ทุเรียนไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาดจีนให้เวียดนาม-ฟิลิปปินส์

ทุเรียนไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาดจีนให้เวียดนาม-ฟิลิปปินส์

จีนนำเข้าทุเรียนพุ่งสูงขึ้นมากในปี 2566 แต่ไทยซึ่งเป็นซัพพลายเออร์หลักสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้เวียดนามและฟิลิปปินส์

เว็บไซต์เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์รายงาน ข้อมูลจากกรมศุลกากรจีนระบุ ในปี 2566 จีนนำเข้าทุเรียน 1.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 69% จากปี 2565

สัดส่วนการนำเข้าทุเรียนจากไทยคิดเป็นดอลลาร์สหรัฐลดลงจากเกือบ 100% ในปี 2564 มาอยู่ที่ 95.36% ในปี 2565 และ 67.98% ในปี 2566

นับตั้งแต่จีนเริ่มอนุญาตให้เวียดนามส่งทุเรียนสดมาจีนได้ในปี 2564 ทุเรียนเวียดนามก็มาชิงส่วนแบ่งตลาดของไทย

สัดส่วนการส่งออกทุเรียนเวียดนามไปยังจีนเริ่มจากแทบเป็นศูนย์ แล้วครองส่วนแบ่งตลาด 4.6% มูลค่า 188.1 ล้านดอลลาร์ในปี 2565 ปีรุ่งขึ้นพุ่งเป็น 31.8% มูลค่ารวม 2.1 พันล้านดอลลาร์

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กล่าวว่า ปี 2565 เวียดนามส่งออกผลไม้ไปทั่วโลกทะลุ 4.9% ของทั้งหมด ปริมาณ 40.88 ล้านกิโลกรัม ทั้งๆ ที่ปี 2564 สัดส่วนมีไม่ถึง 1% และก่อนหน้านั้นไม่เคยส่งออกเลย

สัปดาห์ก่อน กรมข้อมูลข่าวสารต่างประเทศของเวียดนามคาดการณ์ว่า ปีนี้ทุเรียนจะทำรายได้ให้กับเวียดนามทะลุ 3.5 พันล้านดอลลาร์ พุ่งขึ้น 55% จากปี 2566 ด้วยการเจาะตลาดจีน

งานวิจัยเมื่อปีก่อนของ HSBC ชี้ว่า การส่งออกทุเรียนเวียดนามกว่า 90% ไปยังจีน

ทั้งนี้ ทุเรียนกลายเป็นของมีค่าสำหรับชนชั้นกลางจีน แม้บางคนไม่ชอบกลิ่นแต่ทุเรียนมีราคาแพงมาก คนที่หลงใหลถึงกับยกให้เป็น “ราชาแห่งผลไม้

นายเหวียน ถั่นจุ่ง นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฟุลไบรท์เวียดนาม กล่าวว่าเกษตรกรชาวเวียดนามหลายคนได้ปรับพื้นที่และซื้อเครื่องมือใหม่เพื่อหันไปปลูกทุเรียน

“เกษตรกรเวียดนามรู้วิธีปลูกพืชหมุนเวียนและยืดเวลาเก็บเกี่ยว ทุเรียนถูกมองว่าเป็นพืชทำเงินในเวียดนาม และสร้างผลกำไรมหาศาล เกษตรกรรู้วิธีขยายโอกาส” นักวิชาการระบุ

ฟิลิปปินส์ก็ได้ประโยชน์จากตลาดนี้เพิ่มขึ้นเช่นกัน เดือน ม.ค.2566 จีนเห็นชอบนำเข้าทุเรียนสดจากฟิลิปปินส์ ที่ส่วนใหญ่ปลูกด้วยดินภูเขาไฟของภูเขาอาโปบนเกาะมินดาเนาทางภาคใต้ของประเทศ

สำนักข่าวทางการฟิลิปปินส์รายงานว่า ระหว่างเดือน ม.ค.-มิ.ย.2566 ฟิลิปปินส์ส่งออกทุเรียนไปยังจีนมูลค่า 1.88 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ข้อมูลจากกรมศุลกากรจีนชี้ว่า ปี 2566 ทุเรียนฟิลิปปินส์ครองสัดส่วน 0.2% ในตลาดจีน

โจนาทาน เรวีแลส กรรมการผู้จัดการบริษัทที่ปรึกษาeManagement for Business and Marketing Services ในกรุงมะนิลากล่าวว่าผู้ปลูกทุเรียนยังคงให้ความสำคัญกับตลาดในประเทศก่อน ส่วนที่เกินค่อยส่งออก

นายเรวีแลสกล่าวด้วยว่า การขนส่งทุเรียนจากฟิลิปปินส์มาจีนโดยปกติแพงกว่าขนส่งจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เหตุจากระยะทางและอุปสรรคด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ควรได้รับการแก้ไข เนื่องจากฟิลิปปินส์ถือเป็นตัวเลือกสำคัญอันดับหนึ่งในเวลานี้ รัฐบาลอาจจะปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ห้องเย็น

แม้แต่จีนปีก่อนเพิ่งประกาศว่า ปลูกทุเรียนได้แล้วบนเกาะไห่หนานทางภาคใต้ของประเทศ

เฟิ่ง ซู่จี ผู้อำนวยการสถาบันผลไม้เขตร้อน สถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรไห่หนาน คาดว่าปีนี้จะผลิตทุเรียนในประเทศได้ 250 ตัน และ "ภายในปีหน้าสามารถวางตลาดได้ในปริมาณมากด้วยผลผลิตทะลุ 500 ตัน" เฟิ่งกล่าวและว่า ปี 2566 ไห่หนานปลูกทุเรียนได้รวม 50 ตัน ยังไม่เพียงพอสำหรับผู้บริโภคชาวจีนผู้คลั่งไคล้ทุเรียนส่วนเรื่องราคาและรสชาติของทุเรียนจีนในอนาคต “ยังต้องจับตาดูต่อไป”

ด้านผู้ส่งออกทุเรียนในมาเลเซียก็กำลังผลักดันส่งออกไปยังจีนเช่นกัน เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ทางการทูต

นายไซมอน ชิน ผู้ก่อตั้งบริษัทส่งออก DKing กล่าวว่า ตอนนี้มาเลเซียได้รับอนุญาตให้ส่งออกได้เฉพาะทุเรียนแช่แข็งเท่านั้น ขณะนี้ผู้ส่งออกมาเลเซียกำลังเจรจากับจีนเพื่อหาทางส่งออกทุเรียนสดให้ได้เหมือนอย่างไทย

นายแซม ซิน ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาS&F Produce Group ในฮ่องกงซึ่งนำเข้าทุเรียนจากไทยเผยว่า ในแง่ของรายได้ การส่งออกทุเรียนไทยมาจีนปี 2566 โดยรวมยังคงเพิ่มขึ้น เนื่องจากตลาดในเมืองขนาดกลางเริ่มเติบโตเต็มที่

“ซัพพลายมีเท่าไหร่ก็ไม่เคยพอสำหรับประเทศจีน ตอนนี้ตลาดในเมืองเทียร์ 1 และเทียร์ 2 ค่อนข้างพัฒนาแล้ว แต่เทียร์ 3, 4 และ 5 ยังไม่พัฒนา”