Neuralink : จาก AI สู่ BCI | ธราธร รัตนนฤมิตศร

Neuralink : จาก AI สู่ BCI | ธราธร รัตนนฤมิตศร

ทุกวันนี้นอกจากเราจะได้ข่าวสารเกี่ยวกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งกำลังสร้างผลกระทบอย่างพลิกโฉมในทุกวงการแล้ว อีกเทคโนโลยีหนึ่งที่โลกกำลังจับตามองก็คือเทคโนโลยีส่วนต่อประสานสมองกับคอมพิวเตอร์ หรือ BCI

เทคโนโลยีส่วนต่อประสานสมองกับคอมพิวเตอร์ (Brain-Computer Interface) หรือ BCI จะทำให้มนุษย์สามารถควบคุมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ผ่านทางการคิดเท่านั้น และเป็นการปูทางไปสู่การเกิดขึ้นของเครือข่ายสมอง (Brain Net) คล้ายกับการเข้าไปสู่โลก Matrix ในภาพยนตร์เรื่องดัง

สัปดาห์ที่ผ่านมา อีลอน มัสก์ นักธุรกิจและนวัตกรชื่อดัง เพิ่งได้ประกาศว่าบริษัท Neuralink ของเขาประสบความสำเร็จครั้งสำคัญในการปลูกถ่ายชิปขนาดเหรียญซึ่งเป็น "ส่วนต่อประสานสมองกับคอมพิวเตอร์" (BCI) ในสมองมนุษย์จริงๆ เป็นครั้งแรก โดยเน้นย้ำว่ามนุษย์คนแรกที่ได้รับการปลูกถ่าย Neuralink กำลังฟื้นตัวได้ดี  

อุปกรณ์นี้เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมพลิกโลก ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในกการสื่อสารโดยตรงระหว่างสมองกับคอมพิวเตอร์

หากสามารถพัฒนา BCI จนประสบความสำเร็จ จะทำให้มนุษย์สามารถควบคุมคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนได้ง่ายๆ ผ่าน “ความคิด” โดยตรง ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อมนุษย์ทุกคน รวมถึงผู้ที่พิการทางการเคลื่อนไหว

นอกจากนี้ยังอาจช่วยรักษาความผิดปกติของสมอง และช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ที่ได้รับบาดเจ็บที่หลังอย่างรุนแรง ตลอดจนอาจช่วยฟื้นฟูการมองเห็นให้กับคนตาบอด

อุปกรณ์ของ Neuralink นี้จะมีชื่อว่า “Telepathy”  คำนี้โดยทั่วไปหมายถึงการสื่อสารผ่านจิตหรือโทรจิต ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้อนุมัติการทดสอบอุปกรณ์ Neuralink ในมนุษย์เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่ผ่านมา 

แนวคิดของอินเทอร์เฟซระหว่างสมองและคอมพิวเตอร์ (BCI) เช่นเดียวกับที่บริษัท Neuralink กำลังพัฒนา จริงๆ แล้วถือเป็นเนื้อหาหลักในวงการนิยายวิทยาศาสตร์มานานหลายทศวรรษ  

เรื่องที่สำคัญคือเรื่อง “Neuromancer” โดยวิลเลียม กิบสัน ผู้โด่งดังและประดิษฐ์คำว่าไซเบอร์สเปซขึ้นมาเป็นคนแรก

นวนิยายไซเบอร์พังค์เรื่อง Neuromancer นี้ได้เสนอแนวคิดการเชื่อมสมองเข้าสู่เครือข่ายคอมพิวเตอร์ระดับโลกด้วยความคิดของตนเองเป็นครั้งแรกๆ  ซึ่งมีอิทธิพลต่อผลงานมากมายเกี่ยวกับไซเบอร์เนติกส์และอินเทอร์เฟซผ่านระบบประสาท 

ความพยายามของ Neuralink เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามทางวิทยาศาสตร์ในวงกว้าง โดยปัจจุบัน มีการทดลองอินเทอร์เฟซคอมพิวเตอร์สมองมากกว่า 40 รายที่กำลังดำเนินการอยู่ทั่วโลก

Neuralink : จาก AI สู่ BCI | ธราธร รัตนนฤมิตศร

แม้จะมีความก้าวหน้าทางนวัตกรรม แต่ Neuralink ก็ต้องเผชิญกับคำวิพากษ์วิจารณ์ รวมถึงค่าปรับจากกระทรวงคมนาคมของสหรัฐอเมริกา เนื่องจากละเมิดกฎการขนส่งสารอันตราย และความกังวลเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติในการทดสอบกับสัตว์ ซึ่งพนักงานบางคนมองว่าเร่งรีบและนำไปสู่การเสียชีวิตโดยไม่จำเป็น

