ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสดีดตัวขึ้น 56 เซนต์เหตุกังวลน้ำมันตึงตัว

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสดีดตัวขึ้น 56 เซนต์เหตุกังวลน้ำมันตึงตัว

ราคาน้ำมันดิบล่วงหน้าเวสต์เท็กซัส ปิดวันพุธ(25พ.ค.)ปรับตัวขึ้น 56 เซนต์ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะน้ำมันตึงตัว ขณะที่สหรัฐใกล้เข้าสู่ฤดูร้อน ซึ่งจะมีการเดินทางท่องเที่ยว ส่งผลให้มีการใช้น้ำมันมากขึ้น

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส ส่งมอบเดือนก.ค. ซึ่งมีการซื้อขายที่ตลาดไนเม็กซ์ บวก 56  เซนต์ ปิดที่110.33 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ ส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 47 เซนต์ ปิดที่ 114.03 ดอลลาร์/บาร์เรล

สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (อีไอเอ) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐลดลง 1 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลง 737,000 บาร์เรล

ส่วนสต็อกน้ำมันเบนซินลดลง 482,000 บาร์เรล ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลง 634,000 บาร์เรล

นอกจากนี้ สต็อกน้ำมันกลั่น ซึ่งรวมถึงฮีตติ้งออยล์และน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น 1.7 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้น 917,000 บาร์เรล

ทั้งนี้ ฤดูการเดินทางท่องเที่ยวของสหรัฐมักเริ่มต้นจากวันหยุดยาวเนื่องในวัน Memorial Day ในสิ้นเดือนนี้จนถึงวันหยุดเนื่องในวันแรงงานสหรัฐในเดือนก.ย.

นักลงทุนจับตาการประชุมสุดยอดของสหภาพยุโรป (อียู) ในวันที่ 30-31 พ.ค.เพื่อพิจารณามาตรการคว่ำบาตรน้ำมันจากรัสเซีย

อย่างไรก็ดี นางเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของอียูยอมรับว่า สมาชิกอียูไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียในการประชุมสุดยอดในวันที่ 30-31 พ.ค.

"ดิฉันคิดว่าเรื่องนี้ยังไม่เหมาะสมที่จะนำเข้าสู่ที่ประชุมอีซีเนื่องจากเกี่ยวข้องกับปัญหาทางเทคนิค โดยสมาชิกอียูบางประเทศไม่มีพรมแดนติดกับทะเล ทำให้ต้องมีการลงทุนในการสร้างท่อส่งน้ำมันเพิ่ม ขณะที่บางประเทศต้องปรับปรุงประสิทธิภาพของโรงกลั่น และพลังงานหมุนเวียน" นางฟอน เดอร์ เลเยนกล่าว

ก่อนหน้านี้ อีซี เสนอให้มีการคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียเพื่อตอบโต้ต่อการที่รัสเซียส่งกำลังทหารบุกโจมตียูเครน โดยเสนอให้มีการระงับการนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียภายในเวลา 6 เดือนข้างหน้า และระงับการนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมทั้งหมดจากรัสเซียตั้งแต่ปี 2566 ขณะที่ยกเว้นให้ฮังการีและสโลวาเกียสามารถซื้อน้ำมันจากรัสเซียจนถึงสิ้นปี 2567

อย่างไรก็ดี อียูยังคงไม่สามารถบรรลุฉันทามติต่อข้อเสนอดังกล่าว โดยสมาชิกบางประเทศมีความกังวลต่อผลกระทบรุนแรงที่จะเกิดขึ้นจากการใช้มาตรการคว่ำบาตรน้ำมันจากรัสเซีย

ด้านนางเจนนิเฟอร์ แกรนโฮล์ม รัฐมนตรีพลังงานสหรัฐ กล่าวว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดนไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ในการใช้มาตรการจำกัดการส่งออกน้ำมัน เพื่อควบคุมราคาพลังงานที่พุ่งขึ้นในประเทศ

ก่อนหน้านี้ สหรัฐประกาศระบายน้ำมันจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ (SPR) แต่ราคาน้ำมันยังคงดีดตัวขึ้น ส่งผลให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้น และกระทบต่อคะแนนนิยมของปธน.ไบเดน

ต่อข้อถามที่ว่า รัฐบาลสหรัฐกำลังพิจารณาจำกัดการส่งออกน้ำมันเพื่อสกัดราคาเชื้อเพลิงในประเทศหรือไม่ นางแกรนโฮล์มกล่าวว่า "ดิฉันขอยืนยันว่าท่านประธานาธิบดีจะไม่ตัดทางเลือกใดๆในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว"