‘วันโยคะสากล’ จากศาสตร์โบราณสู่'ซอฟต์พาวเวอร์'อินเดีย

‘วันโยคะสากล’ จากศาสตร์โบราณสู่'ซอฟต์พาวเวอร์'อินเดีย

สหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 21 มิ.ย. เป็นวันโยคะสากลในปี 2557 ผลจากการผลักดันของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ผู้ฝึกโยคะเป็นประจำ ถือเป็นบทพิสูจน์ชัดว่าศาสตร์แขนงนี้คือหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ของอินเดีย

โยคะ เป็นศาสตร์โบราณที่มีอายุกว่า 5,000 ปี ยาวนานยิ่งกว่าศาสนาและระบบความเชื่อใดๆ  ได้รับความนิยมในระดับนานาชาติเมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา ในฐานะที่เป็นศาสตร์องค์รวมสำหรับการดูแลร่างกายและจิตใจ นายกรัฐมนตรีโมดี ผู้ฝึกโยคะและสมาธิทุกเช้า พยายามทำให้โยคะเป็นสินค้าส่งออกทางวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของอินเดีย พร้อมตั้งกระทรวงโยคะขึ้นมาโดยเฉพาะ

ในวันโยคะสากล 21 มิ.ย. ผู้คนทั่วทั้งอินเดียจะร่วมกันฝึกโยคะ ไฮไลท์อยู่ที่งานที่นายกฯ โมดีเป็นประธาน ในประเทศอื่นๆ ทั่วโลกก็มีการเฉลิมฉลองวันโยคะสากลเช่นกัน ในประเทศไทยสถานเอกอัครราชทูตอินเดียจัดงานในวันอาทิตย์ (19 มิ.ย.) ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร งานปีนี้โดดเด่นตรงที่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมาร่วมงานด้วย ส่วนวันนี้จัดที่วัดมหาธาตุในอุทยานประวัติศาสตร์อยุธยา 

เมื่อมองในภาพรวมเห็นได้ว่า วันโยคะสากลได้รับการเฉลิมฉลองมากขึ้นๆ ถือเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของอินเดียโดยแท้ ความพยายามของนายกฯ โมดีในการผลักดันให้โยคะได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติส่งผลอย่างแท้จริง แต่แท้จริงแล้วโมดีไม่ใช่ผู้นำอินเดียคนแรกที่ฝึกโยคะเป็นประจำ ชวาหะร์ลาล เนห์รู  นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดียก็ฝึกโยคะ ภาพคลาสสิกของเขาคือท่าศีรษะอาสนะ (ยืนด้วยศีรษะ) เจ้าตัวเคยบรรยายถึงอาสนะนี้ว่า

"ในบรรดาการออกกำลังกายที่ผมชอบมากเป็นพิเศษอันหนึ่งคือ ศีรษะอาสนะ ยืนบนศีรษะด้วยฝ่ามือ นิ้วประสานกัน พยุงหลังศีรษะ ข้อศอกวางบนพื้น ลำตัวตั้งตรง เท้าชี้ขึ้น ผมคิดว่าการออกกำลังท่านี้ดีมาก ที่ชอบมากคือผลทางจิตใจ ท่าตลกเล็กๆ แบบนี้ทำให้ผมอารมณ์ดี อดทนกับเรื่องแปรปรวนในชีวิตได้มากขึ้นอีกนิด"

‘วันโยคะสากล’ จากศาสตร์โบราณสู่\'ซอฟต์พาวเวอร์\'อินเดีย

เลดี้พาเมลา ฮิกส์ ธิดาคนเล็กของลอร์ดหลุยส์ เมานท์แบตเทน ผู้สำเร็จราชการคนสุดท้ายของอังกฤษ กับเลดี้เอ็ดวินา ผู้ใช้ชีวิตอยู่ในอินเดียช่วงสุดท้ายก่อนได้รับเอกราช  และรู้จักกับเนห์รูตั้งแต่ยังไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี  เล่าว่า วันหนึ่งเนห์รูเคยฝึกโยคะให้ดูแล้วจบลงด้วยท่า “ศีรษะอาสนะ” 

“นี่คือความพยายามแก้ปัญหาอินเดียของผมในทุกๆ เช้า” เนห์รูกล่าวกับพาเมลา 

อินเดียได้รับเอกราชในปี 1947 ครั้นถึงเดือน ก.พ.ปี 1968 ทั่วโลกต้องหันมามองอินเดียอีกครั้ง เมื่อ The Beatles วงดนตรีชื่อก้องโลกที่กำลังโด่งดังสุดๆ ต้องการแสวงหาที่พักพิงทางใจจากการเป็นคนดัง พวกเขาเลือกมาฝึกสมาธิที่อาศรมมหาฤาษี มเหศ โยคี ในเมืองฤาษีเกศของอินเดีย  การมาของวงดนตรีดังระดับโลกกลายเป็นข่าวใหญ่ ช่วยให้การทำสมาธิ ดนตรีอินเดีย การทำโยคะ และวิถีแห่งโลกตะวันออกได้รับความสนใจจากโลกตะวันตกไปด้วย และไม่น่าเชื่อว่าพอล แมคคาร์ทนีย์ สมาชิกสี่เต่าทองหนึ่งในสองรายที่ยังมีชีวิตอยู่และเพิ่งฉลองวันเกิด 80 ปี ไปเมื่อวันเสาร์ 18 มิ.ย. ก็ฝึกโยคะด้วยเช่นกันโดยเฉพาะโยคะดวงตาที่ช่วยให้สายตาแข็งแรงไม่ต้องพึ่งพาแว่น 

ปัจจุบันประเมินว่าภายในปีนี้จะมีคนฝึกโยคะทั่วโลกกว่า 300 ล้านคน หากมองเฉพาะการออกกำลังกาย โยคะแตกต่างจากการออกกำลังกายชนิดอื่นตรงที่ทำได้ทุกวัย แต่โยคะเป็นมากกว่านั้น 

สุจิตรา ดูไร เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย เคยกล่าวกับกรุงเทพธุรกิจเนื่องในวันโยคะสากลปี 2563 ว่า ในภาษาสันสกฤตคำว่า “โยคะ” หมายถึงการรวมตัวกัน (Union) "ดังนั้นโยคะจึงเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นหนึ่งเดียวของจิตใจและร่างกาย ความคิดและการกระทำ การยับยั้งชั่งใจและความสมปรารถนา ความกลมเกลียวระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ และวิธีการแบบองค์รวมเพื่อสุขภาพและสุขภาวะ ซึ่งการที่มีประชาชนนับล้านๆ คนทั่วโลกร่วมงานวันโยคะสากลที่จัดขึ้นในวันที่ 21 มิ.ย.ของทุกปี นับตั้งแต่ปี 2558 ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความสำเร็จของอินเดียในการส่งเสริมโยคะให้เป็นที่นิยมทั่วโลก"

‘วันโยคะสากล’ จากศาสตร์โบราณสู่\'ซอฟต์พาวเวอร์\'อินเดีย

สำหรับวันที่ 21 มิ.ย.ปีนี้ก็ไม่แตกต่างจากปีก่อนๆ ที่มีคนออกมาร่วมกิจกรรมสำคัญนี้มากมาย ยิ่งเห็นภาพผู้คนฝึกโยคะกันมากเท่าใดก็ยิ่งตอกย้ำความเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของอินเดียมากเท่านั้น