‘เวียดนาม’ยืนหนึ่งหมุดหมายลงทุนเทคโนโลยีแห่งอาเซียน

‘เวียดนาม’ยืนหนึ่งหมุดหมายลงทุนเทคโนโลยีแห่งอาเซียน

‘เวียดนาม’ยืนหนึ่งหมุดหมายลงทุนเทคโนโลยีแห่งอาเซียน โดยชาติตะวันตกพากันย้ายฐานการผลิตไปที่เวียดนามอย่างต่อเนื่อง จากความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตที่ต่ำ และสิทธิประโยชน์ทางการค้าระหว่างประเทศที่หลากหลาย

กระแสธุรกิจโลกที่ไม่อาจปฏิเสธได้คือการเติบโตอย่างต่อเนื่องของธุรกิจด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่ยังคงมาแรงและมีอะไรใหม่ๆให้จับตามองได้ตลอด กับกระแสการลงทุนที่ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม หรือการลงทุนอย่างยั่งยืนที่เรียกว่าธุรกิจไปได้  สิ่งแวดล้อมก็ไปรอด

หนึ่งในประเทศที่ถือเป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนของธุรกิจแห่งอนาคตที่กล่าวมาข้างต้นคือ เวียดนาม ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นดาวรุ่งแห่งเอเชียอาคเนย์เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดด และเวียดนามกำลังก้าวขึ้นมาเป็นแหล่งผลิตสินค้าของโลกแทนที่จีน

เราจะเห็นว่า ชาติตะวันตกพากันย้ายฐานการผลิตไปที่เวียดนามอย่างต่อเนื่อง จากความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตที่ต่ำ และสิทธิประโยชน์ทางการค้าระหว่างประเทศที่หลากหลาย โดยธนาคารกลางโลก เวิลด์แบงก์ คาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ของเวียดนามในปีนี้จะขยายตัวที่ 5.5% 

นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า บริษัทแอ๊ปเปิ้ล อิงค์ กำลังโยกย้ายฐานการผลิตไอแพดบางส่วนจากจีนไปยังเวียดนาม หลังจากประสบปัญหาห่วงโซ่อุปทานอันเนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ในจีนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้มีการขาดแคลนชิ้นส่วนในการผลิต

ที่ผ่านมา แอ๊ปเปิ้ลผลิตแอร์พ็อดส์ในเวียดนามเช่นกันและกำลังอยู่ในขั้นตอนย้ายฐานการผลิตออกจากจีน ท่ามกลางความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน แต่คาดว่าการผลิตไอแพดในเวียดนามจะช่วยให้แอ๊ปเปิ้ลมีรายได้เพิ่มขึ้นจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าว หลังจากที่ไอแพดเป็นผลิตภัณฑ์เดียวของแอ๊ปเปิ้ลที่มีรายได้ลดลงในไตรมาส 2 โดยปรับตัวลง 1.92% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว

“ลูกา แมสตรี” ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน (ซีเอฟโอ)ของแอ๊ปเปิ้ล เตือนว่า แอ๊ปเปิ้ลเผชิญกับปัจจัยท้าทายมากมายในไตรมาสปัจจุบัน ซึ่งอาจกระทบยอดขายบริษัทราว 4-8 พันล้านดอลลาร์

ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์ว่า จีดีพีเวียดนามในปีนี้จะเติบโตได้ถึง 6.6% เทียบกับปี 2564  ที่จีดีพีเวียดนามขยายตัวที่ 2.6%

นอกจากนี้ บลูมเบิร์ก คอนเซนซัส ยังคาดการณ์ว่า ผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนเวียดนามจะเติบโตถึง 26% ในปีนี้ ขณะที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อของเวียดนามถือว่าต่ำมาก อัตราเงินเฟ้อของเวียดนามล่าสุดเดือนก.พ.อยู่ในระดับ 1.42% ซึ่งต่ำกว่าระดับเป้าหมายที่ 4% ค่อนข้างมาก ทำให้ธนาคารกลางเวียดนามมีแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป

ด้าน “โฮ ดึก ฟอก” รัฐมนตรีกระทรวงการคลังเวียดนาม เปิดเผยวานนี้ (8มิ.ย.)ว่า เวียดนามกำลังพิจารณาที่จะปรับลดภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อช่วยลดราคาที่กำลังพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ แต่อัตราเงินเฟ้อยังคงควบคุมได้และได้รับแรงหนุนจากการผลิตอาหารภายในประเทศ

ภาษีทุกประเภทคิดเป็นสัดส่วนราว 30% ของราคาขายปลีก รวมถึงภาษีนำเข้า 8% และภาษีมูลค่าเพิ่ม 10%

ฟอก กล่าวว่า “การปรับลดภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงจะช่วยลดราคา และลดต้นทุนการผลิตของธุรกิจต่าง ๆ และสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ” แต่ไม่ได้ระบุว่าจะปรับลดภาษีใด หรือปรับลดเท่าใด

ฟอก กล่าวด้วยว่า เวียดนามซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ในภูมิภาค กำลังเผชิญแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากต้องพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิง อุปกรณ์ ปุ๋ย และวัสดุต่าง ๆ อย่างมากแต่ยังคงควบคุมเงินเฟ้อได้ โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นเพียง 2.25% เมื่อเทียบรายปี

เงินเฟ้อเป้าหมายของเวียดนามในปีนี้อยู่ที่ระดับต่ำกว่า 4%

เมื่อเดือนเม.ย. เวียดนามปรับลดภาษีสิ่งแวดล้อมของน้ำมันเบนซินลงครึ่งหนึ่ง และปรับลดภาษีสิ่งแวดล้อมของน้ำมันดีเซลและน้ำมันหล่อลื่นลงเหลือ 2,000 ด่อง (0.0863 ดอลลาร์) ต่อลิตร และ 1,000 ด่องต่อลิตร ตามลำดับ

ขณะที่สำนักงานสถิติแห่งชาติของเวียดนามเปิดเผยว่า จีดีพีช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 ขยายตัว 5.03% เมื่อเทียบปีต่อปี โดยภาคการเกษตร ป่าไม้ และประมง เพิ่มขึ้น 2.45% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมและการก่อสร้างเพิ่มขึ้น 6.38% ส่วนภาคการบริการเพิ่มขึ้น 4.58%

อย่างไรก็ตาม  จีดีพีของเวียดนามขยายตัวเล็กน้อยที่ 2.58% ในปี 2564 ท่ามกลางผลกระทบที่รุนแรงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และก่อนหน้านี้  สภานิติบัญญัติของเวียดนาม ตั้งเป้าหมายการเติบโตของจีดีพีในปี 2565 ไว้ที่ 6-6.5%

ถึงแม้จะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งแต่เวียดนามก็ต้องจัดสรรวบประมาณเพื่อรับมือกับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ไม่ต่างจากอีกหลายประเทศในภูมิภาคเดียวกัน 

เวียดนาม ประกาศแพ็คเกจการใช้จ่ายเงินมูลค่า 347 ล้านล้านด่อง หรือประมาณ 15.25 พันล้านดอลลาร์ในช่วงปี 2565-66 เพื่อรองรับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมทั้งเยียวผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการที่เข็มงวด 

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งล่าสุด มีมูลค่าต่ำกว่าที่เสนอไว้ที่ 800 ล้านล้านด่องในเดือน พ.ย. รวมถึงมาตรการลดดอกเบี้ยเงินกู้และการชะลอการชำระคืนเงินกู้ของกิจการ 

ตามแพ็คเกจดังกล่าว ธนาคารกลางเวียดนามจะดำเนินการขายพันธบัตรรัฐบาลคิดเป็นมูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์สำหรับในประเทศ เพื่อใช้ในการแทรกแซงตลาดและบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศให้มีเสถียรภาพ 

ท่ามกลางบรรยากาศการดำเนินธุรกิจในขณะนี้ที่ถือว่ามีสารพัดปัจจัยเสี่ยง แต่เสน่ห์ของเวียดนามในฐานะฐานการผลิตของ

บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำโลกกลับไม่ได้ลดลง ทำให้อดตั้งคำถามในใจไม่ได้ว่า นักลงทุนระดับโลก ที่รวมถึง บริษัทแอ๊ปเปิ้ล มองข้าม“ประเทศไทย”ไปได้อย่างไร ทั้งที่ไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีกว่า