สำรวจความสูญเสีย '100วัน'สงครามรัสเซีย-ยูเครน

สำรวจความสูญเสีย '100วัน'สงครามรัสเซีย-ยูเครน

สำรวจความสูญเสียของรัสเซียและยูเครน หลังการสู้รบดำเนินมาครบ 100 วัน ขณะประธานาธิบดี'เซเลนสกี'อ้างรัสเซียยึดพื้นที่ได้ไปแค่ 20% เท่านั้นแม้รัสเซียเดินหน้าถล่มหนักที่มั่นยูเครนในดอนบาส

การทำสงครามระหว่าง รัสเซียและยูเครน เดินทางมาครบ 100 วัน นับตั้งแต่วันที่รัสเซียส่งกองทัพเข้ารุกรานยูเครน และสงครามนี้ทำให้โลกได้เห็นความโหดร้าย ความน่าสลดหดหู่มากมายที่เกิดกับมนุษย์ด้วยกัน  

รวมทั้งภาพของศพพลเรือนที่กระจัดกระจายตามถนนในเมืองบูชา ซากโรงละครในเมืองมาริอูโพลที่ถูกระเบิดทำลายเสียหายอย่างหนัก และภาพความโกลาหลที่สถานีรถไฟครามาทอร์สกหลังถูกรัสเซียยิงขีปนาวุธใส่

ภาพต่าง ๆ เหล่านี้สะท้อนถึงสถานการณ์ความขัดแย้งที่เลวร้ายที่สุดในรอบหลายทศวรรษของยุโรป ที่ก่อให้เกิดผลพวงต่างๆตามมาอีกมากมาย โดยเฉพาะต่อระบบเศรษฐกิจโลก

ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน กล่าวต่อที่ประชุมรัฐสภาของลักเซมเบิร์กเมื่อวันพฤหัสบดี ( 2 มิ.ย.) โดยบอกว่า จนถึงขณะนี้พื้นที่เกือบ 20% หรือเกือบ 125,000 ตร.กม. ของทั้งประเทศอยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพรัสเซีย ซึ่งมีขนาดใหญกว่าประเทศเบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์กรวมกันเสียอีก พื้นที่ดังกล่าวรวมถึงไครเมีย และบางส่วนของภาคตะวันออก ที่รัสเซียผนวกดินแดนไปเมื่อปี 2557 ด้วย คิดเป็นเกือบ 7% ของดินแดนยูเครน

เซเลนสกี ยังบอกด้วยว่า พื้นที่อีกเกือบ 300,000 ตร.กม. ถูกวางกับระเบิด หรือ มีระเบิดที่ไม่ทำงานตกค้าง ประชาชนเกือบ 12 ล้านคนต้องพลัดถิ่นฐาน โดยกว่า 5 ล้านคนที่ส่วนใหญ่เป็นเด็กและสตรีอพยพไปต่างประเทศ

ผู้นำยูเครนบอกว่า แนวสู้รบมีระยะทางยาวกว่า 1,000 กม. และทหารยูเครนกำลังปกป้องประเทศจากทหารเกือบทั้งกองทัพของรัสเซีย แต่ก็อ้างด้วยว่า กองทัพรัสเซียสูญเสียทหารเกินกว่า 30,000 นาย มากกว่าทหารเสียชีวิตและบาดเจ็บรวมกันในสมัยโซเวียตทำสงครามในอัฟกานิสถาน และสงครามเชชเนียอีก 2 ครั้ง แต่ที่ผ่านมา รัสเซียยืนยันว่ามีทหารเสียชีวิตกว่า 1,300 นายในปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครน ที่เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 24 ก.พ.

ขณะที่ทำเนียบเครมลินของรัสเซีย แถลงเมื่อวันพฤหัสบดีเกี่ยวกับกระแสข่าวว่า สหรัฐฯ มีแผนขายโดรน MQ-1C Gray Eagle จำนวน 4 ตัว ที่สามารถติดขีปนาวุธ Hellfire สำหรับใช้ในสนามรบให้ยูเครน โดยบอกว่า แผนการขายอาวุธดังกล่าวไม่อาจเปลี่ยนทิศทางของปฏิบัติการพิเศษทางทหารของรัสเซียได้ และเป้าหมายของปฏิบัติการจะบรรลุผลด้วย แต่จะสร้างความสูญเสียยิ่งขึ้นให้กับยูเครน

ที่ผ่านมา ทำเนียบเครมลินออกมาเตือนเรื่องที่สหรัฐประกาศจะส่งระบบจรวดพิสัยกลางที่ยิงได้ไกลกว่าเดิมและแม่นยำมากขึ้นให้กับยูเครน โดยบอกว่า สหรัฐจงใจราดน้ำมันเข้ากองไฟ และมีเจตนาทำให้สงครามยืดเยื้อ

ทั้งนี้ ในทางภาคพื้นมีการต่อสู้บนท้องถนนอย่างดุเดือดในศูนย์กลางอุตสาหกรรมของเมืองซีวีโรโดเนตสก์ ในแคว้นลูฮันสก์ ส่วนหนึ่งของภูมิภาคดอนบาส โดยเมืองยุทธศาสตร์แห่งนี้คือเป้าหมายหลักของมอสโก ซึ่งควบคุมพื้นที่ของเมืองแห่งนี้ได้แล้ว 80% แต่ทาง"เซอร์กีย์ เกเดย์" ผู้ว่าการแคว้นลูฮันสก์ ประกาศว่ากองกำลังยูเครนจะสู้จนหยดสุดท้าย

แม้ตอนนี้ยังไม่มีใครยืนยันได้ว่า มีนักรบและพลเรือนเสียชีวิตไปแล้วกี่คน ขณะตัวเลขที่รัฐบาลของสองประเทศรายงานออกมา มีโอกาสที่จะถูกทำให้มากเกินหรือต่ำกว่าเป็นจริงด้วยเหตุผลต่าง ๆ กันไป ทำให้การตรวจสอบเป็นไปไม่ได้เลย โดยเฉพาะเมื่อทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐ หน่วยงานทั้งหลายขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และฝ่ายต่าง ๆ ที่รับหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผู้เสียชีวิตไม่มีโอกาสเข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุในยูเครน

รัฐบาลมอสโกเปิดเผยข้อมูลเพียงน้อยนิดเกี่ยวกับการเสียชีวิตของทหารของตนและของพันธมิตร และไม่ได้พูดถึงการเสียชีวิตของพลเรือนในพื้นที่ที่ตนเข้าควบคุมไว้ อย่างกรณีในเมืองมาริอูโปล ซึ่งรัสเซียเข้าไปยึดครองไว้เป็นเวลานานและเชื่อว่า เป็นเหมือนทุ่งสังหารที่ใหญ่ที่สุดในสงครามครั้งนี้ โดยกองทัพรัสเซียถูกกล่าวหาว่า พยายามปิดบังจำนวนผู้เสียชีวิตและนำศพไปฝังหมู่ เพื่อให้ตัวเลขคลุมเครือ

ส่วนประธานาธิบดีเซเลนสกี ระบุว่า น่าจะมีพลเรือนชาวยูเครนเสียชีวิตอย่างน้อยหลายหมื่นคนด้วยกัน

ด้านสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) ประเมินว่า มีผู้คนราว 6.8 ล้านคนจากยูเครนต้องอพยพออกจากประเทศของตนตลอดช่วง 100 วันที่ผ่านมาแต่หลังจากการสู้รบใกล้ ๆ กับกรุงเคียฟและพื้นที่อื่น ๆ เริ่มซาลง และกองกำลังรัสเซียเริ่มหันไปมุ่งโจมตีในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคใต้แทนยูเอ็นเอชซีอาร์ กล่าวว่า ผู้คนประมาณ 2.2 ล้านคนได้เดินทางกลับไปยังบ้านเกิดแล้ว

ส่วนองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration : IOM) ประเมินไว้ เมื่อวันที่ 23 พ.ค.ว่า มีประชาชนกว่า 7.1 ล้านคนที่กลายมาเป็นผู้พลัดถิ่น ซึ่งก็คือ ผู้ที่ต้องออกจากบ้านของตนแต่ยังไม่ได้เดินทางออกนอกประเทศซึ่งตัวเลขนี้แสดงให้เห็นถึงการลดลงพอประมาณจากการประเมินก่อนหน้านี้ซึ่งอยู่ที่กว่า 8 ล้านคน

เมื่อดูที่ความเสียหายด้านเศรษฐกิจ พบว่า หลังการรุกรานยูเครนเริ่มต้นขึ้นไม่นาน ชาติตะวันตกก็ประกาศลงโทษรัสเซียผ่านมาตรการหลายชุด ที่มีเป้าหมายหลักคือ อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ
 

"อีฟกินี กอนต์มักเฮอร์" ผู้อำนวยการจากยุโรป ไดอะล็อก (Europe Dialogue) ให้ความเห็นในบทความที่ได้รับการตีพิมพ์ออกมาในสัปดาห์นี้ว่า รัสเซียกำลังเผชิญมาตรการลงโทษกว่า 5,000 รายการ ถือเป็นตัวเลขที่สูงกว่าประเทศใดในโลก ขณะที่ เงินสำรองในรูปของทองคำและเงินตราต่างประเทศที่ฝากไว้ในตะวันตกก็ถูกอายัด และตัวเลขผู้โดยสารทางอากาศในรัสเซียเองก็หดตัวจากระดับ 8.1 ล้านคนเหลือแค่ 5.2 ล้านคนในช่วงระหว่างเดือนม.ค.และเดือนมี.ค.

ส่วนวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์เคียฟ รายงานว่า มีบริษัทกว่า 1,000 แห่งที่ใช้มาตรการลงโทษตัวเองด้วยการงดการทำธุรกิจในรัสเซีย

ในส่วนความเสียหายที่เกิดกับตลาดทุน ดัชนีตลาดหุ้น MOEX ร่วงหนักถึง 25% นับตั้งแต่ก่อนที่มอสโกจะส่งกองทัพบุกยูเครน ขณะที่ ธนาคารกลางรัสเซียรายงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า อัตราเงินเฟ้อของประเทศพุ่งขึ้นถึง 17.8% ในเดือนเม.ย. ส่วนยูเครน รัฐบาลรายงานว่า จีดีพีของประเทศหดหายไปถึง 35% จากสงครามที่ยังคงดำเนินอยู่