ผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม โรดแมปใหม่ ‘เอ็นไอเอ’

ผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม โรดแมปใหม่ ‘เอ็นไอเอ’

เอ็นไอเอ เร่งปั้นไทยสู่ชาตินวัตกรรมผ่านบทบาทใหม่ “ผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม” เดินหน้า 7 ประเด็นเสริมแกร่ง “รัฐ เอกชน เอสเอ็มอี สตาร์ตอัป และโครงสร้างพื้นฐาน” พร้อมกระจายลงทุนสู่ภูมิภาค

ประเทศไทยติดท็อป 30 ประเทศผู้นำด้านนวัตกรรมโลกภายในปี 2573 เป็นโจทย์ท้าทายในช่วง 4 ปีนับจากนี้ของ “กริชผกา บุญเฟื่อง” ผู้อำนวยการคนใหม่ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือเอ็นไอเอ

กับการประกาศพลิกบทบาทหน่วยงานจาก “สะพานเชื่อม” สู่การเป็น “ผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม (Focal Conductor)” และแผนยุทธศาสตร์ “ลด 2 เพิ่ม 3” ผลักดันนวัตกรรมระดับประเทศให้ถึงจุดหมาย

อิงโมเดล Station F ฝรั่งเศส

แผนงานภายในระยะ 1 ปี เธอตั้งเป้าหมายสร้างความก้าวหน้าทางนวัตกรรมไทยทั้งในเชิงมูลค่าและเชิงภาพลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็น การผลักดันร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นให้สำเร็จ การสร้างพื้นที่สนับสนุนสตาร์ตอัปโดยมีโมเดล Station F ของฝรั่งเศสเป็นต้นแบบ

ซึ่งจะเป็นพื้นที่ที่มีการรวมตัวของสตาร์ตอัปและนักลงทุน ครบครันด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก บริษัทที่ปรึกษาการทำธุรกิจ สำนักงานของบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก โปรแกรมการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน 

นอกจากนี้ยังจะสร้างเครือข่ายการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ร่วมกับหน่วยงานภายในกระทรวงการอุดมศึกษาฯ การจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและผลักดันกฎหมายที่ส่งเสริมระบบนวัตกรรมไทยให้เข้มแข็ง

เช่น นโยบายด้านการเงินและภาษีที่สนับสนุนธุรกิจนวัตกรรม IP Tax Redeem หรือนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย การขยายสิทธิประโยชน์ในย่านนวัตกรรมร่วมกับบีโอไอ การเชื่อมโยงฐานข้อมูลนวัตกรรมและสร้างแพลตฟอร์มสำหรับ Innovation Thailand เป็นต้น

“ทุกขั้นตอนของชีวิตล้วนแต่ประกอบขึ้นจาก ”นวัตกรรม“ ทั้งสิ้น เราสัมผัสกับนวัตกรรมโดยไม่รู้ตัวว่าแท้จริงแล้วนวัตกรรมเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราเป็นที่เรียบร้อยแล้ว NIA เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่มีบทบาททั้งในเชิงผู้กำหนดนโยบาย การอำนวยความสะดวกให้ระบบนิเวศนวัตกรรมเอื้อต่อศักยภาพการทำงาน การสร้างมูลค่าทางธุรกิจ รวมทั้งการรังสรรค์นวัตกรรมในกลุ่มผู้ประกอบการ สตาร์ตอัปและภาครัฐ” กริชผกา กล่าว 

ผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม โรดแมปใหม่ ‘เอ็นไอเอ’

ทั้งนี้ เพื่อยกระดับทิศทางการขับเคลื่อนนวัตกรรมของประเทศให้สอดรับกับบริบทโลก NIA จึงได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ภายใต้แนวคิด Create the Dot - Connect the Dot - Value Creation ผ่านกลไก Groom Grant Growth และแนวทาง “2 ลด 3 เพิ่ม” โดย 2 ลด ได้แก่

  1. ลดความเหลื่อมล้ำ เปิดรับแนวคิดใหม่จากสตาร์ตอัปและเอสเอ็มอี
  2. ลดอุปสรรคการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมให้กับทุกภาคส่วน และแก้ไขกฎระเบียบ 

ส่วน 3 เพิ่ม ได้แก่

  1. เพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทั้งจากภาครัฐและเอกชน
  2. เพิ่มจำนวนนวัตกรและผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการจ้างงาน การเพิ่มขึ้นของ GDP และเป็นการสร้างภาพลักษณ์ “ชาตินวัตกรรม”
  3. เพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมให้มีโอกาสขยายตลาด และสร้างแบรนด์นวัตกรรมสัญชาติไทยที่พร้อมแข่งขันกับนวัตกรรมจากต่างประเทศ

7 กลยุทธ์สู่เป้าหมาย

ขณะที่ก้าวต่อไปของ “ผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม” จะดำเนินการผ่าน 7 กลยุทธ์ ได้แก่

  1. สร้างและยกระดับผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม (IBEs) ในอุตสาหกรรมเป้าหมายร่วมกับเครือข่ายตลอดห่วงโซ่อุปทาน
  2. ส่งเสริมนวัตกรรมแบบเปิดและทำให้ระบบนวัตกรรมไทยเปิดกว้างมากขึ้น 
  3. ส่งเสริมการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมร่วมกับมหาวิทยาลัยและอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค การพัฒนาย่านนวัตกรรม เมืองนวัตกรรม และระเบียงนวัตกรรมในภูมิภาค
  4. เป็นศูนย์กลางการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมที่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน 
  5. ส่งเสริมการตลาดนวัตกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศให้กับผลิตภัณฑ์และบริการของผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมในลักษณะของ Business Brotherhood
  6. สร้างความตระหนักและการรับรู้ความสำคัญของนวัตกรรมในทุกภาคส่วน
  7. พัฒนาองค์กรไปสู่องค์กรที่พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงและเติบโตอย่างยั่งยืน เน้นทำงานแบบ Cross Functional

พร้อมตั้งรับสถานการณ์

ทั้งนี้ การผลักดันไทยให้เป็นชาตินวัตกรรม เป็นเรื่องที่ทำเพียงหน่วยงานเดียวไม่ได้ และต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาทำงานในอนาคตด้วย

“ไม่ว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นอย่างไร หรือว่าใครจะมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวง อว. คนใหม่ อยากย้ำว่านวัตกรรมเป็นสิ่งที่มีความสำคัญค่อนข้างมาก NIA พร้อมที่จะทำงานร่วมกันกับทุกฝ่าย เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นชาตินวัตกรรม

และทำให้เรื่องของนวัตกรรมอยู่ในหัวใจของคนไทยและนักการเมืองทุกคนในส่วนของงานขับเคลื่อนนวัตกรรมก็จะยังดำเนินต่อไป แต่อาจล่าช้าในเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ระหว่างที่รอก็จำต้องเลือกใช้งบในด้านสำคัญๆ ก่อน”

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นของสภาวะโลกรวนที่เป็นเรื่องเร่งด่วนต้องแก้ไขประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ต้องตั้งรับสถานการณ์เอลนีโญที่อาจสร้างความเสียหายในทุกๆ มิติ NIA ซึ่งให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนานวัตกรรมและความยั่งยืน จึงกำหนดกลยุทธ์ในการส่งเสริมเทคโนโลยีแก้ไขสภาพปัญหาอากาศ (Climate Tech) ในปีนี้เป็นปีแรก