"กฎหมายแรงงาน" สหรัฐ คุกคามอุตฯสิ่งทอโลก

"กฎหมายแรงงาน" สหรัฐ คุกคามอุตฯสิ่งทอโลก

สภาเสื้อผ้าและสิ่งทอแห่งชาติของจีน (ซีเอ็นทีเอซี) แถลงว่าการที่สหรัฐห้ามนำเข้าสินค้าทุกประเภทจากเขตปกครองตนเองซินเจียง อุยกูร์ของจีน เป็นการละเมิดกฏระเบียบทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน กลายเป็นประเด็นในโลกธุรกิจอีกครั้ง หลังจากกฎหมายต่อต้านการบังคับใช้แรงงานของสหรัฐ ที่พุ่งเป้าไปที่การบังคับใช้แรงงานที่ซินเจียงมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. ล่าสุด เมื่อวันพุธ (22 มิ.ย.) สภาเสื้อผ้าและสิ่งทอแห่งชาติของจีน (ซีเอ็นทีเอซี) แถลงว่าการที่สหรัฐห้ามนำเข้าสินค้าทุกประเภทจากเขตปกครองตนเองซินเจียง อุยกูร์ของจีนเป็นการละเมิดกฏระเบียบทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

ซีเอ็นทีเอซี ระบุว่า สภาฯขอคัดค้านคำสั่งห้ามนำเข้าของสหรัฐครั้งนี้ ที่ไม่เพียงสร้างความเสียหายต่อผลประโยชน์โดยรวมของอุตสาหกรรมสิ่งทอจีนเท่านั้น แต่ยังเป็นภัยคุกคามการดำเนินธุรกิจของอุตสาหกรรมสิ่งทอทั่วโลกด้วย 

ถ้อยแถลงของซีเอ็นทีเอซี มีขึ้นหลังจากกฎหมายป้องกันการบังคับใช้แรงงานอุยกูร์ (Uyghur Forced Labor Prevention Act) เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายเล่นงานจีนเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวมุสลิมอุยกูร์กับชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ เพราะไม่อยากเสี่ยงที่จะมีมลทินจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มาจากการใช้แรงงานทาส 

สหรัฐห้ามนำเข้าสินค้าจากซินเจียง ที่เป็นเขตปกครองตนเองที่ใหญ่ที่สุดของจีน เว้นแต่จะมีหลักฐานที่ชัดเจนว่าผลิตภัณฑ์ไม่ได้มาจากการบังคับใช้แรงงาน ด้านจีน ระบุว่ากฏหมายนี้เป็นการบีบบังคับทางเศรษฐกิจ, ใส่ร้าย และอ้างปัญหาสิทธิมนุษยชนมาเป็นเครื่องมือเพื่อกด อุตสาหกรรมที่เป็นประโยชน์ของซินเจียง เช่น ฝ้าย มะเขือเทศ และแผงพลังงานแสงอาทิตย์

ซีเอ็นทีเอซี ระบุว่า ฝ้ายจากซินเจียง ซึ่งได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่าเป็นฝ้ายคุณภาพดี มีสัดส่วนประมาณ 20% ของผลผลิตฝ้ายทั่วโลก ทั้งยังเป็นสิ่งค้ำประกันที่สำคัญสำหรับการพัฒนาอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนของอุตสาหกรรมสิ่งทอจีนและสิ่งทอโลก

“กฏหมายนี้ของสหรัฐไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายแก่อุตสาหกรรมสิ่งทอจีนแต่ยังสร้างอันตรายอย่างใหญ่หลวงด้านความมั่นคงและเสถียรภาพของอุตสาหกรรมสิ่งทอ รวมถึงระบบซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมสิ่งทอโลกและทำลายผลประโยชน์ของแรงงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอทั่วโลกด้วย” ซีเอ็นทีเอซี ระบุ

ในมุมมองของนักวิเคราะห์ มีความเห็นว่า กฎหมายฉบับนี้จะเป็นอุปสรรคขัดขวางการค้าระหว่างประเทศ ทำลายเสถียรภาพของห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก ธุรกิจที่เน้นการส่งออกบางแห่งในซินเจียง อาจได้รับผลกระทบบ้าง แต่การที่สหรัฐจะใช้อาวุธด้านสิทธิมนุษยชน มาจำกัดการพัฒนาทางเศรษฐกิจของจีนเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ 

เนื่องจากตลาดจีนที่มีขนาดใหญ่ ประกอบกับความต้องการของตลาดโลกยังคงเปิดโอกาสสำหรับผู้ประกอบการในซินเจียง ต่อให้สหรัฐปิดประตูไม่ต้อนรับก็ไม่อาจทำลายความสามารถในการแข่งขันของผลิตภัณฑ์จากซินเจียงได้

กระทรวงพาณิชย์ของจีน ระบุว่า จะใช้มาตรการที่จำเป็นในการปกปักและธำรงไว้ซึ่งอำนาจธิปไตย ความมั่นคงและผลประโยชน์ด้านการพัฒนาของชาติ และบอกด้วยว่า การกระทำของสหรัฐจะสร้างความเสียหายที่ร้ายแรงต่อผลประโยชน์ ทั้งของผู้บริโภคชาวจีนและชาวอเมริกัน  ทั้งยังไม่ส่งผลดีอย่างยิ่งต่อเสถียรภาพของอุตสาหกรรมโลกและห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงความพยายามบรรเทาวิกฤตเงินเฟ้อและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ที่ผ่านมา สภาคองเกรสของสหรัฐ ระบุว่า จีนกักขังชาวอุยกูร์และชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมอื่น ๆ จำนวนกว่า 1 ล้านคน นับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา และเชื่อว่าชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ถูกบังคับให้ทำงานหนักแลกกับค่าแรงขั้นต่ำอันน้อยนิดในซินเจียงและมณฑลอื่น ๆ ภายใต้“โครงการบรรเทาความยากจนและการช่วยเหลือด้านอุตสาหกรรม”ของรัฐบาลจีน

“เจีย ชุนหยาง” ผู้เชี่ยวชาญจาก China Institutes of Contemporary International Relations ให้สัมภาษณ์โกลบอล ไทม์สว่า กฏหมายนี้ของสหรัฐที่ห้ามบริษัทอเมริกันใช้วัตถุดิบจากซินเจียงในระบบห่วงโซ่อุปทาน ขัดต่อกฏระเบียบการค้าระหว่างประเทศ ที่รวมถึงกฏระเบียบและข้อกำหนดต่างๆขององค์การการค้าโลก(ดับเบิลยูทีโอ)

ส่วน“จ้าว ลี่เจียน” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน กล่าวเมื่อวันที่ 2 มิ.ย.ว่า หากกฎหมายป้องกันการบังคับใช้แรงงานอุยกูร์มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการจะส่งผลกระทบโดยตรงอย่างรุนแรงต่อความร่วมมือระหว่างนักธุรกิจชาวจีนและชาวอเมริกัน ทั้งยังทำลายเสถียรภาพของระบบห่วงโซ่อุปทานโลก และท้ายที่สุดจะส่งผลกระทบในทางลบต่อผลประโยชน์ของสหรัฐเอง