ปัญหาเงินเฟ้อทะยานป่วนแผนธุรกิจ บริษัทชั้นนำโลก

ปัญหาเงินเฟ้อทะยานป่วนแผนธุรกิจ บริษัทชั้นนำโลก

ปัญหาเงินเฟ้อทะยานป่วนแผนธุรกิจบริษัทชั้นนำโลก และกรณีของซัมซุงที่ชะลอการจัดซื้อ สะท้อนให้เห็นว่าผู้ผลิตในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีมุมมองลบเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจท่ามกลางความเสี่ยงเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อทั่วโลก

ภาวะเงินเฟ้อที่กำลังเล่นงานทั่วโลกในขณะนี้ ทำให้บริษัทชั้นนำของโลกหลายแห่งต้องปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อตั้งรับ ทั้งลดการจัดซื้อจัดจ้างลงชั่วคราว บางแห่งตัดสินใจลดพนักงานที่ถือเป็นการลดต้นทุนด้านบุคลากร และบางแห่งอยู่ในขั้นไม่สามารถแบกรับปัญหาต่อไปได้ จึงตัดสินใจประกาศล้มละลาย

 เว็บไซต์นิกเคอิ เอเชีย รายงานสถานการณ์เรื่องนี้ โดยระบุถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้และเป็นบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำของโลกอย่างซัมซุง ที่ตัดสินใจลดการจัดซื้อจัดจ้างลงชั่วคราว ด้วยการขอให้บรรดาผู้ผลิตชิ้นส่วน และบรรดาซัพพลายเออร์ด้านต่างๆ ของบริษัทชะลอการจัดส่งสินค้าให้แก่บริษัทไปก่อนนานหลายสัปดาห์ เนื่องจากสินค้าคงคลังมีปริมาณมาก และประกอบกับปัญหาภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทั่วโลก 
 

แหล่งข่าววงในที่ใกล้ชิดกับเรื่องนี้ 4 คน เปิดเผยกับนิกเคอิ เอเชีย ว่า ซัมซุงได้แจ้งเรื่องระงับการจัดซื้อแก่บรรดาซัพพลายเออร์ที่รับจ้างผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และผลิตชิปให้แก่บริษัทเพื่อนำไปประกอบหรือใช้ในการผลิตทีวี อุปกรณ์ต่างๆ ไปจนถึงเครื่องใช้ภายในบ้านและสมาร์ทโฟน  

การเคลื่อนไหวของซัมซุง ซึ่งถือเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟน และทีวีอันดับหนึ่งของโลกทั้งยังเป็นหนึ่งในผู้จัดหาเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านของโลก สะท้อนให้เห็นว่าบรรดาผู้ผลิตในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีมุมมองในเชิงลบเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจท่ามกลางความเสี่ยงเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อทั่วโลก

การระงับจัดซื้อสินค้าของซัมซุงมีขึ้นในวันเดียวกับที่รัฐบาลเกาหลีใต้ ปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อปี 2565 ท่ามกลางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งสูงขึ้น และอุปสงค์ภายในประเทศที่ฟื้นตัว

กระทรวงเศรษฐกิจและการคลังเกาหลีใต้ ปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อที่อิงกับดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ปี 2565 สู่ระดับ 4.7% ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากระดับ 2.2% ที่คาดการณ์เมื่อ 6 เดือนก่อน

การคาดการณ์เงินเฟ้อของรัฐบาลสูงกว่าคาดการณ์ของธนาคารกลางเกาหลี (บีโอเค) ที่ระดับ 4.5% สถาบันเพื่อการพัฒนาเกาหลี (เคดีไอ) ที่ระดับ 4.2% และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่ระดับ 4.0%

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา องค์การเพื่อความร่วมมือ และการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อของเกาหลีใต้เป็น 4.8% จาก 2.1%

กระทรวงการคลังเกาหลีใต้ ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นเป็นผลมาจากปัจจัยด้านอุปทาน เช่น ราคาวัตถุดิบโลกที่พุ่งสูงขึ้น และการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่บรรเทาลง

ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ยังคงปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีนี้ โดยเพิ่มขึ้น 3.6% ในเดือนม.ค. 3.7% ในเดือนก.พ. 4.1% ในเดือนมี.ค. 4.8% ในเดือนเม.ย. และ 5.4% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังเกาหลีใต้คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI ปี 2566 จะเพิ่มขึ้น 3.0%

นอกจากบริษัทชั้นนำของเกาหลีใต้อย่างซัมซุงต้องปรับตัวเพื่อรับมือสถานการณ์เศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงขาลงแล้ว บริษัทชั้นนำอื่นๆ ก็เจอผลกระทบเช่นกัน อย่างกรณี "แดเนียล เอ็ก" ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร(ซีอีโอ)ของสปอติฟาย ที่ส่งอีเมลถึงพนักงานโดยระบุว่า บริษัทจะลดการจ้างงานลง 25% และจะระมัดระวังกับระดับการจ้างงานใหม่ในช่วง 2-3 ไตรมาสข้างหน้า

สำนักข่าวซีเอ็นบีซี รายงานว่า การเปิดเผยของสปอติฟายถือเป็นสัญญาณล่าสุดว่า บริษัทต่างๆ ในภาคเทคโนโลยี ซึ่งหลายแห่งขยายตัวอย่างมากในช่วงเริ่มต้นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กำลังชะลอการจ้างพนักงานเพิ่ม เนื่องจากยังคงมีความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ แม้ว่าการจ้างงานในภาคเทคโนโลยียังคงขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง แต่บริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งชะลอการจ้างงาน หรือไม่ก็ปรับลดพนักงานลงในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา รวมถึงการปลดพนักงานของบริษัทคอยน์เบส และการชะลอจ้างงานของบริษัทเมตา ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของเฟซบุ๊ก

“พอล โวเกล” ประธานคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน(ซีเอฟโอ)ของสปอติฟาย กล่าวในวันพบนักลงทุนของบริษัทว่า “เราตระหนักดีว่ามีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลก และขณะเดียวกัน เราก็ยังไม่เห็นผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญใดๆ ต่อธุรกิจของเรา เรากำลังจับตามองสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และจะประเมินการจ้างงานเพิ่มของเราในระยะเวลาอันใกล้นี้”

ขณะที่ “เรฟลอน อิงค์” บริษัทเครื่องสำอางยักษ์ใหญ่ สัญชาติอเมริกัน ซึ่งมีประวัติยาวนานถึง 90 ปี ได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอการพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 11 ของกฎหมายล้มละลายแห่งสหรัฐ เนื่องจากบริษัทมีหนี้สินสูงเกินที่จะควบคุมได้ ท่ามกลางวิกฤติซัพพลายเชนและปัญหาเงินเฟ้อ

เรฟลอนได้ยื่นขอการคุ้มครองจากศาล พร้อมระบุตัวเลขสินทรัพย์และหนี้สินไว้สูงถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยเรฟลอนได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขณะเดียวกัน ยอดขายก็ลดลงต่อเนื่องมาหลายปี เพราะผู้บริโภคมีความชอบไม่เหมือนเดิม และมีแบรนด์อื่นๆ เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาด

การยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 11 จะเปิดโอกาสให้บริษัทดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แต่ก็ต้องกำหนดแผนการใช้หนี้ด้วย

ทั้งนี้ เรฟลอนเริ่มทำธุรกิจด้วยการจำหน่ายยาทาเล็บ ก่อนจะขยายธุรกิจสู่การจำหน่ายลิปสติก และเติบโตจนกลายเป็นแบรนด์ระดับโลกเมื่อปี 2498

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์