"ฮ่องกง" แชมป์ค่าครองชีพแพงที่สุดในโลก 3 ปีซ้อน

"ฮ่องกง" แชมป์ค่าครองชีพแพงที่สุดในโลก 3 ปีซ้อน

ผลการจัดอันดับล่าสุดของอีซีเอ อินเตอร์เนชั่นแนล (ECA International) ฮ่องกงครองแชมป์สมัยที่ 3 เมืองที่ค่าครองชีพแพงที่สุดในโลก ขณะที่อีกหลายเมืองในเอเชียยกขบวนติดท็อป10 สวนทางกับยุโรป ส่วนประเทศไทยอันดับร่วงเพราะภาวะเงินเฟ้อและน้ำมันแพง

อีซีเอ อินเตอร์เนชั่นแนล บริษัทที่ปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคลระดับนานาชาติ ซึ่งทำหน้าที่เก็บข้อมูลความเป็นอยู่ต่าง ๆ เพื่อนำมาจัดอันดับเมืองน่าอยู่ เผยแพร่รายงานประจำปีโดยอ้างอิงดัชนีอีซีเอ ที่มาจากผลการวิจัยที่แสดงค่าครองชีพของแรงงานต่างชาติ หรือ พนักงานของบริษัทข้ามชาติที่ไปประจำสาขาที่ฮ่องกงใน 207 เมืองใหญ่ของ 120 ประเทศและดินแดน 

โดยวัดจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น การแข็งค่าของสกุลเงิน ราคาสินค้าจำเป็นในครัวเรือน เช่น อาหาร นม น้ำมันปรุงอาหาร ค่าเช่าที่พัก ค่าเดินทาง และค่าใช้จ่ายจิปาถะอื่น ๆ พบว่า ฮ่องกง ยังครองแชมป์เมืองที่ค่าครองชีพแพงที่สุดในโลกติดต่อกันเป็นปีที่ 3 แล้ว 

น่าสังเกตว่าแม้ฮ่องกงจะบอบช้ำจากเหตุการณ์ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย และสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย แต่ราคาค่าที่พักไม่ได้ลดลงเลย ทั้ง ๆ ที่ในทางทฤษฎีปัจจัยเหล่านี้น่าจะทำให้อุปสงค์ด้านที่พักอาศัยลดลง ซึ่งนักวิเคราะห์บางคนมองว่าเพราะฮ่องกงยังเป็นศูนย์กลางทางการเงินแห่งเอเชีย และเป็นแกนหลักในโครงการ "อ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า" (Greater Bay Area) หรือ GBA ที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจและนวัตกรรม เทคโนโลยีทันสมัย เป็นจุดบ่มเพาะสตาร์ทอัพทีสำคัญทั้งของจีนและของโลก จึงยังดึงดูดนักลงทุนทำให้ฮ่องกงยังคงยืนหนึ่งอยู่ได้ 

 ดัชนีอีซีเอ ยังบ่งชี้ว่า เอเชียเป็นทวีปที่ค่าครองชีพแพงที่สุด เพราะมีถึง 5 เมือง ที่ติดกลุ่มท็อป10 ได้แก่ ฮ่องกง โตเกียว เซี่ยงไฮ้ กวางโจว และโซล ซึ่งถ้ารวมเมืองในตะวันออกกลางมาอยู่ในกลุ่มเดียวกับเอเชียซึ่งก็คือ เทล อาวีฟ ของอิสราเอล ที่อยู่ในอันดับ 6 ก็จะทำให้เอเชีย มีเมืองที่ค่าครองชีพแพงที่สุดในโลกถึง 6 เมือง ในอันดับท็อป10 

ภูมิภาคเอเชียยังได้ชื่อว่าเป็นบ้านของเมืองที่เติบโตเร็วที่สุดในรายชื่อที่ถูกจัดอันดับ โดยกรุงโคลัมโบ ของศรีลังกา กระโดดขึ้นมา 23 อันดับ จาก 162 เป็น 149 

"ลี เควน" ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียของอีซีเอ อธิบายถึงเหตุผลที่อันดับของเมืองของจีนแผ่นดินใหญ่สูงขึ้น ก็เพราะเงินหยวนแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่น ๆ 

ถ้าแยกเป็นกลุ่มประเทศในอาเซียนจะพบว่า สปป.ลาว กับเมียนมา ไม่ติดอันดับ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงเกือบ 10% ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา สวนทางกับสกุลเงินที่อ่อนค่าลงอย่างมาก โดย สปป.ลาว กำลังประสบปัญหาการส่งออกไปจีนลดลง รวมถึงต้องชำระหนี้ต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ส่วนเมียนมาเผชิญปัญหาค่าเงินจ๊าดอ่อนค่าจากสภาพเศรษฐกิจฝืดเคือง นับตั้งแต่เกิดรัฐประหารเมื่อปี 2564 

ขณะที่สิงคโปร์อยู่อันดับดีที่สุดคือ 13 ส่วนมาเลเซียกับไทย ต้องรับมือกับปัญหาราคาน้ำมันโดยมาเลเซียเพิ่มขึ้น 49% และไทย 33% แต่ยังมีผลดีคือ ราคาค่าเช่าที่พักอาศัยถูกลง

นักวิเคราะห์ชี้ว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจที่มีส่วนสัมพันธ์กันในลักษณะนี้ มีส่วนผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อโดยรวมยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเมืองอื่น ๆ อีกหลายแห่ง ทำให้ถูกมองว่าเมืองใหญ่ในประเทศทั้งสองมีค่าครองชีพที่ไม่แพงมากสำหรับชาวต่างชาติ ทำให้อันดับของมาเลเซียตกลงไปอยู่ที่ 163 ส่วนไทยตกลงไป 13 อันดับ อยู่ที่ 47