เมืองไทยพร้อมหรือไม่ ‘รถคิดเอง - วิ่งเอง’ | อภิวัฒน์ รัตนวราหะ

เมืองไทยพร้อมหรือไม่ ‘รถคิดเอง - วิ่งเอง’ | อภิวัฒน์ รัตนวราหะ

ชีวิตการเดินทางของคนเมืองจำนวนมากได้ปรับเปลี่ยนไปมากในปัจจุบัน เนื่องจากการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลด้านการขนส่งเดินทางโดยเฉพาะการใช้แอปพลิเคชันเรียกรถ

หากมองไปในอนาคตข้างหน้า ตัวเปลี่ยนเกมสำคัญสำหรับระบบการสัญจรอีกระลอกหนึ่งคือ ยานยนต์อัตโนมัติหรือยานยนต์ไร้คนขับ ซึ่งโดยมากหมายถึงรถยนต์ที่มีแต่คนนั่งไม่มีคนขับ และมีระบบปฏิบัติการที่ควบคุมและตัดสินใจโดยปัญญาประดิษฐ์

การพัฒนายานยนต์อัตโนมัตินี้ได้ทำให้เกิดคำถามเชิงจริยธรรมและเชิงกฎหมายที่น่าสนใจ และมีการอภิปรายกันมาก หนึ่งในประเด็นสำคัญในเรื่องนี้คือ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบถ้ายานยนต์ไร้คนขับประสบอุบัติเหตุ

ในด้านความปลอดภัย เป็นที่คาดหวังกันว่ายานยนต์อัตโนมัติ ที่วิ่งด้วยปัญญาประดิษฐ์จะมีความแม่นยำและความสม่ำเสมอในการขับมากกว่ามนุษย์ ด้วยเทคโนโลยีเซนเซอร์และอุปกรณ์อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่งหรือไอโอทีที่ได้พัฒนาขึ้นมาก 

เมืองไทยพร้อมหรือไม่ ‘รถคิดเอง - วิ่งเอง’ | อภิวัฒน์ รัตนวราหะ

อีกทั้งเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ก็มีความฉลาดมากขึ้น ตามปริมาณข้อมูลที่สะสมได้อย่างมหาศาลและมากขึ้นเรื่อยๆ ในเชิงเทคนิค จึงเป็นไปได้ว่ายานยนต์ไร้คนขับจะสามารถทำให้การเดินทางด้วยรถยนต์ และการจราจรบนท้องถนนมีความปลอดภัยมากขึ้น 

ประเด็นสำคัญจึงไม่ได้อยู่ที่ว่า เทคโนโลยีจะพัฒนาได้ดีพอจนสามารถเชื่อถือได้และมีความปลอดภัยมากพอ แต่อยู่ที่วิธีการพัฒนาและ “สอน” อัลกอริทึมให้เรียนรู้ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง และตัดสินใจในด้านใดด้านหนึ่งที่มีนัยสำคัญต่อชีวิตมนุษย์

โดยปกติแล้ว เมื่อมนุษย์จะประสบกับสถานการณ์ที่นำไปสู่อุบัติเหตุ การตัดสินใจหรือไม่ตัดสินใจทำอะไรอย่างหนึ่งมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและเป็นไปตามสัญชาตญาณ

แต่ในกรณีรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัตินั้น ปัญญาประดิษฐ์ไม่ได้อยู่ดีๆ ตัดสินใจได้ตามสัญชาตญาณ แต่ต้องดำเนินการตามอัลกอริทึมที่มีโปรแกรมกำหนดไว้ก่อนและได้รับการฝึกฝนมาให้เหมาะสมกับแต่ละสถานการณ์ 

คำถามคือ หากเป็นสถานการณ์ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเสียหายได้ อัลกอริทึมที่กำหนดการตัดสินใจไว้ล่วงหน้านั้นควรจะต้องรักษาชีวิตคนกลุ่มไหนและอย่างไร

