ดาวโจนส์เพิ่มในกรอบแคบ 48 จุดตามแรงฉุดของข้อมูลเศรษฐกิจ

ดาวโจนส์เพิ่มในกรอบแคบ 48 จุดตามแรงฉุดของข้อมูลเศรษฐกิจ

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันอังคาร(24พ.ค.)ปรับตัวเพิ่มขึ้นในกรอบแคบ 48 จุด เพราะแรงฉุดจากข้อมูลทางเศรษฐกิจและความกังวลว่าความเคลื่อนไหวควบคุมเงินเฟ้อของธนาคารกลางสหรัฐ อาจจะผลักดันเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 48.38 จุด (0.15 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 31,928.62 จุด เอสแอนด์พี ลดลง 32.27 จุด (0.81 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 3,941.48 จุด แนสแดค ลดลง 270.83 จุด (2.35 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 11,264.45 จุด

เอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐฯ ปรับตัวลงสู่ระดับ 53.8 ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน จากระดับ 56.0 ในเดือนเม.ย.

ดัชนี PMI ถูกกดดันจากภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ของผู้บริโภค รวมทั้งปัญหาห่วงโซ่อุปทานจากมาตรการล็อกดาวน์ในจีน และสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน

อย่างไรก็ดี ดัชนี PMI ยังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคธุรกิจของสหรัฐฯยังคงมีการขยายตัว

ทั้งนี้ ดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้น อยู่ที่ 57.5 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน จากระดับ 59.2 ในเดือนเม.ย. ขณะท่ดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้น อยู่ที่ 53.5 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน จากระดับ 55.6 ในเดือนเม.ย.

ด้านบริษัทสแนป ซึ่งเป็นเจ้าของแอปพลิเคชันสแนปแชท (Snapchat) ระบุว่า บริษัทอาจไม่สามารถทำกำไรและรายได้ตามเป้าหมาย

นายอีแวน สปีเกล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทสแนป เปิดเผยว่า บริษัทอาจพลาดเป้าหมายทั้งในด้านรายได้และกำไรในไตรมาสปัจจุบัน พร้อมกับเตือนว่าทางบริษัทอาจชะลอการจ้างงานไปจนถึงสิ้นปีนี้เพื่อควบคุมค่าใช้จ่าย

ข่าวดังกล่าวได้ฉุดราคาหุ้นสแนปและหุ้นบริษัทเทคโนโลยีรายอื่นๆ ร่วงลงในการซื้อขายวันนี้ โดยหุ้นสแนปทรุดตัวลงกว่า 36% ขณะที่หุ้นเมตา แพลตฟอร์มส์ร่วงลง 6%

ดัชนีดาวโจนส์ปิดพุ่งขึ้นกว่า 600 จุดวานนี้ โดยได้ปัจจัยหนุนจากแรงซื้อหุ้นกลุ่มธนาคาร รวมทั้งการที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนส่งสัญญาณยุติการทำสงครามการค้ากับจีน

ทั้งนี้ ปธน.ไบเดนจะหารือกับนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ เกี่ยวกับการปรับลดภาษีสินค้านำเข้าจากจีน หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจการเดินทางเยือนญี่ปุ่น และกลับสู่สหรัฐ

คำสั่งของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ในการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนวงเงิน 3.50 แสนล้านดอลลาร์จะหมดอายุลงโดยอัตโนมัติในวันที่ 6 ก.ค.นี้ ขณะที่มีการคาดการณ์กันว่ารัฐบาลของปธน.ไบเดนจะไม่ขยายระยะเวลาการบังคับใช้คำสั่งดังกล่าว ท่ามกลางเงินเฟ้อที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ในสหรัฐ

นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าการยกเลิกมาตรการจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนจะช่วยบรรเทาปัญหาเงินเฟ้อในสหรัฐ โดยการผ่อนปรนหรือการยกเลิกมาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าทั้งหมด อาจเป็นหนึ่งในทางเลือกเพียงไม่กี่ทางที่ทำเนียบขาวจำเป็นจะต้องทำเพื่อฉุดต้นทุนสินค้าทุกประเภทให้ลดลง หลังจากที่เงินเฟ้อพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี

นักลงทุนจับตารายงานการประชุมประจำเดือนพ.ค.ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งจะมีการเปิดเผยในวันนี้ เพื่อหาทิศทางอัตราดอกเบี้ยและการปรับลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening : QT) ของเฟด

ทั้งนี้ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า ขณะนี้นักลงทุนให้น้ำหนัก 100% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 0.50% ในการประชุมนโยบายการเงินอีก 2 ครั้ง ทั้งในเดือนมิ.ย.และก.ค. หลังจากที่เฟดเพิ่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนพ.ค. เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพ.ค.2543 และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่า 20 ปี

ขณะเดียวกัน เฟดเตรียมปรับลดขนาดงบดุล โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมิ.ย. ซึ่งเฟดจะลดขนาดงบดุลในวงเงิน 4.75 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน และหลังจากนั้น 3 เดือน เฟดจะเพิ่มการลดขนาดงบดุลเป็น 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน