จากตกต่ำสู่รุ่งเรือง ‘มาร์กอส จูเนียร์’ คืนทำเนียบ

จากตกต่ำสู่รุ่งเรือง ‘มาร์กอส จูเนียร์’ คืนทำเนียบ

เฟอร์ดินันด์ มาร์กอส จูเนียร์ ลูกชายผู้นำเผด็จการฟิลิปปินส์ชื่อเดียวกัน บรรลุเป้าหมายที่วาดหวังมาหลายสิบปี ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีฟื้นฟูแบรนด์ครอบครัวที่เสียหายย่อยยับได้สำเร็จ

สำนักข่าวเอเอฟพี รายงาน ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์อย่างไม่เป็นทางการ นับคะแนนแล้ว 95% มาร์กอส จูเนียร์ หรือ “บองบอง” ชนะการเลือกตั้งเมื่อวันจันทร์ (9 พ.ค.) แบบถล่มทลายหลังระดมฟอกขาวอดีตของครอบครัวอย่างไม่ลดละ ใช้ประโยชน์จากการเป็นพันธมิตรกับตระกูลคู่แข่งที่ควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ

แม้บิดาจะเคยกังวลเรื่องธรรมชาติความเป็นคน “สบายๆ และเกียจคร้าน” ของลูกชาย แต่วันนี้มาร์กอส จูเนียร์ วัย 64 ได้มาถึงจุดสูงสุดในชีวิตการเมือง 36 ปีหลังมาร์กอสผู้พ่อถูกพลังประชาชนลุกฮือขับไล่จนครอบครัวต้องลี้ภัยไปอยู่สหรัฐ

มาร์กอส จูเนียร์ เติบโตที่ทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงมะนิลา วัยเยาว์เขาต้องการเป็นนักบินอวกาศแต่ต้องเข้าสู่การเมืองตามรอยพ่อ รับตำแหน่งตั้งแต่รองผู้ว่าราชการจังหวัดอิโลคอส นอร์เต ฐานเสียงของตระกูลทางภาคเหนือ ได้เป็นผู้ว่าราชการสองสมัย จากนั้นเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ปี 2559 เคยลงชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีแต่พ่ายให้กับเลนี โรเบรโด ไปเฉียดฉิว

ปีนี้ทั้งคู่ต้องมาเจอกันในศึกชิงประธานาธิบดีที่คราวนี้ชัยชนะตกเป็นของมาร์กอส จูเนียร์ 

อิเมลดา มารดาวัย 92 ปี เคยกล่าวว่า ความฝันของเธอคือ ต้องการให้ลูกชายเป็นผู้นำประเทศ ตอนที่บิดาประกาศกฎอัยการศึก ทำการทุจริตขนานใหญ่ และปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างนองเลือดเมื่อปี 1972 (พ.ศ.2515) มาร์กอส จูเนียร์ ยังเรียนโรงเรียนประจำในอังกฤษ ระหว่างหาเสียงเขาปกป้องการปกครองของบิดาว่า ทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว การใช้จ่ายของรัฐบาลภายใต้กฎอัยการศึกเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อป้องกันประเทศจากภัยคอมมิวนิสต์และกลุ่มติดอาวุธมุสลิม

แม้มาร์กอส จูเนียร์ เรียกบิดาเป็น “อัจฉริยะทางการเมือง” แต่เขาพยายามไม่เอาตัวไปเกี่ยวข้องกับข้อหายักยอกงบประมาณแผ่นดินและการจัดการเศรษฐกิจผิดพลาดจนทำให้ฟิลิปปินส์ยากจนในภายหลัง

หลังจากจอมเผด็จการเสียชีวิตในฮาวายเมื่อปี 1989 (พ.ศ.2532) ตระกูลมาร์กอสกลับประเทศและเริ่มฟื้นคืนชื่อเสียงด้วยการได้รับเลือกตั้งไต่เต้าขึ้นมาตามลำดับ ประกอบกับประชาชนไม่สนใจเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวยที่เพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งรัฐบาลยุคหลังมาร์กอสเต็มไปด้วยข้อกล่าวหารับสินบน 

ทั้งหมดนี้ช่วยให้ครอบครัวเผด็จการกลับคืนสู่การเมืองได้จะว่าไปแล้วชัยชนะของมาร์กอส จูเนียร์ ไม่ได้เหนือความคาดหมาย ผลสำรวจความคิดเห็นชี้มาตลอดว่า มาร์กอส จูเนียร์ มีคะแนนนำรองประธานาธิบดีโรเบรโดอยู่หลายขุม แต่สำหรับ รศ.สีดา สอนศรี อดีตรองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญฟิลิปปินส์ ที่เคยสอนนักศึกษาเรื่องเผด็จการมาร์กอสไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะมีวันนี้ เธอมองว่า

ปัจจัยที่เอื้อให้มาร์กอส จูเนียร์คว้าชัยชนะประกอบด้วย

1) กลุ่มคนที่เกิดหลังมาร์กอสผู้พ่อประกาศกฎอัยการศึกไม่รู้ประวัติมาร์กอสมากนัก ในหลักสูตรการเรียนพูดถึงมาร์กอสน้อยมากเพราะสังคมฟิลิปปินส์ไม่ตำหนิติเตียนคนมากเกิน

