‘มาร์กอส’ชนะเลือกตั้งจุดเริ่มต้นยุคแพร่ข่าวเท็จในฟิลิปปินส์

‘มาร์กอส’ชนะเลือกตั้งจุดเริ่มต้นยุคแพร่ข่าวเท็จในฟิลิปปินส์

‘มาร์กอส’ชนะเลือกตั้งจุดเริ่มต้นยุคแพร่ข่าวเท็จในฟิลิปปินส์ และการหวนกลับมาปกครองฟิลิปปินส์อีกครั้งของตระกูลมาร์กอส ชาวฟิลิปปินส์ไม่ใช่ชาติเดียวที่จะได้รับผลกระทบ

ผู้สื่อข่าวเจ้าของรางวัลโนเบลคนแรกของฟิลิปปินส์ เตือน ฝันร้ายเกี่ยวกับการแพร่สะพัดของข้อมูลเท็จจะกลับมา หาก “บองบอง มาร์กอสชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ที่ประชาชนเริ่มไปใช้สิทธิหย่อนบัตรเลือกผู้นำวานนี้ (9พ.ค.)

"มาเรีย เรสซา" ผู้สื่อข่าวสาวชาวฟิลิปปินส์ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2564 เตือนว่า หาก"เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์" หรือ “บองบอง” ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี จะเป็นการสานต่อปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “การกระจายข้อมูลเท็จ” และอาจส่งผลกระกระทบต่อการเลือกตั้งในประเทศอื่น ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ หรือบราซิล เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

เรสซาให้สัมภาษณ์แสดงความคิดเห็นกับ“ฮัสลินดา อามิน” พิธีกรรายการของสถานีโทรทัศน์บลูมเบิร์ก ทีวีในวันเลือกตั้งทั่วประเทศของฟิลิปปินส์ว่า หากตระกูลมาร์กอสกลับมาเรืองอำนาจจากการเลือกตั้งในครั้งนี้ ชาวฟิลิปปินส์ไม่ใช่ชาติเดียวที่จะได้รับผลกระทบ

บทเรียนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2559 แสดงให้เห็นว่าฟิลิปปินส์คือโดมิโนตัวสำคัญที่ล้มลงก่อนจะตามมาด้วยเหตุการณ์ประกาศแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ (เบร็กซิท) การที่“โดนัลด์ ทรัมป์”ชนะการเลือกตั้งในสหรัฐ และ“ฌาอีร์ โบลโซนารู”ได้ก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีบราซิล สิ่งเหล่านี้อาจกลับมาหากฟิลิปปินส์ล้มลงอีกครั้ง

“การเลือกตั้งที่บราซิลในเดือนต.ค.นี้และการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐในเดือนพ.ย.จะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน" เรสซา กล่าว

ขณะที่ผลสำรวจช่วงก่อนการเลือกตั้งพบว่า มาร์กอส จูเนียร์ได้รับคะแนนนิยมท่วมท้นมาเป็นอันดับหนึ่งจากความพยายามในการใช้โฆษณาชวนเชื่อผ่านทางสื่อออนไลน์ โดยเขาได้เปลี่ยนประวัติศาสตร์การใช้กฏอัยการศึกอันโหดร้ายในยุคของผู้พ่อ ให้กลายเป็นยุคทองของฟิลิปปินส์และการสนับสนุนจากกลุ่มอำนาจทางการเมืองที่ทรงอิทธิพล

“คะแนนนิยมของมาร์กอส จูเนียร์มีรากฐานมาจากการเผยแพร่ข้อมูลเท็จที่เริ่มต้นขึ้นในปี 2557 ซึ่งประจวบเหมาะกับความพยายามในการฟื้นฟูภาพลักษณ์ของวงศ์ตระกูลของเขาในระดับชาติ แม้ว่าเขาจะพ่ายแพ้ในศึกเลือกตั้งชิงตำแหน่งรองปธน.ให้แก่“มาเรีย ลีโอนอร์ โรเบรโด”ในปี 2559 แต่เครือข่ายเหล่านั้นก็แสดงให้เห็นว่า ปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าวสารเชิงระบบนั้น สามารถสร้างผลกระทบและบิดเบือนข้อเท็จจริงได้” เรสซา กล่าว

เรสซา เป็นผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ในฟิลิปปินส์ที่เรียกว่า แรปป์เลอร์ (Rappler) ซึ่งได้รับความชื่นชมในระดับนานาชาติจากผลงานการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนการกระทำผิดของตำรวจจากนโยบายปราบปรามยาเสพติดขั้นเด็ดขาดของประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต

เธอคร่ำหวอดในการทำงานข่าวต่อต้านข้อมูลเท็จ-ข่าวเท็จ (fake news) นอกจากนี้ แรปป์เลอร์ ยังทำการรวบรวมเอกสารเกี่ยวกับ “ข้อมูลเท็จ” ที่จัดทำโดยกลุ่มผู้สนับสนุนและเครือข่ายที่เชื่อมโยงไปยังปธน.ดูเตอร์เต รวมทั้งมาร์กอส จูเนียร์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาด้วย

ทั้งนี้ หน่วยเลือกตั้งกว่า 37,000 แห่งทั่วฟิลิปปินส์ เริ่มเปิดคูหาให้ประชาชนเข้าไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีตั้งแต่เวลา 06.00 น. ของวันจันทร์(9พ.ค.)และดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงเวลา 19.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของวันเดียวกัน โดยมีผู้สมัครทั้งสิ้น 10 คน แต่ที่โดดเด่นคือมาร์กอส จูเนียร์ และโรเบรโด รองประธานาธิบดีฟิลิปปินส์คนปัจจุบัน

ด้านรองประธานาธิบดีโรเบรโดร ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งในโรงเรียนแห่งหนึ่ง ในเขตเทศบาลมากาเราจังหวัดกามาริเนส ซูร์ โดยเธอสวมเสื้อสีน้ำเงินและกางเกงขายาวสีดำ ไม่ใช่สีชมพูที่เป็นสัญลักษณ์ในการหาเสียง 

นอกจากนี้ เธอยังนั่งรอคิวร่วมกับผู้ไปใช้สิทธิ์ตั้งคนอื่น ๆ และยืนต่อแถวรอลงทะเบียนใช้สิทธิ์เหมือนกันประชาชนทั่วไป โดยไม่ได้ขอสิทธิพิเศษใด ๆ

ต่างจากบองบอง ที่ระหว่างไปใช้สิทธิ์ ต้องมีการปิดพื้นที่เพื่อให้เขาไปลงคะแนนเสียงโดยเฉพาะ ทำให้ชาวเน็ตนำภาพการไปใช้สิทธิ์ของโรเบรโดรกับบองบองมาเทียบกันและวิจารณ์ว่า “ไม่ต้องคิดมากก็ดูออกว่าใครที่อยากเข้าไปเพื่อแสวงหาอำนาจ และใครที่อยากเข้าไปเพราะรักชาติบ้านเมือง”

นอกจากเลือกตั้งประธานาธิบดีแล้ว ยังมีการเลือกตั้งรองประธานาธิบดี สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกผู้แทนราษฎร ผู้ว่าราชการจังหวัด นายกเทศมนตรี และสมาชิกสภาท้องถิ่นรวมประมาณ 18,000 ตำแหน่งด้วย

ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้ รัฐบาลฟิลิปปินส์ระดมกำลังทั้งทหาร ตำรวจ และยามฝั่งรวมอย่างน้อย 80,000 นาย เพื่ออารักขาหน่วยเลือกตั้งต่าง ๆ ทั่วประเทศ ส่วนคณะกรรมการการเลือกตั้งก็ส่งเจ้าหน้าที่ออกเก็บป้ายหาเสียงของผู้สมัครตามท้องถนนออกให้หมด

โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยเมื่อวันอาทิตย์(8 พ.ค.)ว่า สถานการณ์โดยรวมทั่วประเทศก่อนการเลือกตั้งถือว่าสงบเรียบร้อยดี แม้มีการกระทำผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 16 ครั้ง นับตั้งแต่เริ่มหาเสียงเลือกตั้ง รวมถึงเหตุการณ์ยิงต่อสู้ 2 ครั้ง ระหว่างผู้สนับสนุนของผู้สมัครเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ซึ่งถือว่าสถิติลดลงน้อยมากเมื่อเทียบกับการเลือกตั้งปี 2559 และการเลือกตั้งกลางเทอมในปี 2562

นอกจากนี้ มีการจับกุมกว่า 3,000 ครั้ง เกี่ยวกับการฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้งเรื่องการพกพาอาวุธปืน ซึ่งก็ถือว่าน้อยลงกว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมา

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุด้วยว่ายังไม่พบภัยคุกคามร้ายแรงใด ๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้งระดับประเทศและระดับท้องถิ่น และยืนยันว่าจะใช้อำนาจตามกฎหมายอย่างเต็มที่เพื่อจัดการกับบุคคลที่พยายามก่อความรุนแรงหรือทำลายการเลือกตั้งครั้งนี้