'อากาศร้อน - อารมณ์เดือด' เหตุรุนแรงอาวุธปืนสหรัฐเพิ่ม

'อากาศร้อน - อารมณ์เดือด' เหตุรุนแรงอาวุธปืนสหรัฐเพิ่ม

เมื่อเร็วๆ นี้ เหตุรุนแรงจากอาวุธปืนเพิ่มขึ้นทั่วสหรัฐ ตั้งแต่การสังหารหมู่ที่โรงเรียนในเท็กซัสไปจนถึงกราดยิงในโรงพยาบาลเมืองทัลซา และอีกหลายเหตุการณ์ที่เป็นข่าวไม่ดัง เหตุการณ์ทั้งหมดสอดรับกับสิ่งที่ตำรวจเชื่อมานาน “ฆาตกรรมเพิ่มเมื่ออากาศร้อนขึ้น”

นักอาชญวิทยาเขียนถึงความเชื่อมโยงระหว่างสองปัจจัยนี้มาหลายสิบปีแล้ว งานวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้ยิ่งมีรายละเอียดมากขึ้นถึงความสัมพันธ์อันชัดเจนระหว่างอุณหภูมิกับอัตราการเกิดอาชญากรรม สำหรับคนที่ศึกษาในประเด็นนี้ ปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้องมีทั้งสามัญสำนึก และกลไกที่อาจเห็นได้ไม่ชัดเจนด้วย

ปัจจัยแรกที่เห็นได้ชัดคือ “ถ้ารอบๆ ตัวไม่มีคนก็ยิงใครไม่ได้” เดวิด เฮเมนเวย์ ศาสตราจารย์ด้านนโยบายสุขภาพ วิทยาลัยสาธารณสุขฮาร์วาร์ดทีเอช จัน กล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพีถึงเหตุผลว่าทำไมอาชญากรรมอาวุธปืนจึงต่ำในช่วงที่อากาศไม่ดี

ปัจจัยที่ 2 เป็นแนวคิดที่ชวนโต้แย้งยิ่งขึ้น นั่นคือ ความร้อนอาจเพิ่มความขัดแย้งได้ด้วยตัวของมันเอง

ตรงข้ามกับความคิดที่ว่าอากาศดีทำให้คนต้องการออกนอกบ้านมากขึ้น

แม้มีหลายสาเหตุอยู่เบื้องหลังเหตุรุนแรงจากอาวุธปืนในสหรัฐเพิ่มขึ้น แต่อากาศก็มีบทบาทสำคัญอย่างมากในโลกที่ร้อนเร็วขึ้นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

วันอบอุ่นในเดือนหนาว

เฮเมนเวย์ กล่าวว่า เขาสนใจความสัมพันธ์ระหว่างความร้อนกับอาชญากรรมสูงขึ้นมานานแล้วจากสภาพที่แบ่งกันชัดเจนระหว่างภาคเหนือ-ภาคใต้ในสหรัฐ และอิตาลี รวมถึงรัฐสแกนดิเนเวียทางยุโรปเหนือกับประเทศเมดิเตอร์เรเนียนทางตอนใต้

ปี 2563 เขาเขียนรายงานร่วมกับลูกศิษย์นามพอล รีปปิง ตีพิมพ์ใน Injury Epidemiology ศึกษาเมืองชิคาโกระหว่างปี 2555-2559 ศึกษาจากรายงานข่าวในหนังสือพิมพ์ชิคาโกทริบูน วัดจำนวนเหตุยิงกันต่อวัน จากนั้นเปรียบกับอุณหภูมิสูงสุดประจำวัน ความชื้น ความเร็วลม ความแตกต่างของอุณหภูมิกับค่าเฉลี่ยในอดีต ชนิดและปริมาณน้ำฝน

พวกเขาพบว่า อุณหภูมิสูงขึ้น 10 องศาเซลเซียส เกี่ยวข้องอย่างมากกับการยิงกันในวันทำงานเพิ่มขึ้น 34% และเพิ่มขึ้น 42% ในวันหยุดหรือสุดสัปดาห์ นอกจากนี้อุณหภูมิที่สูงกว่าอุณหภูมิเฉลี่ย10 องศาเซลเซียสยังเกี่ยวข้องกับอัตราการยิงเพิ่มขึ้น 33.8%

