จีนย้ำโควิดเป็นศูนย์‘อาวุธวิเศษ’คุมระบาด

จีนย้ำโควิดเป็นศูนย์‘อาวุธวิเศษ’คุมระบาด

หน่วยงานสาธารณสุขแถลง จีนต้องเดินหน้าใช้ “อาวุธวิเศษ” ยุทธศาสตร์โควิดเป็นศูนย์ แม้เพิ่มต้นทุนทางเศรษฐกิจและมีสัญญาณประชาชนไม่พอใจเพิ่มมากขึ้้นกับการล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้

ตามที่รัฐบาลจีนย้ำเสมอมาว่าสนับสนุนนโยบายโควิดเป็นศูนย์ขจัดการติดเชื้อทันทีด้วยการล็อกดาวน์ รุกตรวจหาเชื้อจากประชาชนจำนวนมาก แต่โควิดสายพันธุ์โอมิครอนที่ติดต่อง่ายถือเป็นความท้าทายใหญ่ เป็นเหตุให้ปีนี้หัวเมืองใหญ่หลายแห่งของจีนถ้าไม่ล็อกดาวน์เต็มรูปแบบก็ต้องปิดบางส่วน เช่น เซี่ยงไฮ้ ที่ประชากร 25 ล้านคน

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน นายหลี่ ปิน รองผู้อำนวยการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีน (เอ็นเอชซี) แถลงเมื่อวันศุกร์ (29 เม.ย.) ว่า นโยบายจัดการโควิดของจีนเป็น “อาวุธวิเศษสำหรับป้องกันและควบคุมการระบาดใหญ่” หากผ่อนคลายจะทำให้โควิดกระจาย ประชาชนจะติดเชื้อจำนวนมาก

ปัจจุบันจีนกำลังเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 ครั้งเลวร้ายที่สุด เมื่อวันศุกร์รายงานการเสียชีวิต 52 ราย ทั้งหมดอยู่ในเซี่ยงไฮ้ ขณะที่ชาติอื่นเริ่มยกเลิกข้อจำกัดคุมโควิดทั้งหมดเพื่อใช้ชีวิตร่วมกับไวรัส แต่ทางการจีนกล่าวว่า นั่นไม่ใช่ทางเลือกเพราะยิ่งทำให้เกิดความเสี่ยงสูงต่อระบบสาธารณสุข

นายเหลียง วั่นเหนียน ผู้เชี่ยวชาญจากเอ็นเอชซี กล่าวเมื่อวันศุกร์ถึงข้อเท็จจริงที่ว่า อัตราการฉีดวัคซีนของผู้สูงอายุจีนยังไม่มากพอ คำมั่นจากรัฐบาลใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ต่อเนื่องเกิดขึ้นก่อนวันแรงงาน ช่วงเวลาที่คนเดินทางกันมากที่สุดช่วงหนึ่งของจีน

เจ้าหน้าที่ขนส่งรายหนึ่งเผยว่า จำนวนการเดินทางตลอดช่วงห้าวันในปีนี้คาดว่าจะลดลง 62% จากปี 2564

ไม่เพียงเท่านั้น คลื่นกระแทกทางเศรษฐกิจผลจากนโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีน ประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ยังส่งผลไปทั่วโลก

ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีอย่างแอ๊ปเปิ้ล กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี (28 เม.ย.) เตือนว่า การล็อกดาวน์ในจีนเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผลประกอบการไตรมาส มิ.ย.ลดลง 4-8 พันล้านดอลลาร์

 นายเจิร์ก วุตเก ประธานหอการค้าอียูในจีน เผยกับ The Market NZZ ชัดเจนแล้วว่าทางการจีนให้ความสำคัญกับอะไรเป็นอย่างแรก

“นายกเทศมนตรี นักการเมืองในภูมิภาค ตอนนี้ทั้งหมดต่างมีมาตรวัดเดียวคือโควิดเป็นศูนย์ พวกเขาไม่สนใจเศรษฐกิจในระยะสั้น”

เว็บไซต์ fortune.com รายงานความเห็นผู้เชี่ยวชาญ  การล็อกดาวน์เข้มงวดยิ่งซ้ำเติมความเสียหายต่อซัพพลายเชนโลกและเงินเฟ้อเพิ่มสูงอีกในไม่กี่เดือนข้างหน้า

นโยบายโควิดเป็นศูนย์ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กำลังถูกทดสอบ ขณะที่ประชาชนไม่พอใจมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นกรณีต้องถูกล็อกดาวน์อยู่กับบ้านนานหลายสัปดาห์ อาหารไม่พอ และการฆ่าสัตว์เลี้ยงต้องสงสัยติดโควิด

