มาตรการดูแลดีเซล-LPG ชนวนร้าวทีมเศรษฐกิจ ‘คลัง-พลังงาน’

มาตรการดูแลดีเซล-LPG ชนวนร้าวทีมเศรษฐกิจ ‘คลัง-พลังงาน’

“พีระพันธุ์” เร่งกฎหมายปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน ดึงอำนาจกำหนดภาษีน้ำมัน อ้างคำสั่งนายกฯ ปี 2547 ช่วยลดขาดทุนของกองทุน “คลัง” พร้อมร่วมแก้ปัญหา ต้องพิจารณาผลกระทบรายได้รัฐ ผลประโยชน์ขึ้นประชาชนแท้จริง "กบน." ขึ้นราคาดีเซล 50 สตางค์ พยุงกองทุนน้ำมันติดลบ 109,186 ล้าน

มาตรการดูแลราคาพลังงานที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยแถลงต่อรัฐสภา เป็นนโยบายลำดับแรกที่นายเศรษฐา ทวีสิน นากยกรัฐมนตรี เร่งให้ดำเนินการ โดยมอบนโยบายให้กระทรวงพลังงานช่วยเหลือแบบถ้วนหน้า เพื่อสร้างผลทางการเมืองในทันทีที่รัฐบาลเริ่มบริหารประเทศ

การดูแลราคาไฟฟ้า น้ำมันและแอลพีจี เป็นต้นทุนที่รัฐบาลจะต้องจัดหาแหล่งเงินเพื่อใช้ดำเนินการไม่ว่าจะเป็นการใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงการลดภาษีสรรพสามิตเบนซินและดีเซล และการจัดสรรงบประมาณกลาง แต่ภารดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นส่งผลให้กระทรวงการคลังไม่ต่อมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน

ทั้งนี้การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันส่งผลให้ ‘คลัง’ สูญรายได้ในปี 2566 วงเงิน 120,000 ล้านบาท และปี 2567 (ถึง เม.ย.) 30,000 ล้านบาท รวมสูญรายได้ 150,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นความเห็นแย้งระหว่างกระทรวงการคลังที่บริหารโดยพรรคเพื่อไทย และกระทรวงพลังงานที่บริหารโดยพรรครวมไทยสร้างชาติ

จากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 พ.ค.2567 มีมติให้ความเห็นชอบในหลักการมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน ตามที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเสนอ 3 มาตรการ รวมทั้งสิ้น 8,300 ล้านบาท ประกอบไปด้วย  

1.มาตรการด้านน้ำมันเชื้อเพลิง จำนวน 6,500 ล้านบาท

2.มาตรการช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้น้ำมันดีเซลจำนวน 6,000 ล้านบาท และช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้ก๊าซ LPG จำนวน 500 ล้านบาท 

3.มาตรการด้านไฟฟ้า จำนวน 1,800 ล้านบาท

ทั้งนี้ ที่ประชุม ครม.อนุมัติให้ใช้งบกลางเฉพาะมาตรการด้านไฟฟ้าช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง 1,800 ล้านบาทเท่านั้น โดยมาตรการอื่นอีก 6,500 ล้านบาท ให้ใช้งบประมาณจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงก่อน ในส่วนที่เหลือค่อยขอรับจัดสรรจากงบฯ ปี 2567 งบกลาง ในรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานพยายามจะดูแลราคาดีเซลมาตลอด โดยได้รับข้อร้องเรียนว่าทำไมเวลาราคาน้ำมันในตลาดโลกลดราคา แล้วถึงไม่มีการลดราคาให้กับประชาชน

มาตรการดูแลดีเซล-LPG ชนวนร้าวทีมเศรษฐกิจ ‘คลัง-พลังงาน’

"กระทรวงพลังงานพยายามตรึงราคาอยู่ที่ 30 บาทต่อลิตร แต่ขณะนี้ยังตรึงไม่ได้ตลอดระยะเวลา 50 ปี เราใช้วิธีการตรึงราคาด้วยเงินก็ขึ้นกับเงินในกระเป๋า ที่ผ่านมาเงินมากเราก็ตรึงราคาได้มาก แต่ว่าเงินน้อยตอนนี้เราก็ตรึงได้น้อย ถ้าเก็บเงินได้มากเดี๋ยวก็ตรึงได้อีก แต่ว่าระบบนี้เราไม่เห็นด้วย ซึ่งต้องปรับระบบใหม่ซึ่งตนเองกำลังเขียนกฎหมายอยู่ และจะแล้วเสร็จเร็วๆ นี้ โดยคาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน ซึ่งตอนนี้เขียนไปได้ในระดับหนึ่งแล้ว" นายพีระพันธุ์ กล่าว

ส่วนประเด็นกองทุนน้ำมันฯ ยังใช้ในการดูแลราคาน้ำมันได้นานหรือไม่ นายพีระพันธุ์ ชี้แจงว่า เดิมการดูแลราคาน้ำมันตั้งแต่ปี 2516 ที่มีการตั้งกองทุนน้ำมันฯ แต่ยังไม่ได้มีกฎหมายรองรับ เมื่อมามีกฎหมายรองรับตั้งแต่ปีตาม พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯ 2562 โดยก่อนปี 2562 นั้นคำสั่งที่ใช้ในการดำเนินงานเป็นไปตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2547

หวังดันอำนาจให้กองทุนน้ำมันฯคุมเพดานดีเซล

อย่างไรก็ตาม ในคำสั่งนี้ได้ให้อำนาจกองทุนน้ำมันฯ มีอำนาจในการดูแลหรือตรึงราคาน้ำมันได้ 2 วิธี หรือ 2 ขา คือ การใช้เงินในกองทุนน้ำมันฯ และอีกส่วนหนึ่งคือ การให้อำนาจในการกำหนดเพดานภาษี 

ทั้งนี้ กองทุนน้ำมันฯ ในอดีตไม่มีอำนาจในการเก็บภาษีแต่มีอำนาจในการกำหนดเพดานภาษีของน้ำมันแต่ละชนิด ดังนั้น เราสามารถใช้เครื่องมือทั้งสองส่วนนี้ในการดูแลราคาน้ำมันให้ประชาชนได้ 

ดังนั้น จึงใช้ทั้งเงินในกองทุนน้ำมันฯ และเพดานภาษีมาดูแลราคาน้ำมัน ซึ่งก็คือเรามีอำนาจในการกำหนดเพดานภาษีน้ำมันแต่ละประเภทได้ แต่คนเก็บภาษีนั้น คือกระทรวงการคลัง แต่พอออกกฎหมายในปี 2562 แล้ว ได้มีการตัดอำนาจในการกำหนดภาษีของกองทุนน้ำมันฯ ออก เหลือแต่การใช้เงินอย่างเดียว ทำให้กองทุนน้ำมันฯ นั้นติดลบ เป็นหนี้จำนวนมากตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา

“การกำหนดภาษีน้ำมันฯ ซึ่งเคยเป็นอำนาจของกองทุนน้ำมันฯ นั้นไม่มีแล้วตั้งแต่ปี 2562 ครั้งนี้เราก็ไปขอให้กระทรวงการคลังพิจารณาลดเพดานภาษีน้ำมันสรรพสามิตดีเซล แต่เขาไม่เห็นด้วย" 

ทั้งนี้เดิมกระทรวงพลังงานกำหนดผ่านกองทุนน้ำมันฯ ได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ควรมมีการแก้ไขต่อไปเช่นกัน ซึ่งควรจะกลับมาเป็นแบบเดิม เนื่องจากสินค้าตัวนี้ กระทรวงพลังงานเป็นคนดู อำนาจส่วนนี้จึงควรอยู่กับกระทรวงพลังงาน แต่เมื่อกำหนดแล้วก็เป็นหน้าที่ที่กระทรวงการคลังไปเก็บภาษีในส่วนนี้ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2547”

“คลัง” พร้อมหารือปรับโครงสร้างราคาพลังงาน

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คงต้องหารือร่วมกันก่อน เบื้องต้นมองว่าเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจ หากสามารถปรับโครงสร้างราคาพลังงานและเกิดประโยชน์กับประชาชน ดังนั้น ในส่วนของรายละเอียดคงจะต้องหารือกันอีกครั้ง

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง เองก็มีแนวความคิดเรื่องการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน เพื่อสนับสนุนแนวทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (ESG) ดังนั้นจึงจำเป็นต้องวางโครงสร้างที่เหมาะสม โดยไม่ให้เกิดผลกระทบกับผู้ใช้พลังงาน และทำให้ประเทศไทยมีจุดยืนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาด

นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า หากมีการแก้กฎหมายจะต้องพิจารณาเรื่องของผลกระทบ ซึ่งแน่นอนว่ารัฐจะได้รับผลกระทบในเรื่องของการสูญเสียรายได้ ส่วนในแง่ของประชาชน จะได้ประโยชน์จากราคาพลังงานที่ถูกลงจริงหรือไม่

นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาถึงผลกระทบในระยะยาว ว่าหากมีการปรับโครงสร้างราคาพลังงานใหม่ จะสามารถรองรับความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลกได้อย่างไร ซึ่งจะเกิดผลกระทบอย่างไรก็ต้องพิจาณาอย่างรอบคอบ

