สหรัฐทำสงครามสกัดเงินเฟ้อน้ำมัน-อาหารแพงทั่วแผ่นดิน

สหรัฐทำสงครามสกัดเงินเฟ้อน้ำมัน-อาหารแพงทั่วแผ่นดิน

เศรษฐกิจสหรัฐที่ใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลกถือเป็นปัจจัยสำคัญชี้นำทิศทางเศรษฐกิจโลกว่าจะเดินไปทางใด ในช่วงที่ราคาพลังงานพุ่งสูง เงินเฟ้อทั่วโลกสูงตามมา สภาพเศรษฐกิจสหรัฐจึงเป็นตัวบ่งชี้อนาคตโลกได้ระดับหนึ่ง

มูดี้ส์ สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศประกาศในวันศุกร์ (24 มิ.ย.) ว่า มูดี้ส์ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐไว้ที่ Aaa โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวจากผลกระทบของโรคโควิด-19 ได้อย่างแข็งแกร่งมาก

มูดี้ส์ ระบุในแถลงการณ์ว่า “มูดี้ส์คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจและเครดิตของสหรัฐยังคงสามารถรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ในปัจจุบันที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก อาทิ เงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง, ภาวะการเงินที่ตึงตัว และการที่รัสเซียบุกโจมตียูเครน”

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า มูดี้ส์ยังคงแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐไว้ที่ “มีเสถียรภาพ” ด้วย
 

ผู้สื่อข่าวกรุงเทพธุรกิจ ที่อยู่ระหว่างศึกษาดูงานในสหรัฐ มีโอกาสพูดคุยกับเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงาน พบว่า   นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 การออมเงินของชาวอเมริกันสูงขึ้นหลายล้านล้านดอลลาร์ และเพิ่มขึ้นเร็วที่สุดในรอบหลายทศตวรรษ โดยหลังจากสหรัฐได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ตอนนี้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนกว่าครึ่งหนึ่งได้เริ่มกลับมาทำงานปกติแต่ไม่ทั้งหมด ขึ้นอยู่กับนโยบายแต่ละรัฐ ส่วนหนึ่งยังคงให้ทำงานที่บ้าน (work from home) ส่งผลต่อบรรยากาศเศรษฐกิจเกือบจะเหมือนเดิม แต่ยังไม่เท่ากับช่วงก่อนโควิดระบาด

ขณะที่ชาวอเมริกันกำลังเผชิญภาวะเงินเฟ้อที่สูงสุดในรอบเกือบ 25 ปีหรือนับตั้งแต่ปี 2538 ไม่ได้มีแค่ราคาน้ำมันเท่านั้นที่แพงขึ้น สินค้าบริโภคอีกหลายประเภทก็พร้อมจะปรับราคาขึ้นตลอดเวลา บรรดาบริษัทที่ทำธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มก็ใช้โอกาสนี้ขึ้นราคาสินค้า โดยอ้างจากค่าขนส่งและวัตถุดิบประกอบอาหารที่พุ่งสูงขึ้น

 ที่ผ่านมาการใช้จ่ายของชาวเมริกันได้ขยับเพิ่มขึ้นมาก หลังผ่อนคลายมาตรควบคุมการแพร่ระบาดโรคแล้วเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยข้อมูลกระทรวงพาณิชย์สหรัฐระบุว่า การใช้จ่ายผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 0.9% ในเดือน พ.ค. เพราะคนในประเทศเริ่มซื้อตั๋วเครื่องบินเพื่อเดินทางข้ามรัฐ และระหว่างประเทศ เพื่อกลับมาท่องเที่ยว ออกไปดูกีฬา และหาประสบการณ์อื่นๆ ที่หยุดพักไปในช่วงโควิด-19 เช่นเดียวกับยอดซื้อรถยนต์ที่ขยับขึ้นเหมือนกัน หลังขาดแคลนชิปทำให้การผลิตรถหยุดชะงักไปหลายเดือน

ท่ามกลางความจำเป็นต้องปรับเพิ่มราคาน้ำมันในประเทศ โดยราคาน้ำมันน้ำมัน ณ วันที่ 25 มิ.ย.2565 พบว่า

  • แก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 6.99 ดอลลาร์ต่อแกลอน
  • แก๊สโซฮอล์ 87 อยู่ที่ 5.97 ดอลลาร์ต่อแกลลอน
  • แก๊สโซฮอล์ 83 อยู่ที่ 5.43 ดอลลาร์ต่อแกลลอน
  • ดีเซล อยู่ที่ 5.79 ดอลลาร์ต่อแกลลอน

หากแต่รายได้คนในประเทศก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน เป็นผลจากตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งขึ้นจากภาวะก่อนหน้า และอัตราค่าจ้างได้ขยับเติบโตเร็วที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ซึ่งพบว่าอัตรารายได้ในเดือน พ.ค. เมื่อนับไปหักภาษีแล้ว เพิ่มขึ้น 0.3% จากเดือนก่อน และเริ่มทรงตัวหลังคำนวณอัตราเงินเฟ้อแล้ว

ก่อนหน้านี้รัฐบาลสหรัฐได้ทุ่มงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการบริโภคประชาชนเป็นระยะๆ เป็นเงินกว่า 2.5 ล้านล้านดอลลาร์ ได้ช่วยให้ผู้บริโภคใช้จ่ายได้บ้างแม้ราคาสินค้าจะสูงขึ้น แต่ก็ดีขึ้นกว่าฤดูใบไม้ร่วงปีที่แล้ว