คำถามนี้เป็นเรื่องใหญ่สำหรับบริษัทพัฒนารถยนต์อัตโนมัติ โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าใครควรมีสิทธิตัดสินใจในเรื่องนี้ รัฐบาลควรเข้ามากำหนดเรื่องนี้หรือไม่ อย่างไร และด้วยเกณฑ์อะไร 

เมืองไทยพร้อมหรือไม่ ‘รถคิดเอง - วิ่งเอง’ | อภิวัฒน์ รัตนวราหะ

ในเรื่องนี้ นักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์หรือเอ็มไอที ได้สำรวจความคิดเห็นของคนทั่วโลกกว่า 2.3 ล้านคน ผ่านการเล่นเกมบนอินเทอร์เน็ตที่จำลองสถานการณ์ต่างๆ กว่า 40 ล้านสถานการณ์ เพื่อตัดสินใจว่าใครควรมีชีวิตอยู่ต่อและใครควรเสียชีวิตไปในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไร้คนขับที่เกิดเสียและควบคุมไม่ได้ 

คำถามนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของปัญหาในทางปรัชญา ศีลธรรมและจริยธรรม ที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า ปัญหารถราง (trolley problem) ซึ่งไม่สามารถหาคำตอบที่ตายตัวได้ว่าคำตอบใดถูกและคำตอบใดผิด

การหาคำตอบนี้ใช้สถานการณ์จำลอง เริ่มจากภาพการ์ตูนที่แสดงสถานการณ์ ที่รถยนต์ไร้คนขับกำลังวิ่งอย่างรวดเร็วไปยังทางม้าลายที่มีคนเดินเท้ากำลังจะข้ามถนน ผู้เล่นเกมสามารถตัดสินใจได้ว่าจะให้รถวิ่งหลบหรือวิ่งชนคนข้ามถนน

ในบางสถานการณ์คือ มีกำแพงคอนกรีตกั้นถนน ที่ถ้าพุ่งชนแล้วจะทำให้คนในรถต้องบาดเจ็บหรือเสียชีวิต 

ประเด็นทางเลือกพื้นฐานของการทดลองนี้คือ ผู้ตอบคำถามจะเลือกให้ใครเสียชีวิตในสถานการณ์ดังกล่าว โดยแบ่งกลุ่มคนในสถานการณ์สมมติตามจำนวนคน อายุ เพศและคุณลักษณะอื่นๆ เช่น มีสัตว์เลี้ยงอยู่บนรถ ฯลฯ

ผลการสำรวจได้ผลโดยรวมว่า คนโดยมากเลือกที่จะรักษาชีวิตมนุษย์มากกว่าสัตว์เลี้ยง ชีวิตคนจำนวนมากมากกว่าชีวิตคนคนเดียว ชีวิตเด็กมากกว่าชีวิตคนแก่

คนเดินข้ามถนนอย่างถูกกฎหมายมากกว่าชีวิตคนเดินข้ามในจุดที่ห้ามข้าม คนที่ถือกระเป๋าเอกสารมากกว่าคนหลังค่อมที่ใส่เสื้อโค้ตเก่าๆ ผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย คนเดินเท้ามากกว่าคนที่นั่งอยู่ในรถ คนวิ่งจ๊อกกิงมากกว่าคนอ้วนเดินช้าๆ

ส่วนคนตอบคำถามที่เป็นคนขับรถมักเลือกที่จะหักรถให้หลบมากเท่าๆ กับปล่อยให้รถวิ่งต่อไปเอง อีกข้อค้นพบหนึ่งที่น่าสนใจคือ คำตอบที่ได้แตกต่างกันออกไประหว่างกลุ่มประชากรและสัญชาติ

ตัวอย่างเช่น คนหนุ่มสาวได้รับความสำคัญมากที่สุดในประเทศละตินอเมริกา แต่น้อยลงมาในยุโรปและอเมริกาเหนือ และน้อยที่สุดในเอเชีย 