พ.ร.บ.กองทุนน้ำมัน 2562 ยกอำนาจคลังดูภาษีน้ำมัน

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การบริหารราคาน้ำมันสมัยก่อนหน้าที่ยังไม่มีกองทุนน้ำมันฯ จะอาศัยคำสั่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งในคำสั่งนายกฯ จะมีข้อหนึ่งที่ว่าอำนาจของกองทุนน้ำมันฯ ให้สามารถพิจารณาในเรื่องภาษีเองได้ ซึ่งสมัยนั้นราคาน้ำมันไม่ได้มีปัญหาและสูงเหมือนเช่นปัจจุบัน ต่อมาเมื่อมีพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 ในระหว่างประชาพิจารณ์ได้มีการตัดอำนาจกองทุนน้ำมันฯ ตรงนี้ออกไป โดยสมัยนั้น นายกุลิศ สมบัติศิริ เข้ามาเป็นปลัดกระทรวงพลังงาน ในช่วงเริ่มต้น 

ทั้งนี้ ในการประชาพิจารณ์ ได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีประเด็นที่กระทรวงการคลัง และหลายหน่วยงานต่างให้ความเห็นว่าอานาจในด้านของภาษีถือเป็นหน้าที่ของกรมสรรพสามิตไม่ใช่อำนาจของหน่วยงานอื่น จึงควรเป็นหน่วยงานเดียวในการพิจารณา และได้ตัดอำนาจกองทุนน้ำมันฯ ออกตาม พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯ พ.ศ.2562 

"พอมายุคนายพีระพันธุ์ ได้มาย้อนดูว่าใครเป็นคนตัด และทำไมตัดอำนาจ เพราะวันนี้น้ำมันแพงแต่ตัว รมว.คุยกับกระทรวงการคลังไม่ได้ก็อาจจะมองโมโหว่าอะไรก็มาโทษแกทำไมคลังไม่ช่วย ซึ่งส่วนตัวยังเชื่อว่าคลังจะไปยอมเพราะมีหน้าที่ดูรายได้ประเทศ เมื่อเขาเก็บภาษี 7% พลังงานจะเก็บ 1% ใครเขาจะยอม เพราะเขาต้องคำนวนรายได้ ของบกลางก็ไม่ได้ จึงเชื่อว่าหากคุยกันดีๆ ก็น่าจะมีทางออก แต่อย่างที่หลายฝ่ายเข้าใจว่าเป็นเรื่องของการเมือง เพราะสมัยที่ทหารดูหมด"

“พลังงาน” ยันบทบาทด้านภาษีให้คลังถูกต้องแล้ว

แหล่งข่าว กล่าวว่า แนวทางปฏิบัติที่ผ่านมากองทุนน้ำมันฯ ก็ไม่เคยใช้อำนาจเลยตั้งแต่อยู่กับสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) แล้ว โดยหลักจะให้กระทรวงการคลังเป็นผู้กำหนด เนื่องจากป็นผู้ดูแลรายได้ทั้งประเทศ จะต้องรู้ว่าภาษีเท่านี้จะมาพัฒนาอไร ดังนั้น รายได้ทั้งหมดจึงควรอยู่กับกรมสรรพสามิต 

ส่วนคำสั่งนายกฯ จะทำให้ใหญ่กว่า พ.ร.บ.ก็คงไม่ได้ จึงต้องกลับมาคุยว่า ตอนที่เขียน พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯ โดยไม่เคยใช้อำนาจในเรื่องนี้เลยก็ลำบาก แม้จะมีคำสั่งและเขียนจริงแต่ไม่เคยใช้เลยเพราะอำนาจยกให้สรรพสามิตดูภาพรวม เมื่อเห็นว่าราคาน้ำมันแพงและเยอะไปก็ไปขอความร่วมมือแทน เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา 

โดยกรมสรรพสามิตจะทำเรื่องเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) และออกราชกิจจานุเบกษา รวมถึงชี้แจงว่าเมื่อลดภาษีแล้วจะสูญเสียรายได้เข้ารัฐเท่าไหร่ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวแม้จะเป็นคนกระทรวงพลังงานก็ไม่เห็นด้วยกับการจะดึงกลับมา เพราะเป็นอานาจที่กระทรวงการคลังดูในภาพรวม หากกระทรวงพลังงานจะลดภาษีก็จะต้องดูถึงผลกระทบที่จะตามมาอีกว่ารายได้ประเทศจะเป็นอย่างไร ซึ่งปัจจุบันเก็บที่ 5.99 บาทต่อลิตร หากลดลงเหลือ 3 บาทต่อลิตร แล้วเงินที่หายไป 2 บาท 

