ถอดรหัสนวัตกรรมทุเรียนไทย กว่าจะเป็นแชมป์

ถอดรหัสนวัตกรรมทุเรียนไทย กว่าจะเป็นแชมป์

ในปี 2565 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกทุเรียนทั่วประเทศที่ให้ผลผลิตประมาณ 1,054,868 ไร่ มีมูลค่าการส่งออกกว่า 1 แสนล้านบาท โดยจีนเป็นตลาดหลักในการส่งออกทุเรียนของไทย (กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ, 2566) แซงหน้าพืชเศรษฐกิจหลายชนิดที่เคยทำสถิติการส่งออกไว้ 

ย้อนหลังไปหลายปี ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เดินทางไปพบปะกับผู้นำเข้าในประเทศจีน โดยการประสานงานของกงสุลใหญ่นครหนานหนิง

ผู้นำเข้าแจ้งว่าผู้บริโภคจีนพูดกันปากต่อปากว่าทุเรียนไทยซื้อ 10 กล่องกินได้กล่องเดียว ซื้อทุเรียนจากเพื่อนบ้านเราแช่แข็งทั้งผลซื้อ 10 ผลกินได้ 10 ผลแม้ราคาสูงกว่า 3-4 เท่าตัว

ทำให้ต้องหวนกลับมาคิดว่าคุณภาพเท่านั้นที่จะรักษาตลาดไว้ได้ ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนทั้ง CLMV ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ต่างเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวยิ่ง

กว่าจะเป็นผลทุเรียนที่ส่งออกได้ เกษตรกรไทยต้องระทมทุกข์กับปัญหาการผลิตนานัปการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรครากเน่าโคนเน่า ทุเรียนปลูกมาได้ 8-10 ปียืนต้นตาย ต้นทุเรียนโทรมหลังการเก็บผลผลิต เนื้อทุเรียนมีอาการไส้ซึม เนื้อแข็งเป็นไต รสชาติไม่ดี เป็นปัญหาทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ 

ทีมผู้วิจัยได้ทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ภายใต้โครงการท้าทายไทย โครงการวิจัยเรื่องการพัฒนาเกษตรกรไทยสู่ smart farmer ปีงบประมาณ 2562 เพื่อเข้ามาแก้ปัญหาโรครากเน่าโคนเน่าของทุเรียน และการพัฒนาการผลิตทุเรียนคุณภาพสูงด้วยเทคโนโลยีตั้งแต่ต้นน้ำ

ได้แก่ การปลูกและบำรุงรักษาต้นทุเรียนด้วยนวัตกรรมการสร้างระบบนิเวศชักนำรากลอย (Reborn Root Ecosystem: RRE) ที่ได้จากการถอดรหัสการวิจัยจากองค์ความรู้ทางด้านวนศาสตร์ ผสมผสานกับองค์ความรู้ของพืชสวน โรคพืช และปฐพีวิทยา (multidisciplinary)

ที่สร้างระบบนิเวศจากจุลินทรีย์ที่ดีให้กับระบบรากพืช เกิดชั้น humus และสาร humic  substance ให้รากพืชอยู่กับจุลินทรีย์แบบเกื้อกูลกัน (symbiosis) และรากพืชสามารถหาอาหารได้อย่างสมบูรณ์ 

ถอดรหัสนวัตกรรมทุเรียนไทย กว่าจะเป็นแชมป์

องค์ความรู้นี้ถูกนำไปถ่ายทอดให้กับเกษตรกรแบบบูรณาการ ทำให้การปลูกทุเรียนตั้งแต่ต้นเล็ก มีโอกาสรอดสูง ต้นแตกใบอ่อนเจริญงอกงามดี สำหรับต้นทุเรียนที่ให้ผลแล้ว สามารถแก้ปัญหาเรื่องรากเน่าโคนเน่าได้อย่างถาวร

เนื้อทุเรียนไม่เป็นไส้ซึม ประหยัดต้นทุนการผลิตกว่าร้อยละ 60-80 ขณะที่ยังได้ปริมาณผลผลิตเท่าเดิมหรือมากกว่าเดิม เนื่องจากสามารถลดการใช้สารเคมีลงได้กว่าร้อยละ 80 

เมื่อต้นทุเรียนสมบูรณ์แล้ว ต่อไปคือการพัฒนาผลทุเรียนให้มีคุณภาพสูงด้วยนวัตกรรมการให้น้ำและธาตุอาหารแบบลุ่มน้ำ (basin fertigation) ที่ถอดรหัสไขความลับการผลิตไม้ผลเขตร้อนที่บรรพชนทิ้งไว้ให้จากประโยคเดียวว่า “ปลูกไม้ผลให้ปลูกขอบสระ”