ขณะที่เสิ่นเจิ้น เมืองศูนย์กลางเทคโนโลยีหลุดจากการล็อกดาวน์นานเกือบหนึ่งเดือน เซี่ยงไฮ้ เมืองใหญ่สุดของประเทศ ที่ตั้งท่าเรือสินค้าใหญ่สุดของโลกถูกล็อกดาวน์มาตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค. ผลกระทบทางเศรษฐกิจเริ่มมีให้เห็น

ความต้องการพลังงานในจีนเดือนนี้ร่วงลง 20% ตามคาด หนักสุดนับตั้งแต่ปิดเมืองเพราะโควิด-19 ครั้งแรกเมื่อกว่าสองปีก่อน ซัพพลายเชนโลกกำลังเริ่มรู้สึกถึงความยากลำบากแล้วเช่นกัน

ฝันร้ายซัพพลายเชน

ปัจจุบันเรือขนส่งสินค้าหนึ่งในห้าติดอยู่ตามท่าเรือต่างๆ ทั่วโลก 30% มาจากจีน ลาร์ส เจนเซน ซีอีโอ Vespucci Maritime บริษัทที่ปรึกษาอุตสาหกรรมตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้า กล่าวกับฟอร์จูนว่าผลกระทบเต็มตัวจากนโยบายจีนจะเริ่มเผยให้เห็นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ถ้าเซี่ยงไฮ้ยังไม่เลิกล็อกดาวน์ผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานจะเพิ่มมากขึ้น

ด้านเว็บไซต์ซีเอ็นบีซีรายงานว่า เมื่อวันศุกร์ (29 เม.ย.) ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง นำการประชุมเศรษฐกิจกับคณะกรรมการโปลิตบูโรพรรคคอมมิวนิสต์ เหล่าผู้นำตั้งข้อสังเกตถึงคุณลักษณะใหม่ของโควิดกลายพันธุ์ และว่าจีนควรยึดมั่นกับ “นโยบายโควิดเป็นศูนย์อย่างมีพลวัต”

นายบรูซ ปัง หัวหน้าฝ่ายวิจัยมหภาคและยุทธศาสตร์ บริษัทไชนาเรเนสซองส์ ระบุ นั่นหมายความว่า จีนจะไม่ผ่อนคลายนโยบายโควิดในระยะสั้น

การประชุมครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าแรงต้านต่อเศรษฐกิจจีนแรงกว่าที่เคยคาดกันไว้ อีกทั้งเหล่าผู้นำยังเรียกร้องให้มีการสนับสนุนด้านนโยบายเพิ่มเติมเพื่อให้ผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) จีนทะลุเป้าราว 5.5%

วาณิชธนกิจหลายแห่งลดคาดการณ์จีดีพีจีนลงแล้ว หนึ่งในนั้นลดต่ำเหลือแค่ 3.9% หลังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มมากและต้องออกมาตรการเข้มงวดมาควบคุม

เซี่ยงไฮ้ มหานครทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ ที่ตั้งของท่าเรือพลุกพล่านที่สุดในโลก สั่งประชากรส่วนใหญ่อยู่แต่ในบ้านมานานกว่าหนึ่งเดือนแล้ว เพื่อควบคุมการติดเชื้อในท้องถิ่น ส่วนอื่นๆ ของประเทศ เช่น กรุงปักกิ่งต้องล็อกดาวน์หลายพื้นที่ รุกตรวจโควิดจากประชาชนจำนวนมาก และจำกัดการเดินทางเพื่อควบคุมการติดเชื้อใหม่

สัปดาห์ก่อนจีนรายงานการติดเชื้อใหม่ในอีกกว่า 15 มณฑล เช่น ชานตง กวางตุ้ง และเจ้อเจียง

อย่างไรก็ตาม เซี่ยงไฮ้พยายามเปิดให้ธุรกิจใหญ่บางแห่งกลับมาทำการผลิตได้อีกครั้ง โดยสองสัปดาห์ก่อนจัดทำบัญชีรายชื่อ 666 บริษัทที่ได้เริ่มงานก่อน ในจำนวนนี้กว่าหนึ่งในสามหรือ 247 บริษัทเป็นธุรกิจต่างชาติเช่น บริษัทรถนต์เยอรมนี โฟลค์สวาเกน และบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าสหรัฐ เทสลา กลับมาผลิตอีกครั้งแล้ว

กระทรวงพาณิชย์จีนเผยว่า บริษัทต่างชาติอื่นๆ กำลังยื่นขอร่วมโครงการรอบสอง ซึ่งกระทรวงทำทุกวิถีทางให้การผลิตเดินหน้าได้ต่อไป

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจจีนไตรมาสแรก หลายวันก่อนสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (เอ็นบีเอส) รายงาน ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาสหนึ่งเพิ่มขึ้น 4.8% เหนือกว่าที่คาดการณ์ไว้ 4.4%

การลงทุนในสินทรัพย์คงที่เพิ่มขึ้น 9.3% จากปีก่อน จากที่คาดการณ์ไว้ 8.5% การผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 5% จากที่คาดการณ์โต 4.5% แต่ยอดค้าปลีกประจำเดือน มี.ค. ลดลงกว่าคาด 3.5% จากปีก่อน ผลสำรวจความเห็นนักวิเคราะห์ของรอยเตอร์คาดว่าลดลง 1.6%

เมื่อต้นเดือน มี.ค. จีนพยายามสกัดการระบาดของโควิดครั้งเลวร้ายที่สุด นับตั้งแต่เคยระบาดเฟสแรกเมื่อปี 2563 ที่ต้องนั้นต้องล็อกดาวน์กว่าครึ่งประเทศ ทำให้เศรษฐกิจไตรมาสแรกปี 2563 หดตัว 6.8% จากปี 2562

“เราต้องตระหนักว่าสภาพแวดล้อมทั้งภายในและต่างประเทศซับซ้อนและไม่แน่นอนมากขึ้นเรื่อยๆ การพัฒนาเศรษฐกิจกำลังเผชิญกับความยากลำบากและความท้าทายอย่างมาก” เอ็นบีเอสระบุ

อัตราการว่างงานในเมืองเดือน มี.ค. ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 5.8% จาก 5.5% ในเดือน ก.พ. อัตราการว่างงานสำหรับคนอายุ 16-24 ปี ยังคงสูงขึ้นมากที่ 16%

ยอดค้าปลีกไตรมาสแรกโต 3.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตรงข้ามกับยอดค้าปลีกรถยนต์และเฟอร์นิเจอร์ที่ยังลดลงต่อในช่วงเวลาดังกล่าว

ยอดขายจิวเวลรีลดลงมากที่สุด เดือน มี.ค.ลดลง 17.9% จากช่วงเดียวกันของปี 2564 ตามด้วยยอดค้าปลีกจัดเลี้ยงลดลง 16.4% เสื้อผ้าและรองเท้าลดลง 12.7%

“เราต้องประสานความพยายามการป้องกันและควบคุมโควิด-19 กับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม พร้อมๆ กับสร้างเสถียรภาพกำหนดภารกิจสร้างการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพให้อยู่ในตำแหน่งที่โดดเด่นยิ่งขึ้น” เอ็นบีเอสย้ำ

ซีเอ็นบีซีรายงานว่า แม้ตัวเลขเศรษฐกิจในเดือน ม.ค.และก.พ. เหนือความคาดหมาย ตัวเลขสำหรับเดือน มี.ค.เริ่มสะท้อนผลจากคำสั่งให้ประชาชนอยู่บ้านและจำกัดการเดินทางที่เกิดขึ้นกับศูนย์กลางเศรษฐกิจ เช่น เซี่ยงไฮ้

การส่งออก ที่เป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตของจีน เพิ่มขึ้นเกินคาด 14.7% ในเดือน มี.ค. แต่การนำเข้าลดลงอย่างไม่คาดคิด 0.1% จากช่วงเดียวกันของปี 2564

เศรษฐกิจของจีน ซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ได้รับผลกระทบจากราคาอสังหาริมทรัพย์ตกต่ำ และมาตรการควบคุมโควิด-19 ที่เข้มงวด ทำให้ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก แต่การขยายตัวของจีดีพีจีนก็สะท้อนว่ามาตรการล็อกดาวน์ในนครเซี่ยงไฮ้เป็นเวลาหลายสัปดาห์ยังไม่ได้ส่งผลกระทบต่อข้อมูลเศรษฐกิจ

แต่ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นกดดันรัฐบาลให้ต้องผลักดันเศรษฐกิจให้ขยายตัวตามเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งปี 5.5% ในปีที่สำคัญยิ่งสำหรับประธานาธิบดีสี จิ้น ผิงของจีน ซึ่งกำลังหาทางอยู่ในอำนาจต่ออีกหนึ่งสมัย