ทั้งนี้กระทรวงพลังงานจะรู้หรือไม่ว่าจะสูญเสียอะไรไปบ้าง ตัวชี้วัดประเทศไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป จึงเห็นว่าควรให้อยู่ที่เดิมแล้วใช้วิธีการเจรจาต่อรองให้ช่วยเหลือเหมือนตามที่ผ่านมา

แก้กฏหมายต้องชี้แจงถึงผลได้ผลเสียให้ชัดเจน

สำหรับการแก้กฎหมายทุกอย่างมีขั้นตอน ต้องอธิบายถึงเหตุผลและความจำเป็น ประชาชนได้อะไร และเสียอะไร ทำเพื่ออะไรเพื่อให้เป็นมติ ครม.เหมือนกับการขอลดภาษี การแก้กฎหมายจะต้องมาอยู่ใน พ.ร.บ.ฉบับใหม่ปี 2567 หากเสร็จปีนี้ได้จริง 

ทั้งนี้เมื่อส่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่เสร็จ ก็จะต้องเวียนความคิดเห็นว่าจะกระทบกับกฎหมายฉบับใดบ้าง ซึ่งแน่นอนว่าต้องกระทบกฎหมายกรมสรรพสามิตที่ปัจจุบันมีอำนาจดูอยู่ และต้องดูว่าขัดหรือไม่ และต้องได้รับความยินยอมจากกรมสรรพสามิตก่อน

“ยืนยันว่าไม่ง่าย หากเอามาแล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศชาติบ้างก็ไม่มีใครตอบได้ เพราะไม่รู้ว่าเงินภาษีน้ำมันที่ลดให้เกือบ 2 แสนล้านบาทในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้สูญเสียอะไรไปบ้าง คนกระทรวงพลังงานก็ไม่ทราบได้ เป็นเรื่องของหน่วยงานที่อ้างอิงกันได้ การบริหารจัดการจะลำบาก” แหล่งข่าว กล่าว

“กบน.”ขึ้นราคาดีเซล 50 สตางค์มีผล 10 พ.ค.67

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) พิจารณาสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เห็นว่ายังมีรายจ่ายต่อวันเป็นจำนวนมาก ประกอบกับสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในขณะนี้ยังมีความผันผวนต่อเนื่องจากสถานการณ์ด้านสงครามและเศรษฐกิจ 

กบน.มีมติลดอัตราเงินชดเชยประเภทน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 จาก 3.08 บาทต่อลิตร เป็น 2.58 บาทต่อลิตร เพื่อให้กองทุนน้ำมันฯ มีรายจ่ายประเภทดีเซลลดลงวันละ 35.42 ล้านบาท จากวันละ 216.99 ล้านบาท เป็น 181.57 ล้านบาท 

สำหรับการลดอัตราเงินกองทุนน้ำมันประเภทดีเซลในครังนี้ส่งผลให้ราคาขายปลีกประเภทน้ำมันดีเซลปรับขึ้น 0.50 บาทต่อลิตร เป็น 31.44 บาทต่อลิตร มีผลตั้งแต่วันที่ 10 พ.ค. 2567 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ การพิจารณาดังกล่าวเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 พ.ค.2567 ที่มีมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานแก่ประชาชน โดยวางกรอบการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 33 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย.- 31 ก.ค.2567 ซึ่งเป็นมาตรการต่อเนื่องจากมาตรการเดิมที่สิ้นสุดเมื่อเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา 

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาระค่าของชีพของประชาชนและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศ และการดำเนินการนี้เป็นไปตามมติ กบน. เมื่อวันที่ 27 มี.ค.2567 เห็นชอบในหลักการณ์ให้ปรับอัตราเงินกองทุนน้ำมันฯ ประเภทน้ำมันดีเซลเพื่อให้ราคาขายปลีกเกินกว่า 30 บาทได้ตั้งแต่เดือน เม.ย.2567

อย่างไรก็ดี กบน.จะพิจารณาลดการชดเชยราคาน้ำมันดีเซลแบบค่อยเป็นค่อยไปให้เป็นไปตามช่วงเวลาและจังหวะที่เหมาะสม เพื่อรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันภายในประเทศไม่ให้ผันผวนมากจนเกินไป และกระทบต่อค่าครองชีพประชาชนน้อยที่สุด

สำหรับฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสุทธิ ณ วันที่ 5 พ.ค.2567 ติดลบรวม 109,186 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 61,640 ล้านบาท ส่วนก๊าซ LPG ติดลบ 47,546 ล้านบาท