การแข่งขันทางเทคโนโลยีเพื่อรวมชิปคอมพิวเตอร์เข้ากับสมองของมนุษย์ทวีความสำคัญสูงขึ้น เมื่อประเทศจีนได้ประกาศแผนการที่จะพัฒนาชิปส่วนต่อประสานระหว่างสมองและคอมพิวเตอร์ของตนเองเช่นกัน โดยวางตำแหน่งตัวเองเป็นคู่แข่งสำคัญกับ Neuralink ของอีลอน มักส์

หลังจาก Neuralink ประกาศการปลูกฝังชิปสมองมนุษย์ครั้งแรก ประเทศจีนก็ได้ประกาศความตั้งใจที่จะส่งมอบเทคโนโลยีที่คล้ายกันภายในปี 2568 โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ของจีนในการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี

การประกาศของจีนในการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ เน้นย้ำถึงศักยภาพของการแข่งขันด้านเทคโนโลยีครั้งใหญ่ระดับนานาชาติ ส่วนต่อประสานคอมพิวเตอร์สมอง ช่วยให้คนเราสามารถควบคุมอุปกรณ์และแอปพลิเคชันทางความคิดได้โดยตรง โดยไม่จำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์ทางกายภาพ และอาจปฏิวัติวงการสาขาต่างๆ

เช่น การขับขี่ยานยนต์อัตโนมัติ ความเป็นจริงเสมือน และการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ รวมถึงจะมีเรื่องกฎระเบียบใหม่ๆ ตามมาทั้งด้านความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัยของข้อมูล และผลกระทบทางจริยธรรมจากการเชื่อมเทคโนโลยีเข้ากับร่างกายมนุษย์

Neuralink : จาก AI สู่ BCI | ธราธร รัตนนฤมิตศร

เมื่อมองไปในอนาคต ความก้าวหน้าจากส่วนต่อประสานคอมพิวเตอร์สมอง หากทำได้สำเร็จ ก็อาจนำไปสู่อนาคตของเครือข่ายใหม่ อย่างแนวคิดที่เรียกว่า “เน็ตสมอง” (BrainNet) นั่นคือ สังคมทั้งสังคมเคลื่อนย้ายจากการเชื่อมกันบนโลกอินเทอร์เน็ต ไปเชื่อมโยงกันผ่านเน็ตสมอง ซึ่งมนุษย์สามารถสื่อสารโดยตรงระหว่างสมองมนุษย์กับสมองมนุษย์ก็อาจกลายเป็นความจริงขึ้นมาได้ 

การเกิดขึ้นของเน็ตสมองในอนาคต คงทำให้โครงสร้างทางสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพราะการสื่อสารจะก้าวข้ามสื่อทางวาจาและลายลักษณ์อักษร ทำให้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อพลวัตทางสังคม การศึกษา และแม้กระทั่งการปกครอง

เพราะเราอาจมีกฎหมายที่ห้ามไม่ให้ผู้คนพูด เขียน หรือสื่อสารในทางใดๆ ที่ผู้ปกครองมองว่าเป็นภัยต่อสังคมและความมั่นคงของประเทศได้ แต่คงจะยากที่จะห้ามคนไม่ให้คิดได้

ความก้าวหน้าของส่วนประสานคอมพิวเตอร์สมอง (BCI) ในสัปดาห์ที่ผ่านมา จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่จะก้าวไปในสู่เน็ตสมองในอนาคต การที่ประเทศมหาอำนาจเข้ามาลงทุนในเทคโนโลยีนี้ทำให้เกิดคำถามสำหรับอนาคตว่าสังคมไหนจะใช้เทคโนโลยีนี้เพื่อควบคุมความคิดของมนุษย์ให้เป็นไปตามที่ผู้ปกครองต้องการ และสังคมไหนจะใช้เทคโนโลยีนี้เพื่อปลดปล่อยศักยภาพของมนุษย์ไปสู่สังคมเสรี

ระหว่างที่พวกเรากำลังรับมือและใช้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์ในทุกวันนี้ อย่าลืมเตรียมพร้อมรับมือกับเทคโนโลยี BCI ที่ดูเริ่มจะใกล้เป็นจริงขึ้นทุกวัน.

Neuralink : จาก AI สู่ BCI | ธราธร รัตนนฤมิตศร