“ยานยนต์ไร้คนขับ”  ประเด็นกฎหมายที่ต้องพิจารณา

“ยานยนต์ไร้คนขับ”  ประเด็นกฎหมายที่ต้องพิจารณา

เทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับเป็นเทคโนโลยีที่คนทั้งโลกเฝ้ารอ โดยมีบริษัทยักษ์ใหญ่ ทั้ง Apple Google Sony Tesla และ Toyota ต่างกำลังแข่งขันกันพัฒนาระบบ

นอกจากความสะดวกสบายของผู้ใช้ยานยนต์ไร้คนขับแล้ว การใช้ยานยนต์ไร้คนขับอย่างแพร่หลายยังเป็นที่คาดหมายว่า จะช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้อย่างมากอีกด้วย เนื่องจากการศึกษาของหลายสถาบัน อุบัติเหตุบนท้องถนนประมาณร้อยละ 90 มีสาเหตุมาจากคนขับ

 

นอกจากนี้ หลาย ๆ ประเทศ โดยเฉพาะที่เข้าสู่สังคมสูงวัยยังคาดหมายว่า ยานยนต์ไร้คนขับจะเป็นเทคโนโลยีที่จะช่วยแก้ปัญหาการขนส่งสาธารณะอีกด้วย

ตัวอย่างเช่น สิงคโปร์กำลังพัฒนายานยนต์ไร้คนขับ เพื่อเตรียมใช้สำหรับการขนส่งสาธารณะในภาพรวม ในปัจจุบันมีการทดลองให้บริการแล้วที่ Garden by the Bay

ส่วนในประเทศญี่ปุ่น จังหวัดฟุคุอิก็ให้บริการยานยนต์ไร้คนขับ ระดับ 4 (ระดับที่คนขับไม่จำเป็นต้องทำการขับขี่ยานยนต์) เป็นครั้งแรกของประเทศ

รถยนต์ไม่ต้องมีคนขับหรือบทบาทของคนขับนั้นน้อยลง เนื่องจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี คำถามที่ตามมาคือ หากเกิดอุบัติเหตุใครควรเป็นผู้รับผิดชอบ?

หากดูเรื่องของอุบัติเหตุบนท้องถนนแบบภาพรวม ระบบการทำประกันภัยภาคบังคับที่ให้เจ้าของรถทุกคนรับผิดชอบค่าเบี้ยประกันสำหรับประกันภัยภาคบังคับจะยังเหมาะสมหรือไม่?

ระบบการทำประกันภัยภาคบังคับ ที่ให้เจ้าของรถทุกคนรับผิดชอบค่าเบี้ยประกัน เป็นระบบที่มีเบื้องหลังส่วนหนึ่งมาจากสาเหตุที่ว่า

อุบัติเหตุบนท้องถนนนั้นเกิดจากคนขับเป็นสาเหตุหลัก จึงควรกระจายความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดจากอุบัติเหตุบนท้องถนนระหว่างกลุ่มเจ้าของรถด้วยกันเอง ซึ่งโดยทั่วไปกลุ่มเจ้าของรถเป็นกลุ่มเดียวกับคนขับ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของอุบัติเหตุบนท้องถนน

ดังนั้น หากโดยภาพรวมแล้ว อุบัติเหตุบนท้องถนนมีสัดส่วนที่เกิดจากคนขับหรือเจ้าของรถน้อยลง การที่จะกระจายความเสี่ยงของอุบัติเหตุบนท้องถนนให้กลุ่มเจ้าของรถรับผิดชอบในรูปแบบของการทำประกันภัยภาคบังคับ ก็อาจจะไม่เหมาะสมอีกต่อไป

ในระยะใกล้และระยะกลาง ซึ่งเป็นระยะเปลี่ยนถ่ายไปสู่สังคมที่ใช้ยานยนต์ไร้คนขับอย่างเต็มตัว บนท้องถนนน่าจะมียานยนต์ไร้คนขับหลายระดับวิ่งอยู่ปะปนกัน หลายสำนักความคิดมองว่าช่วงระยะนี้จะเป็นช่วงที่มีความท้าทายในการปรับใช้และแก้ไขกฎหมายมากเป็นพิเศษ

“ยานยนต์ไร้คนขับ”  ประเด็นกฎหมายที่ต้องพิจารณา

ในช่วงปีที่ผ่านมา ในต่างประเทศก็ได้แก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับยานยนต์ไร้คนขับ ตัวอย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่นกำลังแก้กฎหมายเพื่อรองรับการใช้งานยานยนต์ไร้คนขับ ระดับ 4 ที่มีข้อบัญญัติ

เช่น กำหนดให้ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะระดับจังหวัดก่อนที่ออกวิ่งบนท้องถนน การกำหนดให้ต้องมีผู้เฝ้าติดตามจากระยะไกล คณะกรรมการฯ สามารถเพิกถอนหรือสั่งพักใบอนุญาตได้ หากพบการทำผิดกฎหมายนี้

ประเทศญี่ปุ่นมีแผนจะเริ่มใช้ยานยนต์ไร้คนขับ ระดับ 4 เป็นรถขนส่งสาธารณะประจำทางในบางพื้นที่ที่ระบบขนส่งสาธารณะยังไม่มีความซับซ้อน ก่อนที่จะขยายการใช้งานไปทั่วประเทศ

นอกจากญี่ปุ่น หลายประเทศก็ได้ออกกฎหมายมาเพื่อรองรับการใช้ยานยนต์ไร้คนขับในหลาย ๆ ด้าน ล่าสุด สหราชอาณาจักรก็เสนอร่างกฎหมาย Automated Vehicles (AV) Bill เข้าสู่รัฐสภาเมื่อวันที่ 9 พ.ย.

“ยานยนต์ไร้คนขับ”  ประเด็นกฎหมายที่ต้องพิจารณา

โดยมีข้อบัญญัติเรื่องความรับผิดของผู้ใช้งาน, ระดับความปลอดภัยของระบบขับขี่อัตโนมัติ, การโฆษณาและเรื่องการขออนุญาตให้บริการขนส่งแบบไร้คนขับ เป็นต้น

ในส่วนของประเทศไทยเอง ก็คงใกล้ถึงเวลาที่จะต้องพิจารณาแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไร้คนขับ และ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 เพื่อเตรียมความพร้อมแล้วเหมือนกัน

คงต้องรอดูกันต่อไปว่า ยานยนต์ไร้คนขับจะทำให้เกิดการปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับการใช้รถใช้ถนน และระบบประกันภัยรถยนต์มากน้อยแค่ไหนในอนาคต.