2) ประชาชนกลุ่มรายได้น้อยและยากจนที่เรียกว่ากลุ่ม CDE คิดเป็น 60% ของประชากร โหวตให้มาร์กอส จูเนียร์ เพราะมีนโยบายสร้างเอกภาพ รวมคนฟิลิปปินส์ทั้งหมดให้เป็นหนึ่งเดียว พัฒนาเศรษฐกิจ และดำเนินนโยบายตามประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ซึ่งคนกลุ่ม CDE ชอบนโยบายของดูเตอร์เต รวมถึงนโยบายดึงการลงทุนจากจีน ขณะที่คนกลุ่ม AB ที่มี 40% รวมกลุ่มคนที่ผ่านช่วงมาร์กอสประกาศกฎอัยการศึกแม้ไม่เลือกมาร์กอส จูเนียร์แต่ก็มีคะแนนเสียงน้อยกว่า

3) มาร์กอส จูเนียร์หาเสียงโดยไม่ตำหนิพรรคอื่น ไม่ตำหนิคู่แข่งอย่างรองประธานาธิบดีโรเบรโด ไม่ยกว่าตนเองดีกว่าคนอื่นอย่างไรซึ่งคนฟิลิปปินส์ชอบแบบนี้ แม้พรรคของโรเบรโดมีนโยบายชัดเจนกว่า แต่หาเสียงตำหนิมาร์กอส จูเนียร์ว่าปล่อยเฟคนิวส์ พยายามเปลี่ยนประวัติศาสตร์ เป็นลูกเผด็จการ

 4) รองประธานาธิบดีโรเบรโดไม่ได้เข้าถึงคนจนมากนัก เน้นเวทีหาเสียงที่มีคนมาฟังจำนวนมาก แต่คนที่มาฟังอาจไม่เลือกก็ได้ทำให้เสียคะแนน

 รศ.สีดาตั้งข้อสังเกตว่า มาร์กอส จูเนียร์เป็นคนอ่อน ไม่แข็งเท่าพ่อหรือดูเตอร์เต “ดูแล้วไม่มีภาวะผู้นำ เขาจะถูก dominate โดยซาราห์ ดูเตอร์เต (รองประธานาธิบดีลูกสาวประธานาธิบดีดูเตอร์เต) จะเอาพรรคพวกจากมินดาเนาเข้ามาเป็นรัฐมนตรี อิเมลดาก็ยังอยู่ และมีโครงการต่างๆ มากมาย”

ในด้านนโยบายต่างประเทศ มาร์กอส จูเนียร์ คงไม่ติดต่อกับอาเซียนมากนัก ไม่สนใจปัญหาทะเลจีนใต้ น่าจะใช้เวทีทวิภาคีกับจีน คนจีนจะเข้ามาฟิลิปินส์มากขึ้น แต่ก็ไม่ทิ้งสหรัฐที่เคยให้ความช่วยเหลือครอบครัวไว้มาก

สิ่งที่ต้องจับตาในการบริหารประเทศของมาร์กอส จูเนียร์คือ หากมีความพยายามเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์อาจต้องเจอพลังประชาชน

“เขาก็ไม่ใช่คนไม่ดี เป็นคนอ่อนน้อม แต่ไม่ได้มีภาวะผู้นำ เสียดายที่เขามีพ่อแบบนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เขาพยายามเปลี่ยนประวัติศาสตร์ของพ่อ ซึ่งคนจะไม่ยอม อาจเกิดพลังประชาชนขึ้นมาก็ได้ แต่ถ้าเขาปกครองตามปกติก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น”

ต้องยอมรับว่าการเลือกตั้งฟิลิปปินส์เป็นกระบวนการประชาธิปไตย แต่ก็มีบทเรียนให้เรียนรู้ ในทัศนะของ รศ.สีดา มองว่า

1)ประวัติศาสตร์จะต้องจารึกความจริง

2) ผู้นำไม่ควรนำพรรคพวกบริวารมาบริหารบ้านเมืองเหมือนมาร์กอสผู้พ่อทำจนการบริหารงานไม่โปร่งใส ไม่มีธรรมาภิบาล ซึ่งประวัติศาสตร์ไม่ควรซ้ำรอยแบบนี้อีก

3)อย่าเชื่อโซเชียลมีเดีย เพราะคนพร้อมจะไปตามกระแส

4)เงินคือ ส่วนสำคัญ มาร์กอส จูเนียร์มีเงินจ้างคนระดมโพสต์โซเชียลมีเดีย

อย่างไรก็ตาม มาร์กอส จูเนียร์ เข้ามาด้วยเสียงของประชาชน และในสภายังมีระบบตรวจสอบและถ่วงดุล รวมทั้งการตรวจสอบนอกสภาจากประชาชน กลุ่มศาสนจักร และกลุ่มประชาสังคมฟิลิปปินส์ที่ยังแข็งแกร่ง ถ้าทำอะไรไม่ถูกต้องหรือเอาพรรคพวกเข้ามามากต้องถูกตรวจสอบ “เชื่อว่ามาร์กอส จูเนียร์ น่าจะได้บทเรียนมาบ้างแล้ว”  ผู้เชี่ยวชาญฟิลิปปินส์ กล่าวโดยสรุป

 

 

พิสูจน์อักษร  โดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์