ประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ วัดความจริงใจ "ไบเดน"

ประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ วัดความจริงใจ "ไบเดน"

การที่ทำเนียบขาวเป็นเจ้าภาพ การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐอเมริกาสมัยพิเศษ ในช่วงที่โลกกำลังสนใจสงครามรัสเซีย-ยูเครน รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวว่า การประชุมสุดยอดคราวนี้แสดงให้เห็นถึง “ความผูกพันมั่นหมายที่สหรัฐมีต่ออาเซียนอย่างต่อเนื่อง”

ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก มีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่งต่อความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ นอกจากนี้การประชุมทั้งสองวันยังเปิดโอกาสการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับอาเซียน กลุ่มความร่วมมือ 10 ประเทศที่รวมกันแล้วมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับเจ็ดของโลก

เว็บไซต์ usip.org ของสถาบันสันติภาพสหรัฐ รายงานว่า ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของทำเนียบขาวที่เผยแพร่ในเดือน ก.พ. ระบุว่า สหรัฐพยายามก้าวไปสู่อินโด-แปซิฟิคที่เสรีและเปิดกว้าง เชื่อมโยง มั่งคั่ง มั่นคง และยืดหยุ่นมากขึ้นซึ่งยุทธศาสตร์นี้จะประสบความสำเร็จได้ต้องมีอาเซียนที่ได้รับการเอื้ออำนาจ เป็นส่วนประกอบสำคัญควบคู่ไปกับพันธมิตรอย่างกลุ่มสี่ฝ่าย (สหรัฐ ออสเตรเลีย อินเดีย และญี่ปุ่น) ทว่า อาเซียนที่ได้รับการเอื้ออำนาจไม่ใช่เรื่องง่าย การเป็นกลุ่ม 10 ประเทศที่หลากหลายสูงแต่ดำเนินการด้วยหลักฉันทามติ ทำให้แม้แต่วันที่ดีที่สุดอาเซียนยังยากจะดำเนินการได้อย่างฉับไวหรือกล้าหาญ ยิ่งตอนนี้เกิดวิกฤติในเมียนมา อาเซียยิ่งยากจะเป็นองค์กรที่ทรงพลัง

เว็บไซต์ thediplomat.com รายงานว่า นับตั้งแต่ทหารเมียนมายึดอำนาจในเดือน ก.พ.2564 สถานการณ์เสื่อมถอยลงทุกวันและยังไม่มีแววสิ้นสุด ขณะที่อาเซียนไม่สามารถหาทางออกในความขัดแย้งนี้ได้ ฉันทามติห้าข้อที่อาเซียนเคยทำกับมิน อ่องหลาย ผู้นำรัฐบาลทหารเมื่อเดือน เม.ย.ปีก่อนไม่คืบหน้า

การประชุมครั้งนี้คาดว่ารัฐบาลไบเดนน่าจะพยายามชักชวนเหล่าผู้นำอาเซียนละทิ้งแนวทางฉันทามติ เปลี่ยนมาร่วมมือกับประเทศอื่นดำเนินการกับเมียนมาหนักข้อขึ้น เช่น คว่ำบาตรรัฐบาลทหาร แต่ก็เป็นไปได้ยากเหมือนกันด้วยหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของอาเซียน

แม้สถานการณ์การระบาดทั่วโลกจะทรงตัวแล้ว แต่มาตรการป้องกันผลที่ตามมาจากโควิด-19 ยังเป็นเรื่องจำเป็น และในอนาคตอาจมีสายพันธุ์ใหม่ๆ ก่อให้เกิดการระบาดครั้งใหญ่ได้อีก สหรัฐและอาเซียนจะต้องร่วมมือสู้โควิด-19 อย่างใกล้ชิดกันต่อไป

ขณะเดียวกันจีนใช้ัยุทธศาสตร์โควิดเป็นศูนย์ ซึ่งประธานาธิบดีไบเดนจะเชิญชวนให้ผู้นำอาเซียนเปลี่ยนมาใช้ยุทธศาสตร์รับมือโควิด-19 ที่สอดคล้องกับสหรัฐมากกว่า นอกจากนี้สหรัฐอาจเดินหน้าบริจาควัคซีนให้อาเซียนเพิมเติมเพื่อช่วยให้ฟื้นตัวจากการระบาดได้

ความร่วมมือด้านความมั่นคงทางทะเล

ความตั้งใจของสหรัฐต่อ “อินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง” จำต้องเสริมสร้างความร่วมมือทางทะเลกับประเทศในภูมิภาคนี้ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นเพื่อธำรงสันติภาพและเสถียรภาพ โดยเฉพาะในน่านน้ำข้อพิพาททะเลจีนใต้

การประชุมสุดยอดครั้งนี้จะเปิดโอกาสให้ประธานาธิบดีไบเดนส่งเสริมความร่วมมือทางทะเลกับอาเซียนให้มากยิ่งขึ้น เช่น ซ้อมรบทางทะเล ฝึกอบรม และแบ่งปันข่าวสาร แต่ประธานาธิบดีสหรัฐอาจต้องเจอแรงต้านบ้างเนื่องจากอาเซียนพยายามสร้างสมดุลระหว่างสหรัฐกับจีน

สงครามยูเครน

การเป็นเจ้าภาพต้อนรับผู้นำอาเซียนของประธานาธิบดีไบเดนก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าสหรัฐยังคงให้ความสำคัญกับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกแม้เกิดวิกฤติในยูเครน แต่การประชุมก็หนีเรื่องยูเครนไปไม่พ้น

ประการแรก ทางการสหรัฐจะชี้ให้เห็นว่าการรุกรานของรัสเซียทำลายระบบระหว่างประเทศ ประการที่ 2 จะเน้นย้ำถึงการสนับสนุนรัสเซียของจีนที่ตรงข้ามกับจุดยืนสหรัฐ ซึ่งประเทศอาเซียนโดยทั่วไปมักไม่ค่อยออกตัว พยายามวางตัวเป็นกลางในความขัดแย้งของสองมหาอำนาจ

ประเด็นที่จะหารือกันจะเป็นเรื่องการเข้าประชุมผู้นำจี20 ประชุมผู้นำเอเชียตะวันออก และการประชุมผู้นำเอเปค ที่จะจัดขึ้นหลังจากนี้ที่อินโดนีเซีย กัมพูชา และไทยตามลำดับ

กรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก

ภายใต้รัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สหรัฐถอยออกจากพันธมิตรเอเชีย ถอนตัวจากข้อตกลงพันธมิตรข้ามแปซิฟิก (ทีพีพี) ในเวลาที่อิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนเติบโตต่อเนื่องในภูมิภาคนี้

รัฐบาลไบเดนจะผลักดันยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างเพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นและไว้วางใจในหมู่ผู้นำในภูมิภาค หนึ่งในนั้นคือกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (ไอพีอีเอฟ) ที่จะทำหน้าที่เป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจให้สหรัฐในภูมิภาค 

วัดความจริงใจไบเดน

สัปดาห์ก่อนมีข้อน่าสังเกตถึงการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐอเมริกา สมัยพิเศษ เมื่อนาย Kao Kim Hourn รัฐมนตรีและที่ปรึกษาคนสนิทของนายกรัฐมนตรีฮุนเซนแห่งกัมพูชา เผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า การประชุมกระทำในนามอาเซียน ประธานาธิบดีไบเดนไม่มีแผนพบปะผู้นำคนใดแบบทวิภาคี แม้แต่ผู้นำกัมพูชาที่เป็นประธานอาเซียน 

นาย Kao Kim Hourn กล่าวด้วยว่า ผู้นำอาเซียนควรได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพและเท่าเทียม และได้รับโอกาสให้ใช้เวลาอันมีประโยชน์กับไบเดน

“ในฐานะประเทศใหญ่ ประเทศเจ้าภาพ สหรัฐควรเอื้อเฟื้อต่อแขก ซึ่งก็คือผู้นำที่กำลังเดินทางไปกรุงวอชิงตัน โดยเฉพาะในช่วงที่ประธานาธิบดีไบเดนกำลังพูดถึงการยกระดับความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ให้ครอบคลุม” รัฐมนตรีกัมพูชาหมายถึงข้อเสนอเพิ่มการมีส่วนร่วมระหว่างรัฐบาลวอชิงตันกับอาเซียนเขาเชื่อว่า เป็นวิถีปกติที่ประธานอาเซียนจะได้พบกับผู้นำประเทศเจ้าภาพ “ไม่ว่าจะเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ เพื่อได้หารือกันบ้าง”