ลงประชามติรัฐธรรมนูญ ยกระดับประชาธิปไตยคาซัคสถาน

ลงประชามติรัฐธรรมนูญ  ยกระดับประชาธิปไตยคาซัคสถาน

ช่วงต้นปีคาซัคสถานกลายเป็นข่าวดังทั่วโลกจากเหตุประชาชนประท้วงไม่พอใจรัฐบาลขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี แล้วกลายเป็นเหตุรุนแรงระหว่างรัฐกับผู้ชุมนุมมีผู้เสียชีวิตหลายสิบคน บาดเจ็บอีกหลายร้อยคน

จากนั้นคาซัคสถานได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาพื้นฐานของสังคมโดยจะมีการลงประชามติในวันที่ 5 มิ.ย.  อาร์มาน เอสเซทอฟ เอกอัครราชทูตคาซัคสถานประจำประเทศไทย เล่าถึงวาระสำคัญนี้กับกรุงเทพธุรกิจ 

"คาซัคสถานจะลงประชามติรัฐธรรมนูญในวันที่ 5 มิ.ย. ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เพื่อเข้าสู่การเป็นประชาธิปไตย เปลี่ยนจากประธานาธิบดีมีอำนาจล้นเหลือ (Super Presidential Power) มาเป็นรัฐบาลที่ทำงานเพื่อประชาชน" ทูตเอสเซทอฟกล่าวและว่า ความสำคัญของการลงประชามติครั้งนี้คือสะท้อนถึงช่วงเวลาประวัติศาสตร์สำหรับคาซัคสถาน  ประการแรกเป็นการลงประชามติครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1995 ที่รับรองรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

ประการที่ 2 เป็นการเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติที่มีข้อน่ากังวลหนึ่งในสามของรัฐธรรมนูญ เป้าหมายตั้งคาซัคสถานใหม่ที่มีเสถียรภาพ มีความหลากหลาย เศรษฐกิจเท่าเทียม ระบบการเมืองมีพลวัตและแข่งขันได้มากขึ้น ตามที่ประธานาธิบดีคาสซิม โจมาร์ต โทคาเยฟ ประกาศกับประชาชนในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา “การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยพลเมืองจะแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบอันหนักแน่นต่อหลักการประชาธิปไตย” ทั้งยังเปิดให้พลเมืองทุกคนมีส่วนร่วมโดยตรงในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่จะตัดสินอนาคตของคาซัคสถาน

สำหรับภูมิหลังของการร่างรัฐธรรมนูญที่มีผลต่อกฎหมายพื้นฐานหนึ่งในสาม ทูตอธิบายว่า ก็เพื่อปรับระบบการเมืองของประเทศให้ทันสมัยอย่างที่ประธานาธิบดีได้กล่าวเอาไว้ บนพื้นฐานความต้องการเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคนของประชาชนที่คุกรุ่นมาหลายปี โดยรับฟังคำแนะนำของสมาชิกรัฐสภา สภารัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้งกลาง ศาลฎีกา และผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา จากนั้นนำข้อเสนอปฏิรูปไปหารือกับสมาชิกสภาความไว้วางใจจากประชาชนแห่งชาติ

คาซัคสถานทำประชามติครั้งล่าสุดเมื่อปี 1995 รับรองรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน นับจากนั้นมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญสี่ครั้ง ผ่านการรับรองโดยสภา ครั้งนี้รัฐธรรมนูญจะสร้างมิติใหม่ทั้งหมด การเปลี่ยนแปลงใหญ่ขนาดนี้ย่อมส่งผลที่ดีขึ้นต่อพลเมืองและสังคมโดยรวม ประธานาธิบดีจึงต้องการรับฟังความเห็นจากประชาชน 

 “การลงประชามติที่กำลังมาถึงจะสร้างพื้นฐานทางกฎหมายสำหรับสาธารณรัฐที่ 2 รูปแบบความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างรัฐกับสังคมที่มีประสิทธิภาพและสมดุลมากขึ้น ในภาพรวมมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 31 มาตรา บัญญัติใหม่สองมาตรา รวมถึงร่างกฎหมายใหม่อีก 20 ฉบับ” 

ทั้งนี้  การปฏิรูปการเมืองของประธานาธิบดีคาสซิม โจมาร์ต โทคาเยฟ ดำเนินไปตามสูตร “ประธานาธิบดีเข้มแข็ง รัฐสภาทรงอิทธิพล รัฐบาลตรวจสอบได้”

ความโดดเด่นไม่เหมือนใครของการลงประชามติรัฐธรรมนูญที่กำลังมาถึง ทูตคาซัคสถานกล่าวว่า  แทนที่จะขยายอำนาจประธานาธิบดี เหมือนอย่างที่เคยทำในครั้งก่อนๆ แต่ครั้งนี้เป็นการกระจายอำนาจประธานาธิบดีให้สถาบันอื่นๆ เพิ่มอำนาจรัฐสภา  เพิ่มการเป็นตัวแทนประชาชน 19 ล้านคน  นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ  หลักๆ คือใช้ระบบเลือกตั้งสัดส่วนผสมมาแทนระบบสัดส่วนแบบเดิม

ในเวลาเดียวกันมีการกระจายอำนาจอย่างมากให้กับทางการภูมิภาคและท้องถิ่น ที่น่ายกย่องมากคือเพิ่มกลไกปกป้องสิทธิมนุษยชน เช่น สำนักงานผู้ตรวจการ และตั้งศาลรัฐธรรมนูญ

หากพิจารณาในรายละเอียด ประเด็นสำคัญอันหนึ่งในร่างรัฐธรรมนูญคือกระจายอำนาจจากสำนักประธานาธิบดีไปยังรัฐสภา ด้วยการเพิ่มอำนาจและความรับผิดชอบให้องค์กรกฎหมายของรัฐบาล ห้ามญาติสนิทประมุขของรัฐเป็นข้าราชการการเมืองและนั่งฝ่ายบริหารในรัฐวิสาหกิจ ระหว่างดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีห้ามประมุขของรัฐเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ประธานาธิบดีไม่มีอำนาจยกเลิกหรือระงับการดำเนินการของผู้ว่าภูมิภาค เมืองสำคัญระดับชาติ เมืองหลวง ไม่มีสิทธิปลดผู้นำระดับอำเภอและหมู่บ้าน

บทบัญญัติสำคัญถัดไปคือยกเลิกโทษประหารชีวิต เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองคาซัคสถาน ยิ่งไปกว่านั้น สภารัฐธรรมนูญจะเปลี่ยนเป็นศาลรัฐธรรมนูญ หากประชาชนร้องเรียนศาลจะประเมินว่าการกระทำของสาธารณรัฐคาซัคสถานที่ส่งผลโดยตรงต่อสิทธิและเสรีภาพที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

“คุณจะเห็นพ้องว่านี่คือมาตรการที่ก้าวหน้าและมองไกลมากๆ”

ไม่เพียงเท่านั้นสถานะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนในรัฐธรรมนูญและกฎหมายรัฐธรรมนูญจะแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ในช่วงการสอบสวนเหตุการณ์เมื่อเดือน ม.ค. ทูตเอสเซทอฟ เล่าว่า ผู้ตรวจการสิทธิมนุษยชนเข้าร่วมตรวจสอบและดูแลอย่างแข็งขันตั้งแต่วันแรกๆ ผู้ตรวจการและคณะกรรมการสาธารณะอิสระนำโดยทนายความผู้มีอำนาจทำงานใกล้ชิดกับสำนักงานอัยการ พร้อมแสดงและปกป้องจุดยืนของพวกเขาอย่างเปิดเผย

นอกจากนี้ยังมีแนวคิดริเริ่มใหม่ๆ และการแก้ไขอื่นๆ ที่ทำให้คาซัคสถานเป็นรัฐของประชาชน ด้วยขอบเขตการพัฒนาสถาบันประชาสังคมมากขึ้น รับผิดชอบสร้างเสรีภาพสื่อ รวมถึงสื่ออิสระที่ได้รับการรับฟังในทุกมิติ มีแผนขยายอำนาจองค์กรรัฐบาลท้องถิ่นพร้อมลดกระบวนการราชการ เพิ่มความเป็นอิสระทางการเงิน สร้างหลายแพลตฟอร์มให้ประชาชนคาซัคสถานมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันและแสดงเจตจำนง

“หลักนิติธรรม ธรรมาภิบาล และหลักการประชาธิปไตยอันแข็งแกร่งของของเราจะเทียบเท่ามาตรฐานนานาชาติ ทำให้ประเทศได้สถานะใหม่อันน่าภาคภูมิใจ” ทูตคาซัคสถานกล่าวทิ้งท้าย