ถ่ายทอดสด ดาวเทียม THEOS-2 ขึ้นสู่อวกาศ ช่องเนชั่นทีวี 22

ถ่ายทอดสด ดาวเทียม THEOS-2 ขึ้นสู่อวกาศ ช่องเนชั่นทีวี 22

เนชั่นทีวี 22 ถ่ายทอดสดบรรยากาศการปล่อยดาวเทียมสำรวจโลก ธีออส-2 (THEOS-2) ขึ้นสู่อวกาศ วันเสาร์ 7 ต.ค. 66 เวลา 08.36 น. (ตามเวลาประเทศไทย) จากท่าอวกาศยานเฟรนซ์เกียนา ฝรั่งเศส

7 ตุลาคม 2566 จะเป็นวันที่น่าจดจำกับภารกิจด้านกิจการอวกาศอีกวันหนึ่ง ในการนำส่งดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2 ขึ้นสู่วงโคจร เวลา 8.36 น. ตามเวลาในประเทศไทย จากท่าอวกาศยานเฟรนช์เกียนา  (Guiana Space Center) โดยช่องเนชั่นทีวี 22 ร่วมถ่ายทอดสด

GISTDA จัดกิจกรรม LIVE สดตั้งแต่ 7.00 น.จากสถานีดาวเทียม THEOS อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี พูดคุยกับวิศวกรดาวเทียมทั้งจากไทยและฝรั่งเศส สร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องเทคโนโลยีการปล่อยดาวเทียมสู่อวกาศ ทำความรู้จักท่าอากาศยานเฟรนช์เกียนา ประวัติจรวดนำส่ง VEGA และรายละเอียดทุกแง่มุมของ THEOS-2

ติดตามภาพการถ่ายทอด ตั้งแต่การจุดระเบิดปล่อยจรวดนำส่งดาวเทียม จนถึงภาพจรวดหายไปจากสายตา จากนั้นทางท่าอากาศยานเฟรนช์เกียนาจะนำเสนอภาพกราฟฟิกเสมือนจริง ให้เห็นการปล่อยจรวดบริเวณส่วนหัว ซึ่งมี Payload บรรจุดาวเทียมอยู่ในส่วนหัวนี้ 

ทั้งนี้ น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับนายปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA และคณะกรรมการบริหาร GISTDA ในฐานะผู้แทนของรัฐบาลที่กำกับดูแลหน่วยงานกิจการอวกาศของประเทศและคนไทย จะร่วมเดินทางไปปล่อยดาวเทียมธีออส-2 ในครั้งนี้ด้วย

ธีออส-2 เป็นดาวเทียมสำรวจโลก หรือ Earth observation satellite มีศักยภาพถ่ายภาพและผลิตภาพสีรายละเอียดสูงมากในระดับ 50 เซนติเมตร สามารถถ่ายภาพและส่งข้อมูลกลับมายังสถานีภาคพื้นดินได้ไม่ต่ำกว่า 74,000 ตารางกิโลเมตรต่อวัน

วัสดุหลัก 3 ประเภทที่ใช้ทำดาวเทียม คือ อะลูมิเนียม (Aluminium) เกรดพิเศษ แผ่นผนังรังผึ้งคาร์บอนไฟเบอร์ที่เน้นให้มีน้ำหนักเบา และแข็งแรงเพียงพอต่อการใช้งาน ซึ่งดาวเทียมดังกล่าวสามารถสร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทย 6 ด้าน ดังต่อไปนี้

ถ่ายทอดสด ดาวเทียม THEOS-2 ขึ้นสู่อวกาศ ช่องเนชั่นทีวี 22

1. การจัดทำแผนที่

เนื่องจากดาวเทียม ธีออส-2 สามารถบันทึกภาพและความละเอียดสูงถึง 50 เซนติเมตรต่อ pixel และพัฒนาให้เป็นข้อมูลสามมิติได้ จึงสามารถนำไปผลิตแผนที่มาตราส่วนใหญ่ได้ถึง มาตราส่วน 1 : 1000

