตาลี คลิตช์โก นายกเทศมนตรีกรุงเคียฟกล่าวหลังเข้าตรวจอพาร์ตเมนต์หลังหนึ่งที่โดนโจมตีว่า เจ้าหน้าที่อพยพผู้พักอาศัยบางส่วน ประชาชนได้รับบาดเจ็บสองคนถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล หลายคนยังอยู่ใต้ซากปรักหักพัง

ส่วนเมืองเซเวโรโดเนตส์ก ศูนย์กลางอุตสาหกรรมสำคัญ นายกเทศมนตรีประกาศเมื่อวันเสาร์ (25 มิ.ย.) ว่า ถูกทหารรัสเซียยึดได้หมดแล้ว 

หลังสิ้นสุดการประชุมผู้นำจี7 จะมีการประชุมผู้นำองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ซึ่งสงครามในยูเครนจะยังคงเป็นวาระสำคัญที่โลกต้องจับตาต่อไป เพราะไม่ว่าผลการประชุมจะออกมาในทางใดย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกอย่างแน่นอน