อีกนัยหนึ่ง เฮเมนเวย์ กล่าวว่า ไม่ใช่แค่ความร้อนที่สำคัญ แต่เป็นความร้อนสัมพัทธ์ “ในฤดูหนาว มีการยิงกันมากขึ้นในวันที่อากาศไม่ได้ร้อนเหมือนในฤดูร้อน แต่เป็นวันที่อุ่นในฤดูหนาว”

รายงานอีกชิ้นหนึ่งใหม่กว่านั้นนำโดยลีห์ ชีนาซี แห่งมหาวิทยาลัยเดรกเซล ตีพิมพ์ในวารสารสุขภาพเขตเมืองในปี 2560 ศึกษาอาชญากรรมรุนแรงในฟิลาเดลเฟีย

“ดิฉันอยู่ในฟิลาเดลเฟีย ยังจำได้ตอนปั่นจักรยานจากออฟฟิศกลับบ้านในวันที่อากาศร้อนมาก ทุกคนดูอารมณ์ฉุนเฉียว ดิฉันก็เลยอยากรู้ว่าสิ่งที่เห็นหมายถึง อัตราการก่ออาชญากรรมสูงขึ้นในวันที่อากาศร้อนหรือไม่”

ชีนาซี และกัสซัน ฮัมรา นักเขียนร่วม พบว่า แท้จริงแล้วอาชญากรรมรุนแรงเกิดบ่อยขึ้นในเดือนที่อากาศร้อน พ.ค.- ก.ย. และสูงสุดในวันที่ร้อนที่สุด

ความแตกต่างยังพบได้ในวันสบายๆ ของเดือนอากาศหนาว ต.ค.- เม.ย. เทียบกับวันที่อากาศเย็นกว่าในช่วงเดือนเหล่านี้ระหว่าง ต.ค.-เม.ย. เมื่ออุณหภูมิทะลุ 21 องศาเซลเซียส อัตราอาชญากรรมรุนแรงรายวันสูงขึ้น 16% เมื่อเทียบกับวันที่อุณหภูมิ 6 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิเฉลี่ยในช่วงนั้น

ลดอันตราย

เฮเมนเวย์เชื่อว่า ทั้งสองสมมติฐานหลักอาจถูกต้อง กล่าวคือ ยิ่งผู้คนออกไปข้างนอกมากขึ้น ยิ่งเปิดโอกาสให้มีปฏิกิริยาเป็นปรปักษ์กันมากขึ้น และความร้อนเองก็ทำให้คนก้าวร้าวขึ้น

การศึกษาโดนใจชิ้นหนึ่งโดยสำนักงานวิจัยเศรษฐศาสตร์แห่งชาติในปี 2562 จัดนักศึกษามหาวิทยาลัยในเคนยา และแคลิฟอร์เนียในห้องเรียนที่ร้อนหรือเย็น แล้ววัดผลกระทบต่อพฤติกรรมรูปแบบต่างๆ

ผลการศึกษาพบว่า "ความร้อนส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อความตั้งใจของบุคคลในการทำลายสินทรัพย์ของผู้ร่วมวิจัยในรูปของกิฟต์การ์ด และเวาเชอร์เฮเมนเวย์ยอมรับ เมื่อกล่าวถึงปัญหาความรุนแรงจากอาวุธปืนโดยรวมมีตัวขับเคลื่อนใหญ่กว่าอุณหภูมิมาก เช่น ข้อเท็จจริงที่ว่าสหรัฐมีปืนราว 393 ล้านกระบอกในปี 2563 มากกว่าจำนวนประชากร ขณะเดียวกันช่วงหลังหลายรัฐผ่อนคลายกฎหมายแทนที่จะควบคุมกฎหมายอาวุธปืนให้เข้มงวดยิ่งขึ้น แต่การทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างเหตุรุนแรงจากอาวุธปืนกับอากาศให้ดียิ่งขึ้นอาจนำไปสู่การกำหนดนโยบาย เช่น หากิจกรรมเพิ่มเติมดึงชายหนึ่งไม่ให้ออกไปตามท้องถนนในวันที่ร้อนที่สุดของฤดูร้อน พร้อมกับเพิ่มกำลังตำรวจในพื้นที่สำคัญตามการพยากรณ์อากาศ

“นี่ช่วยลดอันตรายลงได้ แต่แม้ไม่มีปัญหาอาวุธปืน ผมสงสัยว่าการต่อสู้และทำร้ายกันอาจยังมีอยู่สิ่งที่ปืนทำคือทำให้การตอบโต้ถึงตายได้มากขึ้นเท่านั้น”

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์