Aquapreneur ปั้นธุรกิจนวัตกรรมรักษ์น้ำ

Aquapreneur ปั้นธุรกิจนวัตกรรมรักษ์น้ำ

ขณะที่เรากำลังอยู่ในห้วงความสุขของการความชุ่มฉ่ำในเทศกาลสงกรานต์ ปีนี้ปัญหาเรื่อง “น้ำ” กำลังเป็นประเด็นที่องค์กรระหว่างประเทศ ภาคธุรกิจ และหน่วยงานด้านการลงทุนทั่วโลกให้ความสำคัญ

ปีที่แล้วถือเป็นครั้งแรกในรอบ 47 ปี ที่องค์การสหประชาชาติจัดประชุม UN Water Conference เพื่อเร่งสร้างความตระหนักรู้และตั้งภาคีความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาทรัพยากรน้ำที่เคยถูกมองข้ามมาตลอด 

ปัจจุบัน 9 ใน 10 ของผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีประเด็นเรื่องน้ำเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยมีการประเมินว่าภายในปี 2030 ปริมาณน้ำจืดที่นำมาใช้บริโภคและใช้ในภาคอุตสาหกรรมและสาธารณูปโภคอาจจะมีปริมาณลดลงถึง 40% ซึ่งเป็นผลกระทบจากภาวะภัยแล้งและปัญหาการบริหารจัดการน้ำที่ไร้ประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่กำลังพัฒนา

หนึ่งในภารกิจสำคัญขององค์กรภาคธุรกิจ ภาคสังคมและสิ่งแวดล้อมในวันนี้ คือการเร่งนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพื่อช่วยแก้ปัญหาทรัพยากรน้ำให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน 

การเร่งสร้าง Aquapreneur หรือผู้ประกอบการนวัตกรรมที่พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อแก้ปัญหาเรื่องน้ำ กำลังเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องส่งเสริม ไม่ใช่แค่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภคเรื่องน้ำโดยตรงเท่านั้น ในอุตสาหกรรมอื่นความต้องการเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะตอบโจทย์ Pain Points เรื่องน้ำก็มีอยู่หลากหลาย 

เช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐาน ต้องการนวัตกรรมที่จะแก้ปัญหาการรั่วไหลของน้ำ ข้อมูลจาก World Bank ระบุว่าในแต่ละวันมีการสูญเสียน้ำถึง 45 ล้านลูกบาศก์เมตร จากระบบสาธารณูปโภค และจะผลกระทบถึงมูลค่า GDP ของโลกถึง 6% ภายในปี 2050

ส่วนในอุตสาหกรรมเกษตรซึ่งถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ปริมาณน้ำกว่า 70% ของน้ำจืดทั้งหมดที่มีอยู่บนโลก ก็ประสบปัญหาเรื่องประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจากระบบชลประทาน

ปัจจุบัน องค์กรระหว่างประเทศหลายองค์กร กำลังขับเคลื่อนนโยบายและผลักดันโครงการบ่มเพาะเพื่อให้เกิดผู้ประกอบการ Aquapreneur และมีการสนับสนุนด้านเงินลงทุน ข้อมูลล่าสุดจาก Asian Development Bank ระบุว่าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต้องการเม็ดเงินลงทุนถึงกว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี เพื่อสร้างธุรกิจที่จะแก้ปัญหาเรื่องน้ำใน 3 เรื่องหลัก

Aquapreneur ปั้นธุรกิจนวัตกรรมรักษ์น้ำ

เรื่องแรกคือการพัฒนาระบบการกักเก็บน้ำฝน การปรับคุณภาพน้ำและการนำน้ำกลับมาใช้

เรื่องที่สองคือ การนำเอาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อปรับปรุงระบบชลประทานในภาคเกษตร

เรื่องที่สามคือ การแก้ไขปัญหาน้ำรั่วไหลจากภาคอุตสาหกรรมและระบบสาธารณูปโภค

 นักลงทุนในฝั่ง VC มองว่าเงินลงทุนในกลุ่ม Water Tech ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก สตาร์ตอัปหลายรายที่มีผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ Pain Points หลักเช่น Field Factors, Kilimo, Seabex และ Gradient ต่างประสบความสำเร็จในการระดมทุนไปแล้วรายละหลายร้อยล้านดอลลาร์

การรักษาทรัพยากรน้ำเป็นเรื่องเร่งด่วนสำหรับทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ บางประเทศเช่น อินเดีย ออกกฎหมายกำหนดว่าทุก 2% จากผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนจะต้องถูกนำไปใช้ในการลงทุน หรือทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการรักษาทรัพยากรน้ำ อีกทั้งกำหนดอัตราภาษีที่สูงขึ้นสำหรับการใช้น้ำในภาคเกษตร 

ข่าวดีก็คือ ปัญหาเรื่องน้ำกำลังเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลกที่ทุกฝ่ายกำลังร่วมมือกันแก้ไข แต่ถ้ามองในอีกมุมหนึ่ง เราอาจจะยังไม่เห็นการผลักดันเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรมมากนักในบ้านเรา ทั้งๆ ที่เราอยู่ในกลุ่มต้นๆ ของประเทศที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