‘พิษโควิด-สงครามยูเครน’ดันราคาอาหารริมทางเอเชียพุ่ง

‘พิษโควิด-สงครามยูเครน’ดันราคาอาหารริมทางเอเชียพุ่ง

‘พิษโควิด-สงครามยูเครน’ ดันราคาอาหารริมทางเอเชียพุ่ง ขณะเจ้าของร้านผักดองกิมจิบอกว่าจำเป็นต้องขึ้นราคา แม้ในอดีต กิมจิจะเป็นอาหารที่มีราคาไม่แพงและเสิร์ฟเคียงกับอาหารหลักโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

Street Food หรือ อาหารริมทาง ที่มีชื่อเสียงของภูมิภาคเอเชียเพราะมักมีรสชาติถูกปากผู้คนส่วนใหญ่ และมีราคาเข้าถึงง่าย แต่เสน่ห์ในเรื่องนี้กำลังถูกท้าทายจากภาวะกดดันทางเศรษฐกิจ ที่เป็นผลพวงมาจากการระบาดของโควิด-19 และสงครามที่เกิดขึ้นในยูเครน

บรรดาผู้ประกอบการอาหารริมทางทั่วเอเชีย ต่างออกมาสะท้อนความคิดเห็นและการรับมือต่อสถานการณ์ราคาอาหารที่กำลังพุ่งสูงขึ้น อย่างที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน เริ่มจาก ร้านอาหารหม้อไฟอย่าง“หม่าฮอง” ในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เจ้าของธุรกิจอธิบายว่า ปีนี้กำไรของทางร้านลดลงประมาณ 20% ตั้งแต่เปิดกิจการเมื่อปีที่แล้ว ขณะที่ราคาเนื้อวัวยังปรับเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 50% ส่วนต้นทุนราคาวัตถุดิบสำคัญอื่นๆ ก็ปรับเพิ่มสูงขึ้นไปพร้อมกัน

หม่า เจ้าของร้าน บอกว่า แม้ต้นทุนต่างๆ จะปรับเพิ่มสูงขึ้น แต่ทางร้านของเขายังคงขายราคาเดิม และเขาไม่ได้เผชิญปัญหานี้โดยลำพัง เพราะผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารทั่วกรุงปักกิ่งของจีน ต่างต้องอดทนรับมือกับผลกระทบหลายด้านที่บีบคั้นในขณะนี้

ภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น ทั้งจากการระบาดของโควิด-19 และการขาดแคลนสินค้าจากปัญหาห่วงโซ่อุปทานโลกที่ตึงตัวดันต้นทุนราคาสินค้ารวมถึงอาหารให้ปรับเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และล่าสุด สถานการณ์บุกยูเครนของรัสเซียได้กดดันให้ราคาสินค้าทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นไปอีก

เวลานี้ผู้ประกอบการภัตตาคารและร้านอาหารริมทางทั่วเอเชียกำลังเผชิญกับทางเลือกอันยากลำบาก ระหว่างการคงราคาอาหารเดิมเอาไว้และสูญเสียกำไรที่เคยได้ กับการปรับขึ้นราคาอาหารแต่ต้องสูญเสียฐานลูกค้าไป

ธุรกิจบางแห่งอาจยังพยุงราคาไว้ได้ แต่ไม่ใช่ทุกธุรกิจที่จะสามารถตรึงราคาต่อจานให้เท่าเดิม หลายแห่งจำเป็นต้องตัดสินใจปรับราคาขายให้สูงขึ้น

“มูฮัมหมัด อิลยาซ” พ่อครัวร้านข้าวหมกบิรยานี (Biryani) ที่นครการาจี ประเทศปากีสถาน บอกว่า ทุกวันนี้้ราคาของเมนูดังกล่าว อยู่ที่ประมาณ 400 รูปีปากีสถาน หรือประมาณ 74 บาทต่อปริมาณ 1 กิโลกรัม ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นมาแล้วเกือบเท่าตัว

อิลยาซ ระบุด้วยว่า ตั้งแต่เป็นพ่อครัวมา 15 ปี ช่วงเวลานี้ราคาข้าวและเครื่องเทศต่างๆ พุ่งสูงขึ้นมากเสียจนคนที่ยากจนในปากีสถานจะไม่สามารถซื้อหามารับประทานได้เหมือนที่ผ่านมา

