สำรวจทิศทาง 10 อุตฯ เป้าหมาย ‘ดิจิทัล’ โตสุด หนุนวิถีสะดวกสบาย

สำรวจทิศทาง 10 อุตฯ เป้าหมาย ‘ดิจิทัล’ โตสุด หนุนวิถีสะดวกสบาย

สอวช. - ไอริส คอนซัลติ้ง ชวนสำรวจทิศทาง 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย พบว่า อุตสาหกรรมดิจิทัลเป็นกลุ่มที่มีความต้องการบุคลากรทักษะสูงมากที่สุด รวม 30,742 ตำแหน่ง

ผลการสำรวจความต้องการบุคลากรวิจัยและนวัตกรรมรายอุตสาหกรรม (2568-2572) โดยสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และ บริษัท ไอริส คอนซัลติ้ง จำกัด สำรวจ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย พบว่า อุตสาหกรรมดิจิทัลเป็นกลุ่มที่มีความต้องการบุคลากรทักษะสูงมากที่สุด รวม 30,742 ตำแหน่ง ทั้งยังเป็นกลุ่มที่คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า สอวช. พัฒนา STEMPlus แพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง ตอบโจทย์ผู้ประกอบการ นักศึกษา บุคคลทั่วไป ตลอดจนหน่วยงานฝึกอบรม

หน่วยงานที่ส่งบุคลากรเข้าอบรมสามารถนำค่าใช้จ่ายการอบรมลดหย่อนภาษีได้ 250% และหน่วยงานที่มีการจ้างงานบุคลากรทักษะสูงด้าน STEM สามารถนำค่าจ้างบุคลากรมาลดหย่อนภาษี 150% 

นอกจากนี้ สอวช. ยังจัดทำโครงการ Social Mobility เพื่อยกฐานะทางสังคมของประชากรฐานราก มีเป้าหมายทำให้ได้ 1 ล้านคน ภายในปี 2570 ขณะเดียวกันยังต้องคำนึงถึงประเด็นเรื่องความยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงกระทบกับการค้า การลงทุน ซึ่งการสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ 

พลังงานและปัญญาประดิษฐ์

เพ็ญสุดา เหล่าศิริพจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอริส คอนซัลติ้ง จำกัด กล่าวว่า โครงการสำรวจความต้องการบุคลากรวิจัยและนวัตกรรมรายอุตสาหกรรม เก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการ 300 องค์กร โดยแต่ละอุตสาหกรรมมีทิศทางดังต่อไปนี้

อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ปัจจัยที่ทำให้ยานยนต์ไฟฟ้าเติบโตคือ ราคาพลังงานที่ผันผวนและเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว รวมถึงคนหันมาสนใจลดการปล่อยคาร์บอน ที่สำคัญ ราคาของรถยนต์ไฟฟ้าก็ถูกกว่า และมีจุดชาร์ตมากขึ้น ทำให้ความต้องการบุคลากรเพิ่มขึ้นเช่นกัน

กลยุทธ์ของบริษัทรายใหญ่จะปรับตัวเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงเน้นการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้เชิงพาณิชย์ ส่วนผู้ประกอบการรายเล็กเน้นการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก

บุคลากรจึงต้องมีความรู้และทักษะด้านการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าและไฮบริด การอ่านเขียนทางวิศวกรรม ศึกษาเกี่ยวกับด้านเทคโนโลยีเซนเซอร์และระบบควบคุมยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาด

ด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและหุ่นยนต์ ประเทศไทยยังเป็นเพียงผู้รับจ้างประกอบชิ้นส่วนที่ใช้ในหุ่นยนต์ ขาดการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงเป็นของตนเอง จึงมีอัตราเติบโตที่คงที่และเริ่มชะลอตัว

“ผู้ประกอบการไทยมีการนำเอไอมาใช้ ซึ่งทำให้อัปเกรดราคาได้สูงขึ้น มีการผลิตหุ่นยนต์เชิงพาณิชย์เพื่อนำมาใช้งานมากกว่าเดิม เช่น หุ่นยนต์เสิร์ฟอาหาร ผู้ประกอบการบางรายไม่ใช้ชิ้นส่วนจากจีน เพราะเป็นการเพิ่มต้นทุน แต่ผลิตหุ่นยนต์เพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศด้วยตนเองแทน” 

อุตสาหกรรมเศรษฐกิจของประเทศ

อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งสร้างรายได้ให้แก่ประเทศเป็นจำนวนที่มหาศาล แต่หลังจากวิกฤติโควิด-19 ภาครัฐบาลฟื้นฟูการท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น ทำให้มีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติให้ความสนใจกับการท่องเที่ยวไทย และยังมีการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยการกำหนดยุทธศาสตร์ไทยให้เป็น ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ

“หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ซบเซาลง ภาครัฐบาลและส่วนที่เกี่ยวข้องฟื้นฟูการท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น ทำให้มีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติให้ความสนใจกับการท่องเที่ยวไทย และยังมีการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยการกำหนดยุทธศาสตร์ไทยให้เป็น ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ

