ลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพด้วย "นวัตกรรม"

ลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพด้วย "นวัตกรรม"

ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนไทยเฉลี่ยต่อหัวทะยานสูงขึ้นกว่า 3 เท่าในระยะเวลาเพียง 15 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2548-2563 ซึ่งเพิ่มสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ และทำให้ภาครัฐและผู้ป่วยมีภาระมากขึ้น

การเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพดังกล่าว ส่วนหนึ่งสามารถอธิบายได้ด้วยหลักการทางเศรษฐศาสตร์ว่าด้วย “โรคต้นทุน” หรือ “Cost Disease” ของศาสตราจารย์วิลเลียม บาวมอล (William J. Baumol) ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังชาวอเมริกันที่เพิ่งเสียชีวิตไปไม่กี่ปีก่อน 

Baumol แบ่งบริการทางการแพทย์เป็นสองประเภท ได้แก่ ประเภทที่ใช้ทุนเข้มข้นในการผลิต (capital intensive) ซึ่งราคาจะลดลงตามพัฒนาการทางเทคโนโลยีและความแพร่หลาย และ ประเภทที่ใช้แรงงานเข้มข้นในการผลิต (labour intensive) ซึ่งราคามีแนวโน้มสูงขึ้น จากความยากในการเพิ่มผลิตภาพในการทำงานของบุคลากรด้านการแพทย์ 

เช่น ต่อให้แพทย์-พยาบาลมีประสบการณ์มากขึ้น ก็คงไม่สามารถฉีดยาได้เร็วขึ้นมากนัก บริการทางการแพทย์ส่วนใหญ่จัดอยู่ในประเภทที่สอง คือต้องใช้บุคลากรในการให้บริการมาก

ทำให้มีแนวโน้มที่จะมีต้นทุนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นภาระต่อประเทศในระยะยาวเมื่อประเทศไทยกลายเป็นสังคมสูงอายุแล้วเช่นในปัจจุบัน 

“นวัตกรรม” ทั้งนวัตกรรมกระบวนการและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์คือ กุญแจสำคัญที่จะช่วยไขปัญหาการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ 

นวัตกรรมกระบวนการ (Process Innovation) คือการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้ในการทำงานขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อเพิ่มผลิตภาพ   

ลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพด้วย \"นวัตกรรม\"

ยกตัวอย่างเช่น การนำแอปพลิเคชัน LINE ที่ใช้กันทั่วไปเข้ามาใช้ในการแพทย์ทางไกล (telemedicine) ของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สามารถเพิ่มผลิตภาพในการตรวจของแพทย์ได้มากถึง 40%-60%

ซึ่งหมายความว่า แพทย์ตรวจผู้ป่วยได้มากขึ้นในเวลาเท่าเดิม ที่สำคัญผู้ป่วยจำนวนหนึ่งก็ไม่ต้องเสียเวลาและเสียเงินเดินทางมาที่โรงพยาบาล และลดความเสี่ยงในการติดโรคระบาดต่าง ๆ จากโรงพยาบาลที่แออัดด้วย

ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่า นวัตกรรมกระบวนการเกิดขึ้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีซับซ้อน เพราะอาจเอาเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วมาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม 

นอกจากนวัตกรรมกระบวนการแล้ว นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ (Product Innovation) ยังอาจช่วยลดต้นทุนของบริการทางสุขภาพ เช่น ในปัจจุบันเรามีรากฟันเทียมที่พัฒนาและผลิตในประเทศราคาซี่ละ 25,000-28,000 บาท ในขณะที่รากฟันเทียมจากต่างประเทศที่มีคุณภาพใกล้เคียงกันมีราคาสูงถึงซี่ละ 80,000 บาท

แม้บางครั้งนวัตกรรมทางสุขภาพอาจทำให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มสูงขึ้นแต่ถ้ามีการใช้นวัตกรรมนั้นอย่างกว้างขวางพอก็จะเกิดการประหยัดต่อขนาด (economies of scale) ที่ทำให้ราคาต่อหน่วยลดลง 

