ความพร้อมของ “บ้านเรา” ในการเข้าสู่ “สังคมไร้เงินสด”

ความพร้อมของ “บ้านเรา” ในการเข้าสู่ “สังคมไร้เงินสด”

การใช้ชีวิตทุกวันนี้ เริ่มเข้าสู่การลดใช้เงินสดเกือบสมบูรณ์ นานๆ ครั้งจะหยิบธนบัตรมาจ่ายค่าสินค้าใดๆ เงินสดในกระเป๋าสตางค์มีเพียงเล็กน้อย และธนบัตรแต่ละใบพกติดตัวได้หลายสัปดาห์เพราะแทบไม่เคยต้องใช้ เข้าสู่สังคมไร้เงินสด

ตั้งแต่ช่วงสถานการณ์โควิดเริ่มรุนแรงขึ้น ผมเริ่มใช้เงินสดน้อยลง ช่วงแรกเป็นเพราะส่วนใหญ่ทำงานอยู่ที่บ้านไม่ค่อยออกไปไหน และการทำธุรกรรมมักผ่านออนไลน์ รวมถึงการสั่งซื้อสินค้าหรือสั่งอาหาร จึงเลือกชำระผ่านบัตรเครดิต พร้อมเพย์ หรือโอนผ่าน QR Code แต่เมื่อกลับมาทำงานออกจากบ้านตามปกติ กลายเป็นว่า นิสัยการลดใช้เงินสดของตัวเองยังติดตัวมา

ทุกวันนี้ถ้าออกจากบ้านไปซื้อของหรือทำธุระใดๆ แล้วลืมกระเป๋าสตางค์ ยังพอจ่ายเงินได้ แต่ถ้าลืมมือถือแล้วจะทำธุรกรรมการเงินแทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะเสมือนไม่มีเงินติดตัวออกไป การใช้ชีวิตผมทุกวันนี้ เริ่มเข้าสู่การลดใช้เงินสดเกือบสมบูรณ์ นานๆ ครั้งจะหยิบธนบัตรมาจ่ายค่าสินค้าใดๆ เงินสดในกระเป๋าสตางค์มีเพียงเล็กน้อย และธนบัตรแต่ละใบพกติดตัวได้หลายสัปดาห์เพราะแทบไม่เคยต้องใช้

การไปจับจ่ายซื้อของที่ตลาด แม้แต่ร้านค้าเล็กๆ ก็เลือกใช้วิธีโอนเงินผ่าน QR code ถึงจะเพียง 10-20 บาท ส่วนใหญ่จะขอโอนเงิน เว้นแต่ร้านนั้นไม่รับโอน จึงจะยอมจ่ายเงินสด บางร้านต้องชำระในมูลค่าสูง ก็เลือกจ่ายบัตรเครดิต เข้าร้านสะดวกซื้อมักจ่ายผ่านแอปกระเป๋าเงินร้านรายนั้นๆ หรือแม้แต่กาแฟแบรนด์ดังก็มีเงินที่ฝากไว้ในโมบายแอปของร้านที่ใช้ชำระเงินได้ เช่นเดียวกับการจ่ายเงินค่าทางด่วนที่ใช้ Easypass ดังนั้น ไม่น่าแปลกใจที่แต่ละวันมีธุรกรรมชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์หลายสิบรายการผ่านแอปต่างๆ

เหตุผลการลดการใช้เงินสดผู้คนส่วนใหญ่คงคล้ายกัน ด้วยว่ามีความสะดวกสบายกว่าการจะพกเงินสด ไม่อยากเก็บเศษเหรียญไว้ในกระเป๋าสตางค์ ไม่อยากสัมผัสธนบัตร เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อโควิด ไม่ต้องกังวลว่าเงินสดจะหายหรือถูกลักขโมย ข้อสำคัญการชำระเงินผ่านแอป ทำให้เราบริหารจัดการเงินได้ดีขึ้น เห็นรายการชำระเงินแต่ละวัน โดยเฉพาะชำระผ่านบัตรเครดิต หรือแอปการเงินบางราย เราสามารถดูได้ว่า เราชำระรายการอะไรไปบ้าง อีกทั้งยังสามารถตั้งข้อความแจ้งเตือนทุกครั้งที่มีการทำธุรกรรมได้ด้วย

ต้นปีที่ผ่านมามีข้อมูลจากเว็บ MoneyTransfers.com ที่วิเคราะห์การลดใช้เงินสดประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยสุ่มแบบสอบถามผู้คน 25,823 รายจาก 21 ประเทศ รวมถึงไทยที่มีจำนวนผู้ตอบแบบสอบ 2,091 ราย พบว่าผู้ตอบสอบถามจากประเทศไทย 51% พึงพอใจเข้าสู่สังคมไร้เงินสด และไทยขึ้นอันดับหนึ่งที่ลดใช้เงินสดช่วงสถานการณ์โควิด มีอัตราใช้เงินสดลดลง 57% จากผู้ตอบแบบสอบถาม มีมาเลเซีย สเปน และยูเออี อยู่อันดับรองลงไป