ทางผู้ประกอบการรายใหญ่มีการนำเทคโนโลยีและบริการดิจิทัลต่างๆ มาพัฒนาร่วมกับการโปรโมทท่องเที่ยว ส่วนผู้ประกอบการรายเล็กเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้กับนักท่องเที่ยว บริการลูกค้าอย่างเหมาะสมไม่แตกต่างจากบริษัทใหญ่ๆ”

อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ มีแนวโน้มเติบโต ผลจากความเข้มแข็งด้านเกษตรกรรมของไทย โดยมีการเพาะปลูกพืชหลายประเภทที่จำเป็นในการแปรรูปด้วยเทคโนโลยีชีวภาพของไทย

พฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่สนใจสิ่งแวดล้อม ทำให้นวัตกรรมด้านการผลิตเกี่ยวกับเกษตรยิ่งถูกพัฒนามากขึ้น เช่น โดรน เทคโนโลยี IoT การนำเอไอมาบริหารแปลงปลูกพืช เป็นต้น

อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและอาหารแห่งอนาคต แม้ตลาดจะเล็กแต่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ธุรกิจเกี่ยวกับอาหารอนาคตเพื่อผู้สูงอายุมีผู้เข้ามาพัฒนาน้อยราย ทำให้การแข่งขันยังไม่สูง และมองว่าเป็นโอกาสสำคัญของผู้ประกอบการเพราะไทยเข้าสู่สังคมของผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แล้ว

อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์  แม้ไทยจะได้เปรียบด้านที่ตั้ง แต่ยังขาดโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับการบิน ทั้งเรื่องบุคลากร จำนวนเครื่องบิน อีกทั้งต้นทุนด้านเชื้อเพลิงก็มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้น จึงมีความต้องการบุคลากรที่มีทักษะด้านการซ่อมบำรุงท่าอากาศยาน วิศวกรรมสื่อสาร ตลอดจนวิศวกรรมการบินและอวกาศที่มากขึ้น

อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ เคมีชีวภาพ และเทคโนโลยีชีวภาพ มีแนวโน้มขยายตัวอย่างจำกัดจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ของการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีเอทานอลเป็นส่วนประกอบหลัก และรถยนต์ไฟฟ้าที่ส่งผลให้ความต้องการน้ำมันเชื้อเพลิงเติบโตช้าลง

“ผู้ประกอบการรายใหญ่ในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพจำเน้นสื่อสารเพื่อสร้างแบรนด์ที่มีความยั่งยืนแก่สิ่งแวดล้อม ตลอดจนนำของเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตมาใช้หมุนเวียนเพื่อสิ่งแวดล้อม

ด้านผู้ประกอบการรายเล็กจะสร้างมูลค่าให้กับสินค้าและนวัตกรรมใหม่ เพื่อจูงใจผู้บริโภค และยังทำการตลาดเพื่อสื่อสารคุณค่าของสินค้าเพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคให้มีความใช้งานได้ง่ายขึ้น เช่น เว็บไซต์ แอปพลิเคชัน” 

ดิจิทัลตอบโจทย์ความสะดวกสบาย

อุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะมีแผนสนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 2566-2570 โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ทั้งด้านงบลงทุน ทุนวิจัย ทุนพัฒนาทักษะ และทุนสร้างสรรค์

“ผู้บริโภคให้คุณค่ากับสินค้าและนวัตกรรมที่ใช้ความครีเอทีฟของผู้สร้าง ทำให้เทรนด์มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้านผู้ประกอบการรายใหญ่ใช้กลยุทธ์การสร้างสรรค์งานแล้วจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อการส่งออก

ในส่วนของผู้ประกอบการรายเล็กใช้การเล่าเรื่องเพื่อส่งต่อคุณค่าที่กลั่นมาจากประสบการณ์ของชีวิตศิลปินที่สร้างผลงาน เพื่อทำให้เกิดการอิมแพค”

อุตสาหกรรมดิจิทัล มีแนวโน้มเติบโต เนื่องจากการทำธุรกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันเน้นความสะดวกสบาย ด้วยการใช้แพลตฟอร์มต่างๆ บนสมาร์ตโฟน ต่อไปเทคโนโลยีใหม่ เช่น เอไอ IOT บล็อกเชน เว็บ 3.0 คลาวด์คอมพิวเตอร์ จะมีส่วนทำให้อุตสาหกรรมเติบโตขึ้น

ด้าน อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร การเติบโตเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยไทยมีจุดแข็งด้านค่ารักษาพยาบาลและคุณภาพของการรักษาที่ได้รับการยอมรับจากทั้งโลก 

“บริษัทรายใหญ่ในธุรกิจดังกล่าวมีการออกแบบแอปพลิเคชันเพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้บริโภคถึงผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ก็ยังพัฒนายากลุ่มสมุนไพรที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง 

ส่วนผู้ประกอบการรายเล็กพัฒนาระบบให้บริการด้าน eHealth และ mHealth อย่างต่อเนื่อง รวมถึงพัฒนาซอฟต์แวร์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการรักษามากขึ้น”