เมืองไทยพร้อมหรือไม่ ‘รถคิดเอง - วิ่งเอง’ | อภิวัฒน์ รัตนวราหะ

บริบทด้านเศรษฐกิจก็เป็นปัจจัยที่น่าสนใจ คนในประเทศที่ยากจนกว่ามักมีแนวโน้มน้อยกว่าที่จะเลือกชนคนข้ามถนนในจุดห้ามข้าม คนในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงมีแนวโน้มที่จะไม่ชนคนที่ถือกระเป๋าเอกสาร และคนในประเทศที่มีความเท่าเทียมทางเพศ มักเลือกที่จะรักษาชีวิตผู้หญิงมากกว่า

งานวิจัยก่อนหน้านี้หลายงานค้นพบว่า ในขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามโดยมากให้คำตอบว่า รถยนต์ไร้คนขับควรให้คุณค่ากับคนเดินเท้าเท่ากับคนที่อยู่บนรถ แต่ในกรณีที่ตัวเองต้องซื้อรถก็จะเลือกรถที่ให้ความสำคัญก่อนกับคนที่อยู่บนรถ 

ความลักลั่นและขัดแย้งกันนี้ แสดงถึงทางสองแพร่งทางศีลธรรม ที่สังคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องประสบในการตัดสินใจด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับยานยนต์ไร้คนขับต่อจากนี้ไป กระทรวงด้านการขนส่งของเยอรมนีถึงกับออกนโยบายห้ามการใช้เพศและอายุในการแก้ไขปัญหาทางแพร่งเชิงจริยธรรมดังกล่าว

นอกจากเรื่องทางแพร่งเชิงจริยธรรมแล้ว ยังมีประเด็นเชิงนโยบายที่ต้องตัดสินใจอีก เช่น ยังจำเป็นต้องมีใบขับขี่รถยนต์อยู่อีกหรือไม่ เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ใครควรเป็นคนรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งในทางแพ่งและทางอาญา ระบบประกันภัยจะต้องเปลี่ยนไปอย่างไร กฎหมายรถยนต์และกฎหมายการจราจรต้องเปลี่ยนไปอย่างไรเพื่อรองรับยานยนต์อัตโนมัติ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องความปลอดภัยและความมั่นคงจากการถูกแฮ็กหรือเจาะระบบโดยผู้ไม่หวังดีที่สามารถควบคุมรถอัตโนมัติได้จากที่อื่น ซึ่งได้เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบันกับรถยนต์ทั่วไปที่เชื่อมต่อกับระบบต่างๆ ผ่านมือถือและอุปกรณ์ไอโอทีต่างๆ แฮกเกอร์สามารถขโมยหรือทำอะไรกับรถอัตโนมัติได้ทุกเมื่อ ทั้งเวลาที่มีคนนั่งอยู่หรือตอนที่จอดทิ้งไว้ตอนกลางคืน

คำถามในเชิงจริยธรรมและเชิงนโยบายในส่วนนี้คือ การพัฒนายานยนต์อัตโนมัติในภาพรวมได้ทำให้ชีวิตมนุษย์มีความปลอดภัยและมั่นคงมากขึ้นจริงหรือไม่ หรือเพียงลดความเสี่ยงในด้านหนึ่งแต่ไปเพิ่มความเสี่ยงในอีกด้านหนึ่งแทน

แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของยานยนต์อัตโนมัติ ถือเป็นสัญญาณที่ต้องจับตามองไว้อย่างใกล้ชิด จึงควรมีการวิจัยและอภิปรายประเด็นที่คาดว่าจะเกิดขึ้นไว้ก่อน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้

ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดหนังสือ เรื่อง นคราภิวัฒน์ : ทางมา ทางไป ทางออก ที่ www.khonthai4-0.net