เศรษฐกิจญี่ปุ่นป่วนหนัก-ราคาพลังงานพุ่ง-ใช้จ่ายครัวเรือนลด

เศรษฐกิจญี่ปุ่นป่วนหนัก-ราคาพลังงานพุ่ง-ใช้จ่ายครัวเรือนลด

ญี่ปุ่นเปิดเผยรายงานด้านพลังงานประจำปีวานนี้ (7 มิ.ย.) ระบุว่า ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับอุปทานพลังงานโลก ผนวกกับการที่รัสเซียรุกรานยูเครน มีแนวโน้มผลักดันให้ราคาพลังงานเคลื่อนไหวในระดับสูงต่อไปอีกสักระยะ

รายงานฉบับนี้เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ญี่ปุ่นจะต้องรักษาผลประโยชน์ในโครงการน้ำมันและก๊าซบนเกาะซาฮาลินในรัสเซียตะวันออกไกล แม้ญี่ปุ่นออกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย เนื่องจากโครงการเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาเสถียรภาพอุปทานพลังงานของประเทศในราคาที่เหมาะสม

รายงานระบุว่า ปีงบการคลังถึงเดือนมี.ค. 2565 ถือเป็นช่วงเวลาที่โลกต้องเผชิญกับความท้าทายด้านปัจจัยพื้นฐานหลายประการ บ่งชี้ว่าสงครามที่ยืดเยื้อในยูเครนและการลงทุนใหม่ ๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีแนวโน้มกดดันให้ต้นทุนพลังงานพุ่งสูงยิ่งขึ้นไปอีก

“ภาระสำคัญอันดับแรกของเศรษฐกิจญี่ปุ่นคือการพัฒนากำลังการผลิตพลังงาน ในขณะที่ควบคุมราคานำเข้าพลังงานในระดับที่เหมาะสมผ่านความพยายามต่าง ๆ เช่น สร้างความหลากหลายด้านแหล่งทรัพยากรพลังงานและซัพพลายเออร์”

ขณะที่ปัจจัยเบื้องต้นเหล่านี้หนุนให้ราคาเชื้อเพลิงฟอสซิลแพงขึ้น รายงานพลังงานประจำปีของญี่ปุ่นยังระบุว่า สภาพอากาศแปรปรวนผิดปกติ ซึ่งรวมถึงอากาศหนาวเย็นเฉียบพลันในยุโรปและภัยธรรมชาติ ตลอดจนการขาดการลงทุนเพื่อพัฒนาทรัพยากรพลังงานฟอสซิลในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัวจากการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ถือเป็นอีกปัจจัยที่ผลักดันให้ราคาพลังงานพุ่งขึ้น

นอกจากนี้ รายงานฉบับดังกล่าวยังระบุด้วยว่า การพุ่งขึ้นของราคาพลังงานมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์ที่รัสเซียยกพลบุกโจมตียูเครนในช่วงปลายเดือนก.พ.ที่ผ่านมา

ด้านเงินเยนอ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 20 เมื่อเทียบกับดอลลาร์ในช่วงเช้าวานนี้ (7มิ.ย.) โดยถูกกดดันจากส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของญี่ปุ่นและสหรัฐที่ปรับตัวกว้างขึ้น ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) อาจจะใช้มาตรการแทรกแซงเพื่อสกัดการร่วงลงของเงินเยน

เงินเยนอ่อนค่าลง 0.3% สู่ระดับ 132.33 เยนต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2545 หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ทะยานขึ้นเหนือระดับ 3%

“ทาคูยะ คันดะ” กรรมการผู้จัดการบริษัท Gaitame.com Research Institute กล่าวว่า ในบรรดาธนาคารกลางของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว มีเพียงบีโอเจเท่านั้นที่ไม่ได้ใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงิน ซึ่งส่งผลให้เงินเยนอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง โดยเขาคาดว่าเงินเยนจะร่วงลงแตะระดับ 132-133 เยนต่อดอลลาร์ ก่อนที่จะแตะเป้าหมายทางเทคนิคระดับต่อไปที่ 135.15 เยนต่อดอลลาร์

