Divest & Invest ทางไหนเพื่ออนาคตองค์กร | ต้องหทัย กุวานนท์

Divest & Invest ทางไหนเพื่ออนาคตองค์กร | ต้องหทัย กุวานนท์

ปี 2024 จะเป็นปีของการเปลี่ยนแปลงในองค์กรขนาดใหญ่และขนาดกลางในทุกอุตสาหกรรม ตัวแปรที่สำคัญนอกเหนือจากเรื่องการบริหารความเสี่ยงทางการเงินแล้ว การปรับตัวเพื่อตอบโจทย์ความท้าทายเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน

สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้องค์กรต้องตัดสินใจที่จะลงทุนในธุรกิจใหม่ เพื่อสร้างความยั่งยืนในอนาคตหรือขายทิ้งธุรกิจปัจจุบันที่ไม่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์และพันธกิจขององค์กรในระยะยาว 

ผลสำรวจความเห็น CEO จัดทำโดย EY และ Deloitte ล่าสุดระบุว่า 98% ของ CEO บริษัทชั้นนำตัดสินใจจะลงทุนซื้อธุรกิจใหม่หรือลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยี เช่น AI, Cybersecurity, พลังงานทางเลือก, หรือเทคโนโลยีใหม่ที่จะสามารถเชื่อมโยงได้กับธุรกิจหลักขององค์กร ส่วน CEO อีก 24% มีแผนงานที่จะขายทิ้ง (Divest) ธุรกิจที่เป็นอุปสรรคต่อพันธกิจการเป็นองค์กรที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

ถ้าดูตัวเลขการลงทุนขององค์กรขนาดใหญ่ในปีที่ผ่านมา ภาพรวมเม็ดเงินการลงทุนและขายทิ้งธุรกิจมีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน นั่นคือ ลงทุนในธุรกิจใหม่ประมาณ 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์และขายทิ้งธุรกิจบางส่วนออกไปด้วยเม็ดเงินประมาณ 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์

แรงกดดันที่ทำให้ผู้บริหารองค์กรต้องตัดสินใจขายทิ้งธุรกิจบางส่วนออกไป มีปัจจัยหลัก 4 ข้อ

  1. ต้องการเงินสดเพื่อนำไปลงทุนในธุรกิจใหม่ เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวโยงกับความยั่งยืนและดีต่อสิ่งแวดล้อม
  2. เพื่อลดภาระหนี้องค์กรกับธุรกิจที่ไม่ได้เป็นตัวเพิ่มกระแสเงินสด
  3. ขายธุรกิจรองเพื่อให้มีทรัพยากรเพียงพอในการโฟกัสกับธุรกิจหลักมากขึ้น 
  4. ข้อสุดท้ายที่สำคัญไม่แพ้ข้ออื่นคือ การทำให้ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญ เช่น สถาบันการเงินมีความมั่นใจในอนาคตขององค์กรมากขึ้น 

สามอุตสาหกรรมหลักที่มีการขายทิ้งกิจการและลงทุนเพิ่มมากที่สุดในปีที่ผ่านมาคือ อุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมยา และอุตสาหกรรม FMCG ในฝั่งกองทุนบำเหน็จบำนาญ (Pension Fund) ซึ่งถือว่าเป็นกองทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลกกว่า 1,500 กองทุนได้ประกาศถอนการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงฟอสซิล 

นอกจากนั้น เราได้เห็นบริษัทพลังงานข้ามชาติและบริษัทขนาดใหญ่ในไทย ที่ขายกิจการธุรกิจถ่านหินในต่างประเทศ เพื่อลดสัดส่วนธุรกิจที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และกู้เงินเพิ่มเพื่อมาลงทุนในธุรกิจ EV และขับเคลื่อนพลังงานทางเลือก 

บางธุรกิจที่ดูเหมือนว่าจะไม่ได้เป็นเป้าโจมตีเรื่องความยั่งยืนโดยตรงอย่าง อุตสาหกรรมยาและ FMCG เราก็ได้เห็นดีลใหญ่ๆ เช่น Novartis, J&J, Glaxo Smith Kline ที่ขายกลุ่มธุรกิจคอนซูเมอร์เฮลท์มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ออกไปจากธุรกิจหลัก และนำเงินไปลงทุนในธุรกิจสตาร์ตอัปด้าน Biotech ในมูลค่าหลายพันล้าน 

ส่วนธุรกิจ FMCG อย่างลอรีอัลก็ไม่น้อยหน้าเพราะเพิ่งไปลงทุนใน Aesop แบรนด์สกินแคร์ในออสเตรเลียที่ใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติ ด้วยมูลค่า 2.5 พันล้านดอลลาร์ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์การลงทุน

สำหรับองค์กรธุรกิจ ไม่ว่าจะเลือกทางไหน จะขายทิ้งหรือลงทุนในธุรกิจใหม่ การประเมินความเสี่ยงที่ดีที่สุดคือ การกลับไปทบทวนความแข็งแกร่งของโครงสร้างธุรกิจหลักว่ายังสอดคล้องกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลกอยู่หรือไม่ 

ถ้าคำตอบคือ “ไม่” การวางแผนที่จะขายทิ้งธุรกิจหลัก ควรเป็นส่วนหนึ่งของโรดแมปในการทรานส์ฟอร์ม ในขณะเดียวกันการเร่งลงทุนในธุรกิจทางเลือกใหม่ก็ถือเป็นความเร่งด่วนเพื่อให้ “ทัน” ต่อการแข่งขันแบบ New Normal