เอฟเอโอเตือน'ข้าว'จ่อคิวเป็นสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่มีราคาแพงขึ้น

เอฟเอโอเตือน'ข้าว'จ่อคิวเป็นสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่มีราคาแพงขึ้น

‘เอฟเอโอ’เตือนทั่วโลกเตรียมบริโภคข้าวแพง ขณะดัชนีราคาอาหารของเอฟเอโอเดือนพ.ค.บ่งชี้ว่าราคาข้าวทั่วโลกปรับตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกันและแตะที่ระดับสูงสุดในรอบ 12 เดือน

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) เตือนทั่วโลกให้เตรียมบริโภคข้าวราคาแพงขึ้น หลังราคาอาหารหลายประเภทพร้อมใจปรับตัวขึ้นทั้งข้าวสาลี ธัญพืช เนื้อสัตว์และน้ำมันเพราะผลพวงจากการทำสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน      

เอฟเอโอ เปิดเผยว่า ราคาอาหารทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักของชาวเอเชีย อาจเป็นสินค้าชนิดต่อไปที่มีราคาสูงขึ้น โดยขณะนี้ราคาอาหารหลายชนิด ตั้งแต่ข้าวสาลีและธัญพืชอื่น ๆ ไปจนถึงเนื้อสัตว์และน้ำมันต่างก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก เนื่องมาจากหลากหลายปัจจัย รวมถึงราคาปุ๋ยและพลังงานที่แพงขึ้นในปีที่ผ่านมาเนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน

การห้ามส่งออกอาหารหรือภาวะชะงักงันเกิดขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงอินเดียที่เป็นแหล่งผลิตข้าวสาลี, ยูเครนผลิตข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต และน้ำตาล และอินโดนีเซียผลิตน้ำมันปาล์ม

ทั้งนี้ ข้าวอาจเป็นสินค้าชนิดต่อไปที่จะมีราคาสูงขึ้น โดยดัชนีราคาอาหารของเอฟเอโอในเดือนพ.ค.บ่งชี้ว่า ราคาข้าวทั่วโลกปรับตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกันและแตะที่ระดับสูงสุดในรอบ 12 เดือนเรียบร้อยแล้ว

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า แม้ผลผลิตข้าวยังคงอุดมสมบูรณ์ แต่ราคาข้าวสาลีที่พุ่งสูงขึ้นและต้นทุนการทำเกษตรที่เพิ่มขึ้นทำให้ยังต้องจับตาดูราคาข้าวต่อไป

“โซนัล วาร์มา” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโนมูระ ประเทศญี่ปุ่น มีความเห็นว่า จำเป็นต้องจับตาดูราคาข้าวต่อไปเนื่องจากราคาข้าวสาลีที่พุ่งสูงขึ้นอาจนำไปสู่การใช้ข้าวทดแทน ทำให้อุปสงค์ข้าวเพิ่มขึ้นในขณะที่สต็อกที่มีอยู่ลดลง

แต่วาร์มายืนยันว่า ความเสี่ยงที่มีต่อราคาข้าวยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากข้าวทั่วโลกมีเพียงพอ และการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวจากอินเดียในฤดูร้อนนี้คาดว่าจะได้ผลดี

ผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนผลักดันให้ราคาข้าวสาลีพุ่งสูงขึ้นเนื่องจากทั้งสองประเทศเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่ นอกจากนี้ การรุกรานของรัสเซียยังขัดขวางการทำการเกษตรและการส่งออกธัญพืช ทำให้ราคาข้าวสาลีพุ่งสูงขึ้นมากกว่า 50%

คำเตือนเรื่องราคาข้าวจะแพงขึ้นในช่วงที่ “เอ็นโกซี โอคอนโจ-ไอวีลา” ผู้อำนวยการดับเบิลยูทีโอ ประชุมร่วมกับบรรดารัฐมนตรีองค์การการค้าโลกครั้งที่ 12 (MC12) ที่สำนักงานใหญ่ของดับเบิลยูทีโอ ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันอาทิตย์(12มิ.ย.) 

