ทีเซลส์เปิดบูธโชว์ “ไบโอพลาสมา-เซลล์บำบัด”ในมหกรรมวิทยาศาสตร์

ทีเซลส์เปิดบูธโชว์ “ไบโอพลาสมา-เซลล์บำบัด”ในมหกรรมวิทยาศาสตร์

ทีเซลส์โชว์นวัตกรรมชีวการแพทย์สุดล้ำ “ไบโอพลาสมาสำหรับรักษาแผลเบาหวาน – เซลล์บำบัดรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว”  ในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ 2565

นายชัยรัตน์ อุทัยพิบูลย์ รองผู้อำนวยการ รักษาการผู้อำนวยการ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ หรือ ทีเซลส์ (TCELS) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ทีเซลส์ มีบทบาทสำคัญในการผลักดันอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ในประเทศให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน

โดยที่ผ่านมามุ่งเน้นที่การสร้างระบบนิเวศ การวิจัยและสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก แต่หลังจากนี้ทีเซลส์จะหันมามุ่งเน้นการเชื่อมโยงนวัตกรรมทั้งจากผลงานวิจัยของทีเซลส์ และจากผู้ประกอบนวัตกรรมไทยไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ให้มากขึ้น  

เพื่อขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์เป็น 1 ใน10 อุตสาหกรรมหลักของประเทศ และต้องได้รับการเข้าถึงอย่างเท่าเทียม

“ประเทศไทยมีนวัตกรรมด้านชีวการแพทย์อยู่เป็นจำนวนมาก บางครั้งไม่สามารถไปต่อจนถึงการใช้งานจริงได้  ซึ่งมองว่าการเป็นนวัตกรรมขึ้นหิ้งไม่ได้เป็นสิ่งที่ผิด  เพราะเป็นหน้าที่ของนักวิจัยที่จะพัฒนาคิดค้นออกมาตามความสนใจทางวิชาการ

หากไม่มีนวัตกรรม หรืองานวิจัยบนหิ้ง เมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน อย่างเช่น การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  ก็จะไม่สามารถนำงานวิจัย หรือนวัตกรรมออกมาใช้รับมือได้อย่างทันท่วงที

ดังนั้น คนที่มีหน้าที่เชื่อมโยงนำผลงานนวัตกรรมที่มีอยู่ทั่วประเทศลงมาสู่การใช้งานตามความต้องการของประชาชนก็คือ ทีเซลส์  และบางครั้งเราจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีเชิงลึกหรือดีพเทคด้วย เพราะไม่เช่นนั้นประเทศไทยจะตามเทคโนโลยีไม่ทัน ต้องพึ่งพาการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศเพียงอย่างเดียว”

ทีเซลส์เปิดบูธโชว์ “ไบโอพลาสมา-เซลล์บำบัด”ในมหกรรมวิทยาศาสตร์

ชัยรัตน์ อุทัยพิบูลย์ รองผู้อำนวยการ รักษาการผู้อำนวยการทีเซลส์

สำหรับในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติประจำปี 2565 ที่กระทรวง อว. จัดขึ้นในปีนี้  ทีเซลส์ นำผลงานนวัตกรรมด้านชีวการแพทย์ ฝีมือนักวิจัยไทยที่มีการใช้เทคโนโลยีเชิงลึก หรือดีพเทค รวมถึงนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นสำหรับรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มาจัดแสดงเพื่อให้ประชาชนและเยาวชนรับทราบถึงความก้าวหน้าของนวัตกรรมและศักยภาพของคนไทยในด้านชีวการแพทย์

อย่างเช่น การใช้เทคโนโลยีไบโอพลาสมาในการรักษาแผลเรื้อรัง หรือแผลเบาหวาน ซึ่งเป็นผลงานทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเครื่องผลิตพลาสมา และมีบริษัทรับเทคโนโลยีมาดำเนินการ

ไบโอพลาสมาที่ได้นี้สามารถนำมาใช้ในการฆ่าเชื้อโรคและแบคทีเรียต่าง ๆ ทำให้แผลจากการติดเชื้อเรื้อรังหายได้เร็วขึ้น มีงานวิจัยรองรับถึงประสิทธิภาพ และทีมวิจัยอยู่ระหว่างกำลังเก็บข้อมูลเพิ่มเติมจากการทดสอบใช้งานจริงในโรงพยาบาลต่างๆ   

ปัจจุบันงานวิจัยด้านการผลิตเครื่องผลิตไบโอพลาสมาได้มีนำไปสู่การใช้งานเชิงพาณิชย์ โดยทีเซลส์เข้าไปสนับสนุนในส่วนการขึ้นทะเบียน และการรับรองมาตรฐานต่าง ๆ รวมถึงการจัดฝึกอบรมบุคคลากรและการประสานงานกับโรงพยาบาลเพื่อทดสอบการใช้งานจริง

ทีเซลส์เปิดบูธโชว์ “ไบโอพลาสมา-เซลล์บำบัด”ในมหกรรมวิทยาศาสตร์

เครื่องผลิตไบโอพลาสมา

ผลงานดังกล่าวยังได้รับความสนใจอย่างมากจากนักธุรกิจในประเทศซาอุดิอาระเบีย เมื่อครั้งที่นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้นำทีมจากประเทศไทย รวมถึงนวัตกรรมคนไทยไปเยือนประเทศซาอุดิอาระเบียเพื่อเจริญสัมพันธไมตรี

 

นักธุรกิจซาอุดิอาระเบียให้ความสนใจอย่างมากที่จะนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปให้บริการรักษาแผลจากโรคเบาหวาน มีการมาดูการทำงานที่ประเทศไทยเพื่อสร้างความร่วมมือต่อไปในอนาคต นับเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเปิดตลาดต่างประเทศของนวัตกรรมไทย”   

นายชัยรัตน์  กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ทีเซลส์ยังได้การนำเสนอ “การพัฒนาการรักษาด้วยเซลล์บำบัด เพื่อการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดบีเซลล์”  ซึ่งการรักษาด้วยเซลล์บำบัด หรือ Cell Therapy  ถือเป็นการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง  โดยเป็นการดัดแปลงพันธุกรรมของเซลล์เม็ดเลือดขาว หรือ T Cells  ให้มีความลักษณะจำเพาะในการดักจับและทำลายเซลล์มะเร็งได้

ปัจจุบันเทคโนโลยีนี้มีการใช้งานเชิงพาณิชย์แล้วในต่างประเทศ โดยมีราคาสูงมากประมาณเข็มละ 15 ล้านบาท  ส่วนประเทศไทยยังไม่มีการผลิตเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ มีเพียงการทดสอบในโรงเรียนแพทย์ และยังอยู่ในช่วงของการขึ้นทะเบียนตามมาตรฐานต่างๆ

ทีเซลส์เปิดบูธโชว์ “ไบโอพลาสมา-เซลล์บำบัด”ในมหกรรมวิทยาศาสตร์

อุปกรณ์ตรวจคัดกรอง COVID-19 ด้วยลมหายใจ

ที่ผ่านมา ทีเซลส์ได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านดังกล่าว โดยเช่าพื้นที่ของอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย และติดตั้งเครื่องมือพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการวิจัยด้านเทคโนโลยีเซลล์บำบัด เพื่อให้ผู้ประกอบการ หรือสตาร์ทอัพเข้ามาใช้พื้นที่ โดยไม่ต้องลงทุนตั้งแต่เริ่มต้น

 

ขณะนี้มีบริษัทสตาร์ทอัพไทยเข้ามาเช่าพื้นที่ และลงทุนเพิ่มเติมแล้ว โดยอยู่ระหว่างการผลิตเซลล์บำบัดเพื่อทดสอบและขอการรับรองตามมาตรฐานต่างๆ คาดว่า  ภายใน 1-2 ปีนี้จะได้เห็นผลิตภัณฑ์จากเทคโนโลยีเซลล์บำบัดจากฝีมือคนไทยออกมาจำหน่าย ซึ่งจะทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีนี้ได้ในราคาที่ต่ำลง

 

นอกจากผลงานไฮไลต์นวัตกรรมชีวการแพทย์ที่เป็นเทคโนโลยีเชิงลึกแล้ว ทีเซลส์ยังได้นำเสนอผลงานนวัตกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพ เช่น อุปกรณ์ตรวจคัดกรอง COVID-19 ด้วยลมหายใจที่ใช้เทคโนโลยีจมูกอิเล็กทรอนิกส์ในการคัดกรอง ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนา โดยทีมจาก TCELS และ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับ บริษัท แทพ กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด

ระบบแพทย์ทางไกล (Telemedicine) และเครื่องไบโอพลาสมา ซึ่งมี นพ.ชาญชัย ฉัตรศิริมงคล กรรมการผู้จัดการ บริษัทโฟโตไบโอแคร์ เป็นนวัตกรผู้ประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมเครื่องมือเพื่อสุขภาพและการแพทย์

ทีเซลส์เปิดบูธโชว์ “ไบโอพลาสมา-เซลล์บำบัด”ในมหกรรมวิทยาศาสตร์

หน้ากากอนามัยชนิด KN95 ที่ผ่านการทดสอบคุณภาพตามมาตรฐานจากห้องปฏิบัติการ มีประสิทธิภาพในการกรองเชื้อโรค เช่น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อไวรัส ป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ซึ่งเป็นผลงานของทีเซลส์ (TCELS) ที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

และยังมีกิจกรรมการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโควิด-19 อย่างไรให้ปลอดภัย  เพื่อเสริมสร้างความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ให้กับเด็ก ๆ และเยาวชนอีกด้วย

สนใจชมได้ที่บูธทีเซลส์ (TCELS) ในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2565   ฮอลล์ 9   อิมแพค เอ็กซิบิชั่น เมืองทองธานี   13-21 สิงหาคม 2565 เวลา 9.00-19.00 น.