นักลงทุนแห่เทขายเงินเยนอย่างหนักในปีนี้ เนื่องจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐได้กระตุ้นให้นักลงทุนลดการถือครองเงินเยนและหันไปซื้อดอลลาร์ซึ่งให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า ขณะที่บีโอเจให้คำมั่นว่าจะเดินหน้าผ่อนคลายนโยบายการเงิน แม้ว่าต้องเผชิญกับการทรุดตัวของเงินเยนก็ตาม

“ชูนิชิ ซูซูกิ” รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่นกล่าวว่า รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังจับตาความเคลื่อนไหวของเงินเยนอย่างใกล้ชิด และย้ำว่าเงินเยนที่เคลื่อนไหวอย่างไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานนั้น อาจจะส่งผลกระทบในด้านลบต่อเศรษฐกิจ

ด้าน“เออิสุเกะ ซากากิบาระ” อดีตรัฐมนตรีคลังญี่ปุ่นเจ้าของฉายา “มิสเตอร์เยน” คาดการณ์ว่า เงินเยนมีแนวโน้มทรุดตัวลงจนถึงระดับเดียวกับในปี 2533 เนื่องจากนโยบายการเงินของญี่ปุ่นและสหรัฐมีทิศทางที่แตกต่างกันมากขึ้น

ซากากิบาระ ซึ่งเคยสามารถสร้างอิทธิพลให้กับสกุลเงินเยนเมื่อครั้งที่เขาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลังญี่ปุ่นในช่วงปี 2540-2542 กล่าวว่า ความแตกต่างระหว่างนโยบายคุมเข้มทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษของบีโอเจ ยังคงเป็นสาเหตุใหญ่ที่สุดที่ทำให้เงินเยนอ่อนค่าลงอย่างมาก และคาดว่าเงินเยนจะเผชิญกับแรงกดดันจากปัจจัยนี้ต่อไปจนกว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างสองประเทศจะหดแคบลง

ด้านกระทรวงสื่อสารและกิจการภายในประเทศของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ยอดการใช้จ่ายภาคครัวเรือนของญี่ปุ่นปรับตัวลง 1.7% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการลดลงติดต่อกันเดือนที่สอง เนื่องจากการพุ่งขึ้นของราคาอาหารและพลังงานได้บั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

การใช้จ่ายโดยเฉลี่ยของครัวเรือนที่มีสมาชิกตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปนั้น ลดลง 1.7% สู่ระดับ 304,510 เยน (2,300 ดอลลาร์) ในเดือนเม.ย. หลังจากที่ร่วงลง 2.3% ในเดือนมี.ค.

เมื่อพิจารณาจากหมวดสินค้าพบว่า ภาคครัวเรือนญี่ปุ่นใช้จ่ายด้านการบริโภคอาหารลดลง 2.1% ซึ่งเป็นการปรับตัวลงติดต่อกันเดือนที่ 3 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าความต้องการผักผลไม้ชะลอตัวลง ขณะที่ราคาอาหารและเชื้อเพลิงเช่นน้ำมันเบนซิน ต่างก็พุ่งขึ้นอย่างรุนแรง หลังจากที่รัสเซียใช้กำลังทหารรุกรานยูเครน

เจ้าหน้าที่กระทรวงฯกล่าวว่า "ประชาชนส่วนหนึ่งไม่อยากออกมาจับจ่ายใช้สอยเนื่องจากราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ ตัวเลขการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ชะลอตัวลงในเดือนเม.ย.ยังได้รับผลกระทบจากการที่ประชาชนใช้จ่ายเงินน้อยลงในการรับประทานอาหารนอกบ้าน แม้ว่ารัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 แล้วก็ตาม