การประชุมนาน 4 วันนี้ สมาชิกของดับเบิลยูทีโอจะหารือในประเด็นต่าง ๆ เช่น แนวทางการยกเว้นข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (TRIPS) สำหรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19, การรับมือกับการแพร่ระบาด, เงินสนับสนุนด้านการประมง, การเกษตร, ความมั่นคงด้านอาหาร รวมถึงการปฏิรูปด้านต่าง ๆ ของดับเบิลยูทีโอและลำดับความสำคัญของการทำงานในอนาคต

ปัจจุบัน โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตหลายอย่าง เช่น โรคระบาด, การขาดแคลนอาหาร, การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และความขัดแย้งระดับภูมิภาค ผู้อำนวยการดับเบิลยูทีโอ จึงเรียกร้องให้ทุกฝ่ายทำงานร่วมกันเพื่อเอาชนะความท้าทายเหล่านี้

“ไม่มีประเทศใดสามารถแก้ไขวิกฤตเหล่านี้ได้ด้วยตัวเอง นี่คือช่วงเวลาที่จำเป็นต้องให้ประเทศทั่วโลกร่วมมือกัน” โอคอนโจ-ไอวีลา กล่าว

ขณะเดียวกัน วิกฤตอาหารโลก กำลังเป็นประเด็นร้อนจุดชนวนวิวาทะระหว่างประเทศ เมื่อทั้ง จีน และ สหรัฐ ต่างกล่าวโทษกันและกันว่าเป็นตัวการที่ทำให้ราคาอาหารโลกทะยาน หลายประเทศต้องพบกับภาวะขาดแคลน และความไม่มั่นคงด้านอาหาร

เว็บไซต์ข่าววอยซ์ ออฟ อเมริกา (วีโอเอ) สื่อใหญ่ของอเมริกัน รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ไชนา เดลี สื่อของทางการจีน ได้ตีพิมพ์บทความกล่าวหารัฐบาลกรุงวอชิงตัน โดยระบุว่าราคาอาหารโลกปรับตัวขึ้นไปแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากการส่งออกธัญพืชของรัสเซียและยูเครนต่างประสบภาวะชะงักงันเนื่องจากอุปสรรคในการขนส่งที่ท่าเรือต่าง ๆ และมาตรการลงโทษจากชาติตะวันตก

ขณะที่ฝ่ายสหรัฐกล่าวหากลับว่า จีนต่างหาก คือผู้กักตุนอาหารรายใหญ่ ซึ่งมีส่วนทำให้ราคาอาหารพุ่งสูงขึ้นเช่นกัน หลังจากที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนเคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า ความมั่นคงด้านอาหารเป็นความกังวลที่สุดของรัฐบาลจีน พร้อมเร่งเร้าให้เกษตรกรจีนเพิ่มปริมาณผลผลิตเพื่อรับประกันว่าจีน ซึ่งมีประชากรมากที่สุดในโลก จะสามารถเอาตัวรอดจากวิกฤติในครั้งนี้ได้ 

รายงานของธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์)ระบุว่า เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2565 ราคาข้าวสาลีและข้าวโพดในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น 60% และ 42% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับราคาในเดือนม.ค.ปี 2564

ถึงแม้สหรัฐและจีนจะโบ้ยกันไปมาว่าฝ่ายตรงข้ามคือต้นตอราคาอาหารพุ่ง แต่เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา “แอนโทนี บลิงเคน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐ ประกาศเพิ่มเงินช่วยเหลือด้านอาหารให้แก่ประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะในแอฟริกา รวมทั้งเพิ่มกำลังการผลิตปุ๋ยในประเทศเพื่อชดเชยส่วนที่หายไปจากรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกปุ๋ยรายใหญ่ที่สุดในโลก

ในส่วนกระทรวงการต่างประเทศจีนก็ให้เงินบริจาค 130 ล้านดอลลาร์แก่เอฟเอโอในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านการเกษตรของจีน ยืนยันว่า จีนเป็นผู้บริจาครายใหญ่ของกองทุนระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาทางการเกษตร (ไอเอฟเอดี)ซึ่งช่วยสนับสนุนด้านการเงินแก่โครงการด้านการเกษตรในแอฟริกาหลายโครงการ