นักวิจัยจึงได้ทำการศึกษาการสังเคราะห์แสง และการปิดเปิดปากใบตลอดทั้งวันของต้นทุเรียน สภาพความเครียดจากน้ำ จนเกิดองค์ความรู้ใหม่ ที่ทำให้ต้นทุเรียนสามารถสังเคราะห์แสงได้มากขึ้น จากปกติเฉลี่ยทั้งปีวันละ 3-4 ชั่วโมง เป็นวันละ 6-8 ชั่วโมง

ถอดรหัสนวัตกรรมทุเรียนไทย กว่าจะเป็นแชมป์

ส่งผลให้ทุเรียนหมอนทองอายุ 90-95 วัน มีร้อยละน้ำหนักแห้งของเนื้อ (%DM) ประมาณ 35 ทั้งที่ก่อนหน้านั้นต้องใช้เวลาถึง 110-115 วัน ทั้งยังส่งผลให้เนื้อทุเรียนโดยเฉพาะพันธุ์หมอนทองที่เป็นพันธุ์การค้าหลัก มีรสชาติและเนื้อสัมผัสดีขึ้นมาก

โดยเนื้อสัมผัสมีลักษณะเหนียวเนียนละเอียดเป็นครีม รสชาติหวานมันเข้มข้น มีกลิ่นหอมดอกไม้ เส้นใยอ่อนนุ่ม ให้ความรู้สึกเหมือนกินทุเรียนพันธุ์ก้านยาว

ทำให้ผู้บริโภคติดใจในรสชาติอย่างมากจนบอกต่อๆ กัน เกษตรกรสวนที่ให้ความร่วมมือเป็นแปลงทดลอง ทุเรียนไม่พอขายต้องจองกันข้ามปีทีเดียว 

ผลจากการนำนวัตกรรมทั้งสองอย่างข้างต้นเผยแพร่เพื่อให้เกษตรที่สนใจนำไปทดลองในแปลงของตนเองระหว่างปี 2565-2566 ที่ผ่านมา ได้เกิดกลุ่มผู้ผลิตวิถีทุเรียนอร่อย ที่มีเกษตรกรทุกภาคสนใจมาร่วมอบรมและเข้ากลุ่มกว่า 100 ราย

กลุ่มทุเรียนจังหวัดบึงกาฬ ได้คุณอภิชาต เสริมพงษ์ รองเกษตรจังหวัด กำกับตรวจเยี่ยมดูแลเกษตรในพื้นที่ จนได้ผลผลิตที่ดีและออกดอกติดผลก่อนทางภาคตะวันออก ได้ราคาต้นฤดูกาลที่ดีมาก  

ในฤดูการผลิตปี 2566 ทางกลุ่มได้จัดทัวร์ออกเยี่ยมสมาชิกและชิมทุเรียนของเพื่อนสมาชิกที่มาอบรมตั้งแต่รุ่นที่ 1 บางสวนนอกจากได้ผลผลิตที่ดีแล้ว ยังต่อยอดนำนวัตกรรมการสร้างระบบนิเวศชักนำรากลอยมาทดลองแก้ปัญหาน้ำเค็มรุก ที่ทำให้ใบไหม้และผลผลิตลดลง

ถอดรหัสนวัตกรรมทุเรียนไทย กว่าจะเป็นแชมป์

ปรากฏว่าได้ผล ทำให้อาการใบไหม้จากน้ำเค็มรุกไม่เกิดกับใบอ่อนที่แตกใหม่ ต้นทุเรียนมีการพัฒนาอย่างดี 

นวัตกรรมข้างต้นนำไปสู่การถ่ายทอดองค์ความรู้นี้ให้เกษตรกรในหลายพื้นที่กว่า 18 จังหวัดทั้ง 4 ภาคหลักของการผลิตทุเรียนของไทย จนเกษตรกรให้การยอมรับ เป็นจุดเริ่มต้นที่เกษตรกรมาขออนุญาตใช้นวัตกรรมจากงานวิจัย

ซึ่งทางสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีแผนการดำเนินงานถ่ายทอดเทคโนโลยีแบบบูรณาการกับเกษตรกร ให้สามารถผลิตทุเรียนคุณภาพสูง เจาะตลาดลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูงทั้งในและต่างประเทศ เพื่อที่ว่าทุเรียนไทยจะยังคงครองแชมป์โลกได้อย่างยั่งยืนต่อไป

ผู้เขียน

วรภัทร วชิรยากรณ์, ปิยพงษ์ สอนแก้ว, ธนวัฒน์ โชติเวรรณ, ประกอบ เกิดท้วม  สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC)