มหิดล เตรียมพัฒนา ‘AI ควบคุมคุณภาพอาหาร’ ที่ได้รับผลกระทบจากโลกร้อน

มหิดล เตรียมพัฒนา ‘AI ควบคุมคุณภาพอาหาร’ ที่ได้รับผลกระทบจากโลกร้อน

ม.มหิดล เตรียมขยายผลเทคโนโลยี AI ผสมผสาน ’ตา-จมูก-ลิ้น’ ควบคุมคุณภาพอาหารและรสชาติของวัตถุดิบ ที่อาจเปลี่ยนไปเพราะสภาวะโลกร้อน

ทุกปีในประเทศช่วงหน้าแล้ง "ราคามะนาว" ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของอาหารไทย จะต้องเพิ่มสูงขึ้น จนคนต้องเปลี่ยนสูตรไปใช้วัตถุดิบอื่นทดแทน แต่ไม่สามารถรักษารสชาติดั้งเดิมอันเป็นเอกลักษณ์

หรือในต่างประเทศที่ต้องประสบปัญหาจากภาวะโลกร้อน จนทำให้ "ซอสพริก" สูตรไทยที่ดังไปไกลทั่วโลก ต้องมีราคาสูงถึงหลักพันต่อขวด เนื่องจากขาดวัตถุดิบสำคัญทางการเกษตร

ผศ.ดร.ธีรเกียรติ์ เกิดเจริญ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล อาจารย์นักเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัยมหิดลที่มีผลงานตีพิมพ์และอ้างอิงสูงที่สุดใน Top2% ของโลกจากการจัดอันดับโดยมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประจำปี 2566 เตรียมพัฒนาเทคโนโลยีควบคุมคุณภาพอาหาร สู้ปรากฏการณ์ภาวะโลกร้อนด้วย AI

จากตัวอย่างงานวิจัยที่ผ่านมาซึ่งได้ริเริ่มและเห็นผลแล้ว คือ การใช้เทคโนโลยีจมูก AI คัดแยกมะพร้าวน้ำหอมส่งออกของไทย โดยสามารถควบคุมคุณภาพของรสชาติน้ำมะพร้าวน้ำหอมของไทยให้ได้ตรงตามมาตรฐาน

อีกทั้งป้องกันกลโกงจากผู้ผลิตในการปลอมปนโดยเติมน้ำตาล หรือสารให้ความหวาน ซึ่งจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีภาวะน้ำตาลเกิน จนอาจกลายเป็นโรคเบาหวานในผู้บริโภค ด้วยเครื่องมือตรวจสอบทั้งในระดับโรงงาน และหน้างาน

มหิดล เตรียมพัฒนา ‘AI ควบคุมคุณภาพอาหาร’ ที่ได้รับผลกระทบจากโลกร้อน

ก้าวต่อไปจะพัฒนาเทคโนโลยี AI ผสมผสาน "ตา-จมูก-ลิ้น" ที่คาดว่าภายใน 5 ปีข้างหน้า ทั้งซัพพลายเชน ตั้งแต่ฟาร์ม จนถึงโต๊ะอาหาร จะทำให้ผู้ผลิต และผู้บริโภคมั่นใจได้ถึงคุณภาพอาหารว่าจะยังคงให้สัมผัสที่คงเดิม

โดยสามารถเชื่อมโยงไปถึงการให้ AI คอยดูแลคุณภาพชีวิต ในฐานะ "ผู้ช่วยสุขภาพ" ให้ข้อมูลประกอบการเลือกรับประทานอาหารอย่างเหมาะสมได้อีกด้วย

ทั้งนี้ มองว่าการนำเทคโนโลยี AI มาช่วยปฏิวัติอุตสาหกรรมอาหาร จะช่วยเพิ่มมูลค่าได้มากกว่าการมุ่งเพียงทำตลาดส่งออก "ส่วนประกอบอาหาร" (Food Ingredients) เช่นปัจจุบัน จึงอยากขอส่งไม้ให้นวัตกรรุ่นใหม่มาช่วยกันทำให้อุตสาหกรรมอาหารไทยในวันข้างหน้าไปไกลมากกว่าในวันนี้