"สเต็มเซลล์" ความหวังการแพทย์ คาดปี 68 โต 15.63 พันล้านดอลลาร์

"สเต็มเซลล์" ความหวังการแพทย์ คาดปี 68 โต 15.63 พันล้านดอลลาร์

"สเต็มเซลล์" นับเป็นการพัฒนาของวงการแพทย์ ที่ถือเป็นความหวังในการรักษาโรคต่างๆ มีการคาดการณ์ว่า ตลาดสเต็มเซลล์ จะมีมูลค่าสูงถึง 15.63 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2568 หรือมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปีอยู่ที่ 9.2%

ปัจจุบันการวิจัยและวิวัฒนาการด้านการแพทย์ ทำให้ “สเต็มเซลล์” ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น โดยในต่างประเทศ มีการใช้สเต็มเซลล์รักษาโรคโลหิตจาง และ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว บางชนิด ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่า ตลาดสเต็มเซลล์จะเติบโตมากขึ้น และอาจมีมูลค่าสูงถึง 15.63 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2568

 

“สเต็มเซลล์” หรือ “เซลล์ต้นกำเนิด” ซึ่งเกิดมาพร้อมมนุษย์ สามารถแบ่งตัวและเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์เนื้อเยื่อในอวัยวะต่างๆ เช่น เซลล์ผิว เซลล์เนื้อเยื่อสมอง เซลล์เนื้อเยื้อหัวใจ เซลล์เนื้อเยื่อกล้ามเนื้อ และเซลล์เม็ดเลือด เพื่อทดแทนเซลล์ที่เสื่อมสภาพในร่างกาย สเต็มเซลล์ ถูกมองว่าเป็นอนาคตของการดูแลสุขภาพ สามารถเก็บได้จากหลายแหล่ง อาทิ สเต็มเซลล์จากเลือดสายสะดือ

 

ซึ่งใช้รักษาโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบเลือดและอื่นๆ ได้มากกว่า 85 โรค ได้แก่ กลุ่มโรคมะเร็งเม็ดเลือดทุกชนิด อย่างมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคโลหิตจาง โรคธาลัสซิเมีย ความผิดปกติของเซลล์ไขกระดูก โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคจากความผิดปกติของการสร้างเม็ดเลือดแดง โรคจากความผิดปกติของระบบเผาผลาญอาหาร เป็นต้น

 

\"สเต็มเซลล์\" ความหวังการแพทย์ คาดปี 68 โต 15.63 พันล้านดอลลาร์

คาดมูลค่า 15.63 พันล้านเหรียญในปี 2568

 

ข้อมูลจาก ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ หรือ ทีเซลส์ (TCELS) ระบุว่า ในปี 2559 ตลาดสเต็มเซลล์มีมูลค่าราว 6.87 พันล้านเหรียญสหรัฐ และได้มีการคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 15.63 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2568 หรือมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปีอยู่ที่ 9.2 เปอร์เซ็นต์ สำหรับปัจจัยที่ทำให้ตลาดดังกล่าวมีการเติบโต ได้แก่ การขยายขอบเขตงานวิจัยเพื่อให้สามารถนำผลการทดลองทางคลินิกไปพัฒนาการรักษาโรคต่างๆ 

 

การค้นพบวิธีการใหม่ๆ ในการสร้างสเต็มเซลล์จากมนุษย์ของนักวิทยาศาสตร์เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นของการผลิตสเต็มเซลล์ที่ใช้สำหรับตรวจสอบศักยภาพในการจัดการโรค ซึ่งปัจจัยดังกล่าวคาดว่าจะสามารถผลักดันให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมเวชศาสตร์ฟื้นฟู และส่งผลให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตได้ในอนาคต

 

ธนาคารเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตแห่งชาติ

 

ประเทศไทยได้เริ่มมีแนวคิดจัดตั้งโครงการจัดหาผู้บริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต หรือสเต็มเซลล์จากประชาชนทั่วไป ตั้งแต่ปี 2542 เพื่อจัดหาสเต็มเซลล์จากผู้บริจาคทั่วไปที่ไม่ใช่ญาติให้กับผู้ป่วย ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์แต่ไม่มีญาติพี่น้องที่มี HLA ตรงกัน โดยการบริจาคนี้จะเป็นการบริจาคด้วยความสมัครใจ และไม่มีการซื้อขาย

 

วันที่ 30 เม.ย. 2545 แพทยสภาประกาศข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม เกี่ยวกับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ ในราชกิจจานุเบกษา และกำหนดให้ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการจัดหาผู้บริจาค

 

สเต็มเซลล์ที่ไม่ใช่ญาติให้กับผู้ป่วยโดยจัดตั้ง Thai National Stem Cell Donor Registry (TSCDR) ขึ้นเพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์มากขึ้น

มีบทบาทและหน้าที่ 1. ตรวจหาชนิดของเนื้อเยื่อเม็ดโลหิตขาว (HLA typing) ในอาสาสมัครบริจาคสเต็มเซลล์ 2. บันทึกข้อมูลผู้บริจาค และผลการตรวจ HLA typing ในโปรแกรมฐานข้อมูล สำหรับ คัดเลือกผู้บริจาคที่มี HLA typing ตรงกันกับผู้ป่วย 3. ประสานงานการตรวจ HLA typing เพิ่มเติมและการบริจาคสเต็มเซลล์ ระหว่างผู้บริจาค โรงพยาบาลเจาะเก็บสเต็มเซลล์ และโรงพยาบาลปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ และ 4. ประสานงานกับศูนย์รับบริจาคสเต็มเซลล์ และธนาคารเลือดจากรกในต่างประเทศ