2. การจัดการเกษตรและอาหาร

ธีออส-2 สามารถใช้ในการวิเคราะห์ และประเมินพื้นที่เพาะปลูก การจำแนกประเภทพืชเกษตร สุขภาพพืช และการคาดการณ์ผลผลิตที่จะเกิดขึ้น คุณสมบัติเหล่านี้จะนำไปสู่การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรที่ครอบคลุมพืชเศรษฐกิจหลักอย่างน้อย 13 ชนิด

ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ตลอดจนการคาดการณ์ผลผลิตล่วงหน้าที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้แก่ครอบครัวเกษตรกร

3. การบริหารจัดการน้ำแบบองค์รวม

ข้อมูลจากดาวเทียม ธีออส-2 นั้นสามารถใช้ในการติดตามการเปลี่ยนแปลงของแหล่งน้ำและประเภทของแหล่งน้ำทั่วประเทศ ใช้ในการตรวจสอบข้อมูลของแหล่งน้ำ การคำนวณปริมาณน้ำของแหล่งน้ำต้นทุน และด้วยที่ธีออส-2 เป็นดาวเทียมที่มีความละเอียด 50 เซนติเมตร

จึงสามารถตรวจจับแหล่งน้ำที่มีวัชพืชหนาแน่น การบริหารจัดการน้ำทุ่งและการบริหารจัดการน้ำภาคอุตสาหกรรม

4. การจัดการภัยธรรมชาติ

ข้อมูลที่ได้จะถูกนำไปใช้ในการวางแผน ป้องกัน แจ้งเตือน อพยพ และบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติได้อย่างทันท่วงที หรือเมื่อสถานการณ์เกิดขึ้นแล้ว ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากกับการฟื้นฟูความเสียหายในเชิงพื้นที่ และการเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

5. การจัดการเมือง

โดยเฉพาะแนวขอบเขตที่ดินและขอบเขตชายแดน ข้อมูลจากดาวเทียมจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานที่สําคัญของประเทศ อาทิ โครงการบริหารจัดการน้ำ โครงการเครือข่ายรถไฟความเร็วสูง การเชื่อมโยงเขตอุตสาหกรรมเดิมเข้ากับโครงสร้างพื้นฐาน

ซึ่งจะเป็นการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงระบบบริการสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสาธารณสุข การศึกษา การเดินทาง และแหล่งทรัพยากรน้ำ

6. การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ

ข้อมูลจากดาวเทียม ธีออส-2 ทำให้เรามองเห็นสภาพของปัญหาในมุมกว้าง เป็นข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้ ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ การบริหารจัดการป่าชุมชนและใช้ติดตามการดูดซับและปลดปล่อยคาร์บอน โดยจะนำข้อมูลจากดาวเทียมมาใช้ในกระบวนการตรวจวัดและประเมินคาร์บอนที่ได้มาตรฐาน รวดเร็วและแม่นยำ

ขณะที่มุมมองภาคเอกชน กรินทร์ บุญเลิศวณิชย์ รองกรรมการผู้จัดการ ดูแลสายงาน Corporate stategy and Innovation ธนาคารกสิกรไทย จำกัด มหาชน กล่าวอ้างอิงรายงานจาก Bloomberg ระบุถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมการบิน (space economy) ปีที่แล้วอยู่ที่ 5.6 แสนล้านดอลลาร์

ในส่วนของภาพถ่ายจากดาวเทียมมีการซื้อขายอยู่ที่ 5 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเชื่อว่าอีก 5 ปีข้างหน้าจะสามารถเติบโตได้ไปอีกประมาณเท่าตัว หรือคิดเป็น 8%-10% ต่อปี ดังนั้น ทิศทางของอุตสาหกรรมอวกาศจะมีขนาดใหญ่มากขึ้น

"ธนาคารมีกลุ่มลูกค้าบางส่วนในอุตสาหกรรมการบิน ส่วนใหญ่แล้วจะอยู่แถว EEC โดยเมืองไทยมีผู้ผลิตและผู้ประกอบการด้านอวกาศประมาณ 1 พันรายซึ่งได้ทำงานร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) จึงมองว่านี่เป็นโอกาสทางธุรกิจ

เพราะในปัจจุบันมีหลายสิ่งใกล้ตัวเราที่เกิดจากอุตสาหกรรมอวกาศ ผมเชื่อว่าในไทยหากมีการพัฒนาเรื่องวัสดุศาสตร์มากขึ้นก็จะก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจมากมาย

สำหรับภาคธนาคาร การมีข้อมูลจากดาวเทียม เช่น ข้อมูลภัยพิบัติ สามารถนำไปช่วยเหลือลูกค้าที่ต้องการกู้เกินได้ตรงจุด ว่าส่วนไหนที่ประสบกับภัยพิบัติจริงๆ อย่างเช่น การปรับโครงสร้างของหนี้

ช่วยเรื่องของการประเมินทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ก็สามารถประเมินได้อย่างเหมาะสม ทำให้มีภาพที่ชัดเจนขึ้น สามารถนำไปทำเป็นรายงานเพื่อประเมินความเสี่ยงทั้งหมดในแต่ละอุตสาหกรรม เช่น ถ้าภูมิอากาศเปลี่ยนไปจะทำให้บางอุตสาหกรรมนั้นมีความเสี่ยงสูงขึ้นหรือน้อยลงอย่างไร

นอกจากนี้ ก็ยังมีส่วนของข้อมูล ESG ที่มองเห็นภาพชัดเจนขึ้น เช่น โครงการปลูกป่า นอกจากจะได้ไม้ ได้ป่า ยังสามารถได้คาร์บอนเครดิต เพราะหากเราปลูกป่าหลักแสนหรือหลักหมื่นไร่ก็ต้องมีการมอนิเตอร์ด้วยเทคโนโลยีอวกาศ เพื่อดูสภาพแวดล้อมทั้งหมด อาทิ ป่ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร คาร์บอนเครดิตยังได้เท่าเดิมไหม ซึ่งเทคโนโลยีจะสามาระช่วยลดต้นทุนและลดภาระหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ได้ครบวงจรมากยิ่งขึ้น"

สอดคล้องกับ พิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธา ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาความรู้ด้านความยั่งยืน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่แสดงทัศนะในประเด็นความยั่งยืนไว้ว่า หัวใจหลักสำคัญ คือ องค์ประกอบเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่แม่นยำ รู้จริง วัดผลได้ และละเอียดอ่อนขึ้น

ดังฟังก์ชันของธีออส-2 ที่ถูกปรับปรุงให้ถ่ายภาพได้ใกล้มากยิ่งขึ้น เพื่อนำไปวิเคราะห์และประเมินกับสถานการณ์ต่างๆ ภายในประเทศหรือรอบๆ ประเทศได้

“ประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ประมาณ 55% ภายใน 15 ปีข้างหน้า นั่นหมายความว่าเราจะต้องปลูกป่าราว 5 ล้านไร่ไปอีก 15 ปี ซึ่งดาวเทียมจะเข้ามาช่วยเรื่องของการมอนิเตอร์ การจัดการพื้นที่ป่า การมองเห็นภาพรวมและรายละเอียดเชิงลึกว่าป่าตรงไหนหายไป

เมื่อเกิดเหตุการณ์ เช่น ไฟไหม้ป่า ก็สามารถมองเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น และสามารถวิเคราะห์รายเอียดลงไปเชิงลึกได้อีก เช่น จะมีความเสี่ยงอะไรเกิดขึ้นอีกไหม หรือมันสามารถฟื้นฟูกลับมาได้อีกไหม นี่จึงเป็นประโยชน์อย่างมาก”