โครงการบัญชีนวัตกรรมไทยของภาครัฐ เป็นหนึ่งในกลไกที่สนับสนุนให้หน่วยงานรัฐซื้อสินค้านวัตกรรมของคนไทย รวมถึงนวัตกรรมทางการแพทย์

ด้วยแนวคิดว่าตลาดเครื่องมือแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐมีขนาดใหญ่ ถ้าสามารถขยายการใช้นวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นจนเกิดการประหยัดต่อขนาด คนไทยก็จะสามารถเข้าถึงเข้าถึงเครื่องมือแพทย์และบริการทางสุขภาพได้ในราคาไม่แพง

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ส่วนหนึ่งยังมีความเชื่อว่า สินค้าไทยยังมีคุณภาพไม่ดีนัก สู้สินค้าจากต่างประเทศไม่ได้ โดยเฉพาะในกรณีของเครื่องมือแพทย์ที่มีรายละเอียดซับซ้อน ซึ่งเปรียบเทียบคุณภาพสินค้ากันได้ยาก 

มือเทียมของโครงการ “ไทยฤทธิ์” (Thai Reach) เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าเครื่องมือแพทย์ที่มีราคาถูกกว่าไม่จำเป็นต้องมีคุณภาพด้อยกว่าเสมอไป

ลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพด้วย \"นวัตกรรม\"

ไทยฤทธิ์ผลิตมือเทียมด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติจากแบบพิมพ์แบบโอเพนซอร์ส (open-source) ที่ไม่มีค่าทรัพย์สินทางปัญญา ของเครือข่ายอาสาสมัคร กลุ่ม e-NABLE ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้ผู้พิการก้าวข้ามความต่างโดยไม่แสวงหากำไร จึงมีราคาไม่สูง

นอกจากนี้การใช้วัสดุพลาสติกแทนเหล็กยังทำให้มือเทียมของไทยฤทธิ์มีน้ำหนักเบา และทำให้ผู้ใช้สวมใส่ได้นานขึ้น

โดยสรุป ตัวอย่างต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นว่า นวัตกรรมสามารถเพิ่มผลิตภาพในการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์และทำให้เครื่องมือแพทย์ถูกลง ดังนั้น นวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้จริงในวงกว้าง จึงสามารถช่วยให้ต้นทุนของบริการทางสุขภาพลดลง และทำให้งบประมาณด้านการรักษาพยาบาลของไทยไม่สูงเกินไป 

จึงน่าเสียดายที่ทั้งผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ส่วนหนึ่ง ยังขาดความเชื่อมั่นในสินค้าที่พัฒนาและผลิตในประเทศไทย แม้ว่านวัตกรรมเหล่านั้นจะได้รับการรับรองมาตรฐานสากลแล้วก็ตาม

เช่น รากฟันเทียมของมูลนิธิทันตนวัตกรรมและบริษัท โนเว็ม อินโนเวชั่น จำกัด ได้มาตรฐาน CE Mark ซึ่งแสดงว่ามีคุณภาพสูงในระดับที่สามารถวางขายในสหภาพยุโรปได้

เราจึงควรหันมาเลือกใช้เครื่องมือแพทย์ตามความเหมาะสมด้านราคาและการใช้งาน โดยอิงจากผลการวิจัยหรือมาตรฐานที่เครื่องมือนั้นได้รับ มากกว่าการยึดติดว่าเครื่องมือแพทย์ที่มีคุณภาพดีจะต้องมาจากต่างประเทศเสมอไป

การสนับสนุนเครื่องมือแพทย์ที่ได้มาตรฐานที่ผลิตและคิดค้นในประเทศไทย จะเป็นพลังสำคัญที่ช่วยผลักดันให้คนไทยทั้งประเทศสามารถเข้าถึงบริการทางสุขภาพที่ทั้งมีคุณภาพดีและราคาถูกได้.