 

“จิรัญญา ประชาเสรี” ประธานกรรมการบริหาร – ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท ไครโอวิวา (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวในงานแถลงข่าวครบรอบ 15 ปี ระบุว่าปัจจุบันคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจเรื่องสเต็มเซลล์มากขึ้น รวมถึง เป็นเทคโนโลยีใหม่ ส่งผลให้ตลาดเติบโตได้ค่อนข้างเร็ว ประเทศไทยมีผู้เชี่ยวชาญด้านของสเต็มเซลล์ และ Wellness มากมาย และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี

 

“ขณะนี้สเต็มเซลล์มีการพัฒนาไปเรื่อยๆ หากเทียบเมื่อ 15 ปีก่อน ทั้งโครงสร้างกฎหมาย และการใช้ยังคงมีน้อยมาก วันนี้แพทยสภารับรองแล้ว 85 โรค และมีการพิจารณาอย่างต่อเนื่อง เพราะวิวัฒนาการที่เริ่มเข้ามาหรือการรักษาที่มีการพิสูจน์ รวมถึงการวิจัยพัฒนาในต่างประเทศ ทำให้ไทยเองก็เริ่มมอง และผู้เชี่ยวชาญเริ่มมีการผลักดันมากขึ้น หวังว่าตรงนี้จะมีส่วนในการขับเคลื่อนประเทศไทย เป็นเมือง Wellness ของโลก ซึ่งเป็นนโยบายของทางภาครัฐ และผู้ที่ทำธุรกิจด้านสุขภาพ ก็มองว่า Wellness เป็นจุดหลักในการช่วยผลักดัน Medical Tourism”

 

จิรัญญา กล่าวต่อไปว่า หากมองในแง่ของการสนับสนุนอุตสาหกรรม Wellness ของรัฐ และนักวิชาการหลายภาคส่วนในการช่วยกันผลักดัน คาดว่าเป้าหมายเป็นเมือง Wellness ของโลกเป็นสิ่งที่ไม่ไกล ซึ่งขณะนี้มีการร่วมมือกับบุคลากรทางการแพทย์และสถาบันต่างๆ เพื่อค้นคว้าพัฒนาระบบ เพื่อพิสูจน์ว่าสเต็มเซลล์สามารถพัฒนาได้ในเรื่องของการรักษา 

 

ปัจจุบันไครโอวิวา  เติบโตไม่น้อยกว่า 20% ต่อปี เก็บสเต็มเซลล์มากกว่า 1,000,000 ยูนิต จำนวนการเพาะเลี้ยง MESENCHYMAL STEM CELLS หรือ MSCs กว่า 5,000,000 ล้านเซลล์ ให้บริการครอบคลุม 4 ทวีป ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ยุโรป แอฟริกา และเอเชีย เครือข่ายมากกว่า 20 ประเทศ และห้องปฏิบัติการ 4 แห่ง ได้แก่ อินเดีย สิงคโปร์ ประเทศไทย และเวียดนาม 

 

ผ่านการรับรองมาตรฐาน AABB (ASSOCIATION FOR THE ADVANCEMENT OF BLOOD & BIOTHERAPIES) การรับรองมาตรฐานเฉพาะทางในระดับสากลเกี่ยวกับสเต็มเซลล์ ทั้งในด้านการจัดเก็บ จนถึงการเพาะเลี้ยงเซลล์ เพื่อที่ผู้ใช้จะได้รับสเต็มเซลล์ที่มีคุณภาพและปลอดภัย ของสมาคมธนาคารโลหิตแห่งสหรัฐอเมริกา (American Association of Blood Banks)

 

สเต็มเซลล์ กับโรคโลหิตจาง

 

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เผยแพร่บทความเรื่อง “สเต็มเซลล์...เซลล์เพื่อประกันชีวิตอนาคตลูก” ยกตัวอย่างการรักษาโรคบางอย่างด้วยสเต็มเซลล์จนหายขาดได้ เช่น ในประเทศฝรั่งเศสสามารถรักษาโรคโลหิตจาง และโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวบางชนิดได้หายขาดแล้ว ในประเทศไทยมีการใช้สเต็มเซลล์จากไขกระดูกมารักษาโรคเลือดจางธาลัสซีเมียและได้ผลเป็นที่น่าพอใจ

 

รวมถึงมีความสำเร็จของการรักษาโรคต่างๆ ด้วยเสต็มเซลล์ จึงเชื่อกันว่าในอนาคต โรคที่รักษาหายยากหรือไม่หายขาด เช่น โรคตับ โรคเบาหวานแต่กำเนิด โรคมะเร็ง และโรคหัวใจ อาจจะรักษาให้หายขาดได้ด้วยการใช้เสต็มเซลล์ ซึ่งคงต้องรอเวลากันต่อไปอีกระยะหนึ่ง ทำให้ในประเทศไทยเริ่มมีบริษัทเอกชนที่ให้บริการเก็บรักษาเสต็มเซลล์จากเลือดสายสะดือ เพื่อเก็บไว้ให้ลูกน้อยซึ่งอาจต้องนำมาใช้รักษาโรคที่อาจจะมีเกิดขึ้นในอนาคต