สถานการณ์ในระยะยาวคาดว่า เร็วๆ นี้ผู้บริโภคจะได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าที่สูงขึ้น ข้อมูลกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเผยว่า ในเดือนเม.ย. ราคาสินค้าบริโภคเพิ่มขึ้น 0.2% จากเดือนก่อนหน้า หรือขยับขึ้น 6.3% จากปีก่อนหน้า ล้วนเป็นผลจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเร็วที่สุด นับตั้งแต่ปี 2525

ขณะที่เดือน พ.ค. ราคาอาหารในสหรัฐพุ่งขึ้น 10.1% เมื่อเทียบรายปี และราคาสินค้าอุปโภคเพิ่มขึ้น 11.9% แซงหน้าราคาสินค้าในร้านอาหารและซื้อกลับบ้านอยู่ที่ 7.4%

ถึงอย่างไร ยังคงมีความจำเป็นต้องจับตาดูดัชนีรายจ่ายเพื่อการบริโภครายบุคคลและครัวเรือนอย่างใกล้ชิดในเดือน มิ.ย. อย่างใกล้ชิด หลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.75% สู่ระดับ 1.50-1.75% ถือเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่สุดในรอบ 28 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2537 เพื่อบรรเทาเศรษฐกิจที่ร้อนแรงให้เย็นลง และควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่ไม่ควรสูงเกินระดับปัจจุบัน

นักวิเคราะห์สหรัฐมองว่า มาตรการช่วยเหลือผู้บริโภค โดยการแยกประเภทสินค้าอาหาร กับเชื้อเพลิงที่ยังคงมีความผันผวนอยู่ในขณะนี้ ทำให้เห็นว่าเฉพาะราคาสินค้าอาหารได้เพิ่มขึ้น 4.9% ในเดือนเม.ย.เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้น 0.3% จากเดือนก่อนหน้า หรือเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในเดือน มี.ค.

 แต่เมื่อมองในด้านผู้ผลิตสินค้าอาหารและเครื่องดื่มในระยะนี้ พบว่า พวกเขาได้พยายามปรับธุรกิจให้รับกับพฤติกรรมผู้บริโภคท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อ เช่น การเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทาน คิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆด้วยการผสมผสานให้เกิดสินค้าที่ใช้คุ้มค่ากว่า หรือวิธีการจัดการกับต้นทุนเป็นต้น

แน่นอนว่า ปัญหาการค้าที่มีกับจีนมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนก็มีส่วนสำคัญผลักดันราคาอาหารและเครื่องดื่มในสหรัฐให้สูงขึ้นและเห็นได้ชัดด้วย ก็เพราะมาตรการล็อกดาวน์ในจีนที่ทำให้ต้องปิดโรงงาน รวมทั้งการที่รัสเซียรุกรานยูเครน ทำให้แหล่งสินค้าธัญพืชและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆที่ส่งออกมาจากสองประเทศนี้ลดลงไป นอกจากนี้ ตู้คอนเทนเนอร์มากมายยังติดอยู่ในท่าเรือเพราะเรือขนส่งส่วนใหญ่ยังออกมาไม่ได้

ภาวะอาหารและเชื้อเพลิงแพงเช่นนี้ ที่ยังไม่รวมถึงยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19  ยังเพิ่มขึ้นในบางรัฐ ได้สร้างความไม่แน่นนอนและความมั่นใจให้ชาวอเมริกันโดยรวม ซึ่งหลายคนยังกลัวการขาดแคลนทำให้ต้องกักตุนอาหาร โดยมีแนวโน้มว่าผู้บริโภคเองก็จัดลำดับความสำคัญครั้งใหญ่ในการซื้ออาหารที่จำเป็นมากกว่า

อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อมีอิทธิพลอย่างมากต่อพฤติกรรมการซื้อและการออม สำนักงานสถิติการค้าสหรัฐ ระบุว่า ชาวอเมริกัน 59% คิดว่า พวกเขาจะลดการใช้จ่ายเพื่อการออม และ 77% ลดการใช้จ่ายด้านความบันเทิงและการรับประทานอาหารนอกบ้าน ถ้าผู้คนรู้สึกดีพวกเขาจะใช้จ่ายมากขึ้น หากเป็นกังวลก็จะชะลอการซื้อ เช่น อาหารในร้านอาหาร โดยสองในสามของคนอเมริกันคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะแย่ลงในปีหน้า 30% คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะแย่ลงมาก จนเรียกว่า antici-flation

 ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อ ผู้บริโภคได้เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายในลักษณะที่ก่อให้เกิดผู้ชนะและผู้แพ้ด้านอาหารและเครื่องดื่ม แบรนด์ร้านค้าแข็งแกร่งขึ้นเนื่องจากผู้บริโภคพยายามประหยัด ยอดขายหน่วยบริโภคสำหรับแบรนด์ระดับประเทศลดลง 2.5% เมื่อเทียบกับ 2.1% สำหรับแบรนด์ร้านค้าในช่วง 52 สัปดาห์ก่อนหน้านี้

ชาวอเมริกันหวั่นวิตกว่า การปรับขึ้นค่าพลังงานส่งผลกระทบต่อธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มและอุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างหนัก รวมถึงค่าธรรมเนียมเชื้อเพลิง ดัชนีพลังงานเพิ่มขึ้น 34.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี ณ เดือน พ.ค. ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 12 เดือนนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2548

อย่างไรก็ตาม มีความเป็นได้ว่า บริษัทอาหารและเครื่องดื่มมองหาแนวทางสร้างสมดุลระหว่างต้นทุนที่เพิ่มขึ้นกับความสามารถในการจัดการอัตราเงินเฟ้อ ราคาอาจสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องสำหรับผลิตภัณฑ์ของบริษัทบางแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่เฟดได้ตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อเร็วๆ นี้ หวังจัดการกับอัตราเงินเฟ้อพุ่งแรงติดจรวด