ส่วนที่เกาหลีใต้ “ชอย ซุน ฮวา” เจ้าของร้านผักดองกิมจิบอกว่า เธอไม่มีทางเลือกและจำเป็นที่จะต้องปรับราคาขายเพิ่มขึ้น แม้ในอดีตกิมจิจะเป็นอาหารที่มีราคาไม่แพงนักและมักจะเสิร์ฟเคียงกับอาหารหลักโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

แต่ด้วยภาวะเงินเฟ้อในเกาหลีใต้ ที่สูงที่สุดในรอบ 12 ปี ส่งผลให้วัตถุดิบหลักของกิมจิอย่างผักกาดขาว มีราคาต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างมาก จนทุกวันนี้ลูกค้าบางคนถึงกับพูดเชิงหยอกล้อว่า กิมจิแทบจะมีค่าดั่งทองคำ และร้านต่างๆมักจะจำกัดปริมาณ

ขณะที่ธุรกิจบางแห่งเลือกที่จะตรึงราคาขายแต่ลดปริมาณอาหารต่อจานให้น้อยลง เพื่อรับมือกับราคาต้นทุนที่สูงขึ้น “ชารูล ไซนูลลา” ที่มีร้านอาหารริมทางในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เล่าว่า แทนที่จะเพิ่มราคาขาย หรือเปลี่ยนไปใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพลดลง ทางร้านของเขาเลือกที่จะลดปริมาณอาหาร เพื่อชดเชยกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

ในมุมของลูกค้าประจำของร้านอาหารริมทาง อย่างเช่น “สตีเฟน ชาง” ลูกค้าประจำของร้าน “จัสต์ นูเดิลส์ร้านบะหมี่ในกรุงไทเปของไต้หวัน ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า เขาต้องปรับการใช้ชีวิตและพิจารณาการใช้จ่ายมากขึ้น ด้วยการลดจำนวนการทานอาหารนอกบ้าน และเลือกทำอาหารรับประทานเองที่บ้าน

เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ราคาอาหารที่ปรับสูงขึ้นนี้ ซึ่งสะท้อนถึงผลกระทบของราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น ที่กำลังสร้างแรงกดดันอย่างมากต่อวิถีการกินของคนเอเชีย

แต่ไม่ใช่แค่เอเชียเท่านั้นที่ราคาอาหารริมทางแพงขึ้น ในสหรัฐก็เจอปัญหาต้นทุนวัตถุดิบหลายอย่างแพงขึ้นเช่นกัน จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต รวมทั้งการทานอาหารนอกบ้านของชาวอเมริกันไปด้วย   

ผลสำรวจความคิดเห็นของสำนักข่าวรอยเตอร์/อิปซอส เมื่อเดือนมี.ค.บ่งชี้ว่า ผู้บริโภคในสหรัฐมีแผนจะปรับลดการใช้จ่ายในการรับประทานอาหารที่ร้านอาหารและการรับชมภาพยนตร์ลง หากราคาน้ำมันยังคงพุ่งสูงขึ้นเนื่องจากการบุกยูเครนของรัสเซียส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก

ผลสำรวจดังกล่าวระบุว่า ผู้ใหญ่ชาวสหรัฐประมาณ 54% คาดว่าจะลดค่าใช้จ่ายในการรับประทานอาหารนอกบ้านลง หากราคาน้ำมันยังพุ่งขึ้นจนแตะระดับ 6-7 ดอลลาร์ต่อแกลลอน ขณะที่ 49% ระบุว่าจะลดการใช้จ่ายในการรับชมภาพยนตร์และความบันเทิงอื่น ๆ ลง และมี 60% ระบุว่าจะไม่ขับรถไปที่ไกล ๆ เพื่อทำกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจ

นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสำรวจ 47% ระบุว่า จะลดการใช้จ่ายในการปรับปรุงบ้าน เช่น เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ภายในบ้าน หากราคาน้ำมันยังคงแพงขึ้น

สหรัฐและชาติพันธมิตรตอบโต้การบุกยูเครนของรัสเซียด้วยการคว่ำบาตรรัสเซียครั้งใหญ่อย่างไม่เคยมีมาก่อน รวมถึงการที่สหรัฐห้ามนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย ซึ่งการคว่ำบาตรทำให้เศรษฐกิจรัสเซียปั่นป่วน

แต่ผู้บริโภคสหรัฐเองก็ต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากความขัดแย้งดังกล่าวทำให้ราคาน้ำมันที่สูงอยู่แล้วสูงขึ้นอีกแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายในครัวเรือน