‘เอ็นไอเอ-ออมสิน’ รับเทรนด์ ESG เปิดหลักสูตรธุรกิจความยั่งยืน

‘เอ็นไอเอ-ออมสิน’  รับเทรนด์ ESG เปิดหลักสูตรธุรกิจความยั่งยืน

“เอ็นไอเอ – ธนาคารออมสิน” เดินหน้าปั้นผู้ประกอบการ ESG ตอบโจทย์ความยั่งยืนโลก เปิดตัวหลักสูตรสร้างความพร้อม - มาตรวัดความน่าเชื่อถือใหม่แห่งการลงทุน

ตลาดหลักทรัพย์และหน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลก ทั้งในออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน และไทย กำหนดกติกาใหม่ให้ธุรกิจหรือบริษัทจดทะเบียนต้องให้ความสำคัญสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) หรือ ESG โดยให้เปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส เพื่อให้นักลงทุนมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน 

ESG จึงเป็นเทรนด์ที่มาแรงและได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) จึงร่วมกับธนาคารออมสิน จัดทำ “หลักสูตรการสร้างกรอบแนวคิดธุรกิจใหม่และการพัฒนาอย่างยั่งยืน” เพื่อเพิ่มความรู้และเสริมสร้างทักษะจำเป็นเกี่ยวกับ ESG ให้กับผู้ประกอบการไทย

เอ็นไอเอ-ออมสิน รับเทรนด์ ESG เปิดหลักสูตรธุรกิจความยั่งยืน

หลักสูตรปั้นผู้ประกอบการ ESG

หลักสูตรฯ ประกอบด้วยบทเรียนออนไลน์ 10 วิชา และ 7 กรณีศึกษาจากองค์กรทางสังคมและธุรกิจไทย รวมถึงสตาร์ตอัปจากโครงการ GSB Smart Startup Company เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ทั้งวิชาการและกรณีศึกษา ทั้งภาคธุรกิจและสตาร์ตอัป

“จุดประสงค์หลักของหลักสูตรคือ การทำธุรกิจที่หารายได้แต่ยังให้ความใส่ใจต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสังคมและสิ่งแวดล้อม ทำอย่างไรถึงจะได้ไอเดียของธุรกิจที่สนับสนุนสังคมให้ดีขึ้น ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และก็ยังสร้างรายได้ในตัว” กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการ NIA กล่าว

สมชาย อาภรณ์พงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการธนาคารออมสิน สายงานพัฒนาธุรกิจผู้ประกอบการรายย่อย กล่าวว่า ESG นอกจากจะช่วยยกระดับให้โลกดียิ่งขึ้นในทุกมิติแล้ว ยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างโอกาสเติบโตในระยะยาวให้กับธุรกิจ และยังช่วยต่อยอดไปได้ไกลถึงมิติใหม่ๆ ในการลงทุน เพราะปัจจุบันนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศต่างให้ความสำคัญกับการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีการดำเนินงานตามกรอบแนวคิด ESG

เอ็นไอเอ-ออมสิน รับเทรนด์ ESG เปิดหลักสูตรธุรกิจความยั่งยืน

การสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

บริษัท ไอ.พี.วัน จำกัด หนึ่งในบริษัทที่ลองผิดถูกด้านธุรกิจเพื่อสังคม และได้บรรจุคีย์สำคัญไว้ในหลักสูตร ESG สิรินารถ ธเนศวรกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงาน Coporate Services กล่าวไว้ว่า ไอ.พี.วัน มีอายุเข้าปีที่ 52 อยู่คู่กับคนไทยด้านการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค โดยมีแนวคิดการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพเพื่อให้เกิดความยั่งยืนตลอดทั้งกระบวนการ

หนึ่งในตัวอย่างสินค้าเช่น น้ำยาปรับผ้านุ่มไฮยีน เราเป็นเจ้าแรกในไทยที่เปลี่ยนจากสารเคมีมาเป็นแพลนต์เบสที่ย่อยสลายได้ในธรรมชาติ (Biodegradable) ซึ่งทำมากว่า 30 ปี บริษัทยังได้ปรับเปลี่ยนสินค้าให้เป็นมิตรแก่สิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด เช่น แพ็กเกจจิ้งที่นำไปรียูสหรือรีไซเคิลได้ หรือถุงของน้ำยาปรับผ้านุ่มที่ย่อยสลายตามธรรมชาติได้ถึง 90%

ในส่วนของกระบวนการผลิตนั้นสามารถลดการใช้น้ำ มีบ่อบำบัดติดตั้งโซลาร์บนหลังคา การปรับพฤติกรรมของพนักงาน เช่น คัดแยกขยะก่อนทิ้ง ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีการคิดและสามารถต่อยอดกับสินค้าของบริษัทให้เกิดความยั่งยืนได้

สิรินารถ กล่าวว่า เมื่อเข้ามาทำธุรกิจเพื่อสังคมแล้ว การสื่อสารให้ผู้บริโภคได้รับสารเช่นเดียวกันนั้นเป็นความท้าทาย ความยั่งยืนไม่ได้เกิดเพียงแค่ฝั่งของผู้ผลิต แต่ผู้บริโภคก็ต้องให้ความร่วมมือเช่นเดียวกัน

“สิ่งที่ทางบริษัทเห็นว่านี่คือการประสบความสำเร็จจากการสื่อสารคือ Hygiene Refill Station 14 จุดในกรุงเทพฯ สามารถลดขยะจากซองพลาสติกไฮยีน 4 แสนซอง ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 25 ล้านตันต่อปี

แต่กว่าจะทำให้ผู้บริโภคนำขวดมารีฟิลน้ำยาปรับผ้านุ่มจากตู้นั้นต้องใช้เวลา แต่ท้ายที่สุดเมื่อเกิดความร่วมมือจากทางทั้งสองฝั่งก็กลายเป็นสิ่งที่สร้างประโยชน์ให้แก่โลกใบนี้”

เอ็นไอเอ-ออมสิน รับเทรนด์ ESG เปิดหลักสูตรธุรกิจความยั่งยืน

เปลี่ยน Waste ให้มีมูลค่า

ควอลี่ (Qualy) ตัวอย่างสตาร์ตอัปกรณีศึกษาในหลักสูตร ESG ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัตน์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ควอลี่ บริษัท นิว อาไรวา จำกัด กล่าวว่า ควอลี่ก่อตั้งเมื่อปี 2547 ต่อยอดจากธุรกิจโรงงานผลิตชิ้นส่วนพลาสติกของครอบครัว เปลี่ยนจากผู้รับจ้างผลิตมาเป็นผู้ออกแบบสินค้าขายเอง ปัจจุบันส่งออกสินค้ากว่า 60 ประเทศ สร้างมูลค่าราว 100 ล้านบาท

ควอลี่มีพันธกิจ คือ วัสดุพลาสติกที่ผ่านการรีไซเคิลจะต้องออกแบบให้เป็นสินค้าที่น่าใช้ และต้องมีเรื่องราวสะท้อนปัญหาสิ่งแวดล้อม จะช่วยให้ลูกค้าทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคมีความรับผิดชอบในการรักษาสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น วัสดุที่ควอลี่นำมาแปรรูปจะรับมาจากคนที่นำขยะมาบริจาค หรือซื้อจากคนเก็บขยะในชุมชน

“การสื่อสารเรื่องความยั่งยืนยังเป็นสิ่งที่สำคัญอยู่ สินค้าของควอลี่บนตัวกล่องบรรจุภัณฑ์ให้พื้นที่เล่าเรื่องความยั่งยืนมากกว่าให้พื้นที่อวดสรรพคุณของสินค้า เช่น กล่องบอกเล่าเรื่องราวของวาฬที่กินพลาสติกเข้าไป เต่าทะเลที่ติดกับดักอวนเก่าในทะเล เพราะต้องการสอดแทรกเรื่องความยั่งยืนให้กับผู้บริโภคในทุกๆ ที่ เพื่อสร้างให้เกิดการตระหนักรู้และปรับตัวได้”