แต่เมื่อเทียบคนส่วนใหญ่ของประเทศ เราคงต้องให้เวลาอีกพอสมควร จึงจะเข้าสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) เนื่องจากคนจำนวนมากยังขาดความพร้อมหลายด้าน ประเทศที่นำหน้าเรื่องนี้อย่างสวีเดน พบว่า คนในประเทศพร้อม แทบไม่ใช้เงินสดกันแล้ว ประชาชน 98% มีบัตรเดบิต และคนส่วนใหญ่ชำระเงินผ่านแอปที่ชื่อ “Swish” ร้านค้าจำนวนมากก็ไม่รับเงินสด แม้แต่ธนาคารบางแห่งยังไม่รับที่จะฝากหรือถอนเงินสดด้วย หรือแม้แต่จะหาตู้เอทีเอ็มก็ค่อนข้างยากมีเพียง 32 ตู้ต่อประชากรหนึ่งแสนคนเท่านั้น

สวีเดนตั้งเป้าว่า จะเข้าสู่สังคมไร้เงินสดเดือนมีนาคม 2023 ที่แม้อนาคตธนาคารกลาง ยังผลิตเหรียญหรือธนบัตรออกมาบ้าง แต่ร้านค้าจะงดรับเงินสดสิ้นเชิง เงินสดค่อยๆ หายไป สวีเดนเป็นประเทศแรกในโลกที่พิมพ์ธนบัตรใช้ปี 1661 และถ้าเป้าหมายเข้าสู่สังคมไร้เงินสดสำเร็จ สวีเดนจะใช้เวลา 362 ปี เปลี่ยนใช้ธนบัตรสู่ประเทศแรกในโลกเข้าสู่สังคมไร้เงินสด

ประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวีย ทั้ง ฟินแลนด์ เดนมาร์ก และนอร์เวย์ ต่างก็เป็นประเทศที่โดดเด่นเรื่องการลดใช้เงินสด ตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด ทั้งนี้ เพราะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว มีความพร้อมเทคโนโลยี มีประชากรไม่มากนัก และประชาชนในประเทศให้ความเชื่อมั่นรัฐบาลและสถาบันการเงิน

ขณะที่ ประเทศยุโรป เช่น เยอรมันก็เริ่มลดใช้เงินสด หันมาใช้บัตรเดบิตหรือบัตรเครดิตมากขึ้นในช่วงโควิด สำหรับประเทศใหญ่ๆ ในเอเชียที่พร้อมด้านนี้ คงหนีไม่พ้นจีนและเกาหลีใต้ที่ติดอยู่ในประเทศชั้นนำ และคาดว่า จีนอาจเป็นชาติที่สองในโลกเข้าสู่สังคมไร้เงินสด แม้จะมีประชากรจำนวนมาก แต่ด้วยการพัฒนาระบบแอปที่ดีอย่าง Alipay หรือ WeChat ประกอบกับการสนับสนุนที่ดีภาครัฐและเอกชน ทำให้ประชากรส่วนใหญ่แทบไม่ได้ใช้เงินสดทำธุรกรรมต่างๆ

การลดใช้เงินสดแม้มีข้อดีหลายเรื่อง แต่การประกาศงดรับเงินสดเมื่อคนไม่พร้อม อาจไม่ใช่เรื่องดีนัก เพราะจะเกิดความเลื่อมล้ำ โดยเฉพาะประชาชนฐานะยากจน ไม่มีบัญชีธนาคาร ก็อาจทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ยาก บางครั้งการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์มีหลายระบบ ผู้คนต้องเอาเงินไปเก็บไว้ในหลายแอป โดยไม่ได้ใช้งาน เป็นการสูญเสียเงินไปฝากในแอปต่างๆ ทำให้คนส่วนหนึ่งไม่มีเงินพอทำเช่นนั้น ประเทศใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา ยอมรับว่าการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์สร้างความเลื่อมล้ำ และประชาชนที่มีรายได้น้อย พบปัญหามากพอควรที่จะลดใช้เงินสด

สุดท้ายการลดการใช้เงินสด และหันไปพึ่งเทคโนโลยีทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด ยังเสี่ยงจากอาชญากรรมทางไซเบอร์ การทำธุรกรรมต่างๆ จะหยุดชะงักไปหมด

ดังนั้นหากเราจะก้าวสู่สังคมไร้เงินสด ต้องมั่นใจว่าบ้านเราพร้อมด้านเทคโนโลยีเต็มที่ ทุกคนสามารถเข้าถึงได้จริง ไม่มีความเหลื่อมล้ำมากทั้งด้านฐานะหรือช่องว่างดิจิทัล เราไม่ควรปล่อยทิ้งใครไว้ข้างหลังแล้วประกาศว่า “เราเลิกรับเงินสด”