สหรัฐเปิดกลุ่มการค้าใหม่เริ่มต้น13ชาติ'ไทย'ร่วมด้วย

สหรัฐเปิดกลุ่มการค้าใหม่เริ่มต้น13ชาติ'ไทย'ร่วมด้วย

ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐ เปิดตัวโครงการริเริ่มทางการค้าเอเชีย-แปซิฟิกใหม่ 13 ประเทศเข้าร่วมรวมอินเดียและญี่ปุ่น แต่ยังมีคำถามถึงประสิทธิผลของโครงการ

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐ เปิดตัวกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกเพื่อความมั่งคั่ง (ไอพีอีเอฟ) อย่างเป็นทางการวานนี้ (23 พ.ค.) ระหว่างเยือนกรุงโตเกียววันที่ 2 ที่เขาหารือกับนายกรัฐมนตรีฟุมิโอะ คิชิดะ ก่อนประชุมผู้นำกลุ่ม Quad ในวันนี้ (24 พ.ค.)

ประธานาธิบดีไบเดนกล่าวถึงกรอบความร่วมมือไอพีอีเอฟว่า เป็นความมุุ่งมั่นของสหรัฐทำงานกับเพื่อนสนิทและหุ้นส่วนในภูมิภาค แก้ปัญหาความท้าทายเพื่อสร้างหลักประกันถึงความสามารถของการแข่งขันทางเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21

ไอพีอีเอฟแตกต่างจากกลุ่มการค้าแบบเดิมคือ ไม่มีแผนให้สมาชิกต่อรองเรื่องภาษีและการเข้าถึงตลาด เครื่องมือที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวอเมริกันไม่ชอบใจมากขึ้นเรื่อยๆ มองว่า บั่นทอนการผลิตในประเทศ โดยไอพีอีเอฟใช้วิธีบูรณาการพันธมิตรผ่านมาตรฐาน 4 ด้านหลักคือ เศรษฐกิจดิจิทัล ห่วงโซ่อุปทาน โครงสร้างพื้นฐานพลังงานสะอาด และมาตรการต่อต้านทุจริต
 

สมาชิกเริ่มต้นนอกเหนือจากสหรัฐยังมีออสเตรเลีย บรูไน อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไทย และเวียดนาม ประเทศเหล่านี้เชื่อว่า ไอพีอีเอฟเป็นกรอบความร่วมมือที่สุดท้ายแล้วจะเป็นกลุ่มการค้าที่แน่นแฟ้น

“เรามีความรับผิดชอบร่วมกันต่อภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรี เปิดกว้าง เป็นธรรม ครอบคลุม เชื่อมต่อ ยืดหยุ่น ปลอดภัย และมั่งคั่ง การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจอย่างลึกซึ้งในหมู่หุ้นส่วนมีความสำคัญต่อการเติบโต สันติภาพ และความมั่งคั่งอย่างต่อเนื่อง” แถลงการณ์ร่วมไอพีอีเอฟระบุ

เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติทำเนียบขาว กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า สมาชิกไอพีอีเอฟรวมกันคิดเป็นราว 40% ของจีดีพีโลก และยังจะมีประเทศอื่นเข้ามาร่วมอีก

ทั้งนี้ นับตั้งแต่รับตำแหน่งในปี 2564 ประธานาธิบดีไบเดนเร่งผลักดันสร้างพันธมิตรทางทหารและการค้าขึ้นมาใหม่ จากที่เคยอ่อนแรงลงสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
 

สำหรับไอพีอีเอฟตั้งใจให้เป็นทางเลือกของพันธมิตรในช่วงที่จีนกำลังแผ่อิทธิพลทางการค้าไปทั่วเอเชียแปซิฟิก อย่างไรก็ตาม รัฐบาลวอชิงตันไม่มีเจตจำนงทางการเมืองกลับเข้าสู่ข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนข้ามแปซิฟิก (ทีพีพี) ที่ประธานาธิบดีทรัมป์นำสหรัฐถอนตัวออกไปในปี 2560 ปีถัดมาทีพีพีฟื้นขึ้นมาใหม่ในนามซีพีทีพีพีโดยไม่มีสหรัฐ

แม้ทีพีพีลดอุปสรรคด้านภาษีให้กับสมาชิก แต่จีนา เรมอนโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ ย้ำกับผู้สื่อข่าวว่า ไอพีอีเอฟไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เหมือนข้อตกลงการค้าแบบเก่า

กระนั้น นายกฯ คิชิดะยังไม่วายกล่าวว่า อยากให้สหรัฐเข้ามามีส่วนร่วมกับซีพีทีพีพีที่ใหญ่กว่าไอพีอีเอฟ ญี่ปุ่นตอบรับกรอบความร่วมมือใหม่และจะมีส่วนร่วมและให้ความร่วมมือ “แต่จากจุดยืนทางยุทธศาสตร์ ญี่ปุ่นหวังว่าสหรัฐจะกลับมาหาทีพีพี” นายกฯ ญี่ปุ่นย้ำ

ด้านจีนวิจารณ์ไอพีอีเอฟว่า เป็นความพยายามสร้างกลุ่มปิด ซัลลิแวนคัดค้านความเห็นดังกล่าวระบุ “ไออีพีเอฟถูกออกแบบและกำหนดให้เป็นแพลตฟอร์มเปิด”

ส่วนไต้หวัน ที่จีนอ้างว่าเป็นเขตอธิปไตยของจีน ไม่ได้เข้าร่วมในไอพีอีเอฟแม้ว่ามีความสำคัญในห่วงโซ่อุปทานไมโครชิพ แต่ซัลลิแวนชี้แจงว่า สหรัฐกำลังหาทางกระชับความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจกับไต้หวันให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น รวมถึงด้านไฮเทคโนโลยี เช่น เซมิคอนดักเตอร์และห่วงโซ่อุปทาน แต่กระทำภายใต้กรอบ “ทวิภาคี” เท่านั้น

สหรัฐถูกตั้งข้อสงสัยจากไอพีอีเอฟ เนื่องจากไม่มีแรงจูงใจในการบูรณาการ ไม่มีข้อเสนอเพิ่มการเข้าถึงตลาดสหรัฐอันใหญ่โต ไม่แน่ชัดว่าจะมีกลไกบังคับอย่างไร

แต่เรมอนโดกล่าวว่า ถ้าไอพีอีเอฟบังคับใช้ก่อนโควิด-19 สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ สหรัฐจะเจอความปั่นป่วนน้อยกว่านี้มาก แต่ถ้ามองในภาพกว้างโครงการริเริ่มนี้ได้รับการตอบรับอย่างดีจากภาคธุรกิจ “เนื่องจากเป็นทางเลือกนอกเหนือจากจีน” รมว.พาณิชย์ สหรัฐ กล่าว