นักวิทย์เตือน ภาวะโลกร้อนทำให้เบียร์ยุโรปมีราคาสูงขึ้นแถมรสชาติแย่ลง

นักวิทย์เตือน ภาวะโลกร้อนทำให้เบียร์ยุโรปมีราคาสูงขึ้นแถมรสชาติแย่ลง

วิกฤติสภาพภูมิอากาศอาจทำให้เบียร์ยุโรปราคาสูงขึ้นและรสชาติแย่ลง ด้านผู้เชี่ยวชาญชี้ ผลผลิตและคุณภาพของ ฮ็อปส์ (Hops) จะลดลงต่อไปภายในปี 2050 หากเกษตรกรไม่ปรับตัวเข้ากับอุณหภูมิที่สูงขึ้น

สภาวะโลกรวน (Climate Change) เกิดจากอุณภูมิที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วส่งผลกระทบกับหลายอุตสาหกรรม และล่าสุด วงการ “เบียร์” ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน เพราะปริมาณและคุณภาพของพืช “ฮ็อปส์ (Hops)” ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในเบียร์ส่วนใหญ่ มีผลผลิตที่ต่ำลง เนื่องจากโลกที่ร้อนขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้เบียร์อาจมีราคาแพงขึ้น ผู้ประกอบการเบียร์จะต้องปรับตัวรักษาฐานผลิตเบียร์ของตนเอง

Miroslav Trnka นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัยการเปลี่ยนแปลงระดับโลกของ Czech Academy of Sciences คาดการณ์ว่า ผลผลิตของฮ็อปส์ที่ปลูกในภูมิภาคยุโรปจะลดลง 4-18% ภายในปี 2050 หากเกษตรกรไม่ปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศที่ร้อนและแห้ง ในขณะที่ปริมาณกรดอัลฟ่าในฮ็อปส์ซึ่งทำให้เบียร์มีรสชาติและกลิ่นเฉพาะตัวจะลดลง 20-31% 

“นักดื่มเบียร์จะได้เห็นผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคา และรสชาติคุณภาพของเบียร์” Miroslav Trnka กล่าวในวารสาร Nature Communications 

จากงานวิจัย มีการเปรียบเทียบผลผลิตของฮ็อปส์โดยเฉลี่ยต่อปี ในช่วงปี 1971-1994 และ 1995-2018 พบว่า ประเทศสโลวีเนียมีการผลิตลดลงอยู่ที่ 0.13-0.27 ตันต่อเฮกตาร์ (19.4%) ขณะที่ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นผู้ผลิตฮ็อปส์รายใหญ่เป็นอันดับสองของโลก เฉลี่ยลดลง 19.1%

เบียร์คือเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมมากเป็นอันดับสามของโลกรองจากน้ำและชา สำหรับวิธีการผลิตเบียร์คือ การหมักเมล็ดมอลต์ เช่น ข้าวบาร์เลย์กับยีสต์ โดยปกติจะปรุงแต่งรสชาติด้วยฮอปส์ที่มีกลิ่นหอมและรสชาติเข้มข้น ที่ส่วนใหญ่ปลูกในเขตละติจูดกลางซึ่งไวต่อการเปลี่ยนแปลงของแสง ความร้อน และน้ำ

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ฮ็อปส์เป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น เนื่องจากกระแสการผลิตคราฟต์เบียร์ที่มีรสชาติเข้มข้นนั้นมีมากขึ้น หากแต่การศึกษาพบว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้โลกร้อนขึ้นเรื่อยๆ กำลังทำให้พืชชนิดนี้ตกอยู่ในความเสี่ยง

